อย่า ‘ก่อหนี้’ จนเกินตัว...อันตรายมีมากกว่าที่คิด
หนึ่งในปัญหาที่ทาง "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)" เป็นห่วงนั่นก็คือ ‘หนี้ครัวเรือน' ที่ขยับเข้าใกล้ระดับ 80% ของ GDP แล้ว
นั่นไม่เพียงจะทำให้การหวังกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน ‘การบริโภค : C' ทำได้ยากยิ่ง ในขณะที่มีความเสี่ยงที่จะตามมาในเรื่องของ ‘หนี้เสีย' ที่อาจจะกระทบกับระบบเศรษฐกิจเป็นลูกโซ่ได้ในที่สุด
ที่ผ่านมาจึงเห็นสารพัดมาตรการจากทาง‘แบงก์ชาติ' ออกมาดูแลเรื่องสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นระยะๆ ล่าสุดก็คือแนวคิดการคุม "ภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (Debt Service Ratio :DSR)" ไม่ให้เกิน 70%
ซึ่งล่าสุด‘แบงก์ชาติ' ก็แถลงแล้วว่า...ยังไม่มีแผนที่จะบังคับใช้ในปีนี้ แต่นั่นก็คงไม่ใช่การ ‘ปล่อยผี' ให้คุณก่อหนี้กันจนเกินตัวแต่ประการใด ทีมงาน ‘Wealthythai' มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากฝากกันเช่นเคย
"บริหารหนี้"...อย่าให้เป็น ‘ปัญหา'
เรื่อง‘การออม' และ ‘การลงทุน' จะกลายเป็นเรื่องที่พูดไปก็สูญเปล่าทันที ถ้าคนยังไม่มี ‘เงินเก็บ' นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งถ้าเข้าไปดูตัวเลขบัญชีการลงทุนในสินทรัพย์การเงินไม่ว่าจะหุ้น หรือกองทุนรวม จะมีสัดส่วนไม่เกิน 5% ของประชากรทั้งประเทศ เพราะอาจจะมา ‘สะดุด' เอากับเรื่องง่ายๆ คือ ‘ไม่มีเงินเก็บ' หรือ ‘มีหนี้' ลำพังรายได้มาใช้จ่าย 2 เรื่องนี้ก็ไม่เหลือเก็บแล้ว จะเอาเงินที่ไหนไปออมหรือลงทุน
คนไม่มีหนี้...ถือเป็นลาภอันประเสริฐแต่คนที่‘มีหนี้' ก็คงต้อง ‘ใช้หนี้' จะหลุดจากวงจรหนี้ ก็ต้องตั้งใจและมีวินัยมาตั้งแต่เริ่มต้นในเรื่องของ ‘การใช้จ่าย' ที่เคยพูดถึงกันไปแล้วในครั้งก่อนๆ ว่า ถ้าให้ดี...อย่าก่อหนี้ให้เกิน 30-40% ของรายได้ แบบนี้...คุณก็ยังน่าจะมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ได้อย่างสบาย และน่าจะมีเงินเหลือเก็บไปคิดต่อยอดเรื่อง ‘การออม' หรือ ‘การลงทุน' ต่อไปได้
"แต่ถ้าก่อหนี้เกินตัวเงินเดือนออกใช้หนี้หมดหรือใช้หนี้ไม่พอต้องไปหมุนเงินจากบัตรอื่นหรือเงินกู้อื่นๆทั้งในระบบและนอกระบบมาใช้หนี้แบบนี้‘อันตราย' แล้ว ฉะนั้น ควรแก้ไขที่ต้นเหตุ คือ ‘ตัวเอง' อย่าใช้จ่ายเกินตัว ถ้าจะก่อหนี้ ก็ควรเป็น ‘หนี้ที่ดี' หรือ ก่อหนี้ไม่เกินความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเอง โดยไม่กระทบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันปกติ"
เมื่อดูภาพรวมแล้วเสมือนคนในประเทศคุมการใช้จ่ายตัวเองไม่ค่อยอยู่หนึ่งในแนวคิดจากทาง‘แบงก์ชาติ' ก็คือเรื่อง ‘DSR' นั้น ก็เป็นไปเพื่อดูแลเรื่อง ‘หนี้ภาคครัวเรือน' เป็นสำคัญ โดยโฟกัสไปที่เป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวด้านรายได้ ได้แก่
1. ‘กลุ่มเริ่มทำงาน (First Jobber)'
2. ‘กลุ่มเกษียณอายุ'
3. ‘กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือน'
"ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง หากมี ‘หนี้เกินตัว' อาจเป็นปัญหาได้ ทางแบงก์ชาติมีแนวคิดที่จะกำหนดให้ ‘DSR' ไม่ควรเกิน 70% (รวมทุกธนาคาร) หรือไม่เกิน 21,000 บาท และผู้กู้ควรมีเงินเหลือใช้จ่ายประมาณ 30% ของเงินเดือน หรือ 9,000 บาท ซึ่งปัจจุบัน DSR ยังเกิน 70% อยู่ รวมถึงยังมีความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้า เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ได้ตรวจสอบกับธนาคารอื่นก่อน ซึ่งอาจทำให้ยอกรวมของหนี้บุคคลมากกว่าระดับความสามารรถในการชำระหนี้ของบุคคลนั่นเอง"
1. ‘การกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณ DSR' ทั้งในส่วน ‘ภาระหนี้' และ ‘รายได้ของผู้กู้' ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน โดยล่าสุดได้มีข้อตกลงมาตรฐานกลาง DSR ร่วมกันแล้ว คาดว่าจะเริ่มรายงานข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางให้แบงก์ชาติได้ภายในไตรมาส 4/19 นี้
2. ‘การผลักดันให้สถาบันการเงินนำหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsiblelending)' ไปใช้ โดยลูกหนี้ต้องมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพหลังชำระหนี้แล้ว (Affordability)
"โดยแบงก์ชาติจะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ส่วนหนึ่งผ่านข้อมูล ‘DSR' ตามมาตรฐานกลางที่ธนาคารพาณิชย์รายงาน ซึ่งหากพบว่าสถานการณ์มีความเปราะบางมากขึ้น แบงก์ชาติอาจพิจารณาออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงิน กรอบการบังคับใช้และจังหวะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านต่อไปนั่นเอง"
แม้มาตรการจะเลื่อนออกไป แต่นั่นแทน ‘ความดีใจ' แต่คุณควร ‘ตระหนัก' ได้แล้วว่า...'หนี้เกินตัว' จะเป็นปัญหา ไม่ใช่เฉพาะ ‘ตัวคุณเอง' แต่อาจจะลุกลามไปถึงภาพของ ‘เศรษฐกิจ' โดยรวมได้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าคุณรักตัวเองและรักประเทศชาติ ก็ไม่ควรก่อหนี้ให้เกินตัวนั่นเอง
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น