เตือนใช้น้ำยาบ้วนปากหลังออกกำลังกายกระทบความดันโลหิต
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพลีมัธของสหราชอาณาจักร ร่วมกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบาร์เซโลนาของสเปน เผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดในวารสาร "การแพทย์และชีววิทยาอนุมูลอิสระ" ( Free Radical Biology and Medicine) โดยระบุว่าแบคทีเรียในช่องปากบางชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายคนเรา มีบทบาทสำคัญต่อการนำส่งออกซิเจนสู่กล้ามเนื้อลาย รวมทั้งควบคุมกลไกที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวจนความดันโลหิตลดต่ำลงหลังออกกำลังกายอีกด้วย
เพื่อพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างแบคทีเรียในช่องปาก กับกลไกควบคุมความดันโลหิตหลังออกกำลังกายที่ดีต่อสุขภาพดังกล่าว ทีมผู้วิจัยได้ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีสุขภาพแข็งแรง 23 คน โดยให้วิ่งบนสายพานเป็นเวลา 30 นาที ตามด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปากในทันทีหลังออกกำลังกายเสร็จ
ผลปรากฏว่าในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย กลุ่มที่ได้รับน้ำยาหลอกมีค่าสูงสุดของแรงดันโลหิต (systolic blood pressure) หรือความดันโลหิตตัวบนลดลงไปโดยเฉลี่ยราว 5.2 มิลลิเมตรปรอท ในขณะที่อีกกลุ่มมีค่าความดันโลหิตตัวบนลดลงจากช่วงออกกำลังกายเสร็จใหม่ ๆ เพียง 2.0 มิลลิเมตรปรอทเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันถึง 60%
นอกจากนี้ เมื่อถึงเวลาครบ 2 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย กลุ่มที่บ้วนปากด้วยน้ำยาหลอกยังคงมีความดันโลหิตในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพที่ได้จากการออกกำลังกายอยู่ต่อไป ในขณะที่อีกกลุ่มซึ่งใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีสัญญาณของความดันโลหิตลดต่ำในลักษณะดังกล่าว
ดร. เครก คัตเลอร์ หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยพลีมัธอธิบายว่า หลอดเลือดของคนเราจะขยายตัวขึ้นเมื่อออกกำลังกาย เนื่องจากมีการผลิตสารไนตริกออกไซด์ (NO) ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระออกมา และสารนี้จะสลายตัวกลายเป็นไนเตรต (NO3-) ในขณะที่ร่างกายเข้าสู่ช่วงพักฟื้นหลังจากนั้น
"แบคทีเรียบางชนิดในช่องปากมีบทบาทสำคัญมากต่อการเปลี่ยนไนเตรทในน้ำลายให้กลายเป็นไนไตรต์ (NO2-) โดยมันจะถูกกลืนและกลับเข้าสู่กระแสเลือด เพื่อคงการขยายตัวของหลอดเลือดให้ยาวนานออกไป ซึ่งเป็นผลดีต่อระดับความดันโลหิตอย่างมาก" ดร. คัตเลอร์กล่าว
"แต่การใช้น้ำยาบ้วนปากหลังการออกกำลังกายทันที จะไปกำจัดแบคทีเรียที่ดีและขัดขวางไม่ให้กระบวนการนี้เกิดขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็น"