ทีวีช่องเด็กปิดตัวหมด รายการเด็กหลายช่องไม่มี ที่มีก็น้อยมาก อวสานเด็กไทย?
หลายคนอาจจะย้อนคิดไปถึงอดีตที่ต้องมานั่งเฝ้าทีวีรอดูรายการเด็กที่ตัวเองชื่นชอบ เช่น สโมสรผึ้งน้อย, ทุ่งแสงตะวัน, เจ้าขุนทอง, ที่นี่มีเพื่อน, ปังปอนด์, จ๊ะจิงจา, IQ180 ฯลฯ
แต่ทำไมวันนี้ หน้าจอทีวี มีรายการเด็กและเยาวชนน้อยลงทุกปี ปรับผังใหม่ของช่องกันทีไร รายการเด็กหายหรือถูกลดเวลาลง ที่หนักสุดคือทีวีช่องเด็กต้องปิดตัวลง
ที่จริงรายการของเด็กเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของโทรทัศน์ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2498 เป็นเวลา 64 ปีมาแล้ว แต่ไม่เคยมียุคไหนเป็นยุคทองของรายการเด็กที่รุ่งโรจน์อย่างจริงจัง
การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล เมื่อปี 2556 ทำให้เกิดช่องทีวีสำหรับเด็กเยาวชนและครอบครัวถึง 3 ช่อง คือ ช่อง LOCA ช่อง 13 Family (13) และ MCOT Family (14) ปีนั้นเคยเป็นความหวังของผู้ผลิตรายการเด็กว่าจะได้มีโอกาสผลิตรายการสำหรับเด็ก ส่วนเด็กๆ และผู้ปกครองก็อาจจะดีใจว่าได้ดูรายการดีๆ สำหรับเด็กมากขึ้น
แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือช่อง LOCA จอดำไปก่อนตั้งแต่ปีแรก ส่วนอีก 2 ช่องที่เหลือขอคืนใบอนุญาตไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะรู้ตัวดีว่าอยู่ไปก็ไม่น่ารอด
เหตุผลสำคัญก็คือรายการเด็กมีคนดูเฉพาะกลุ่ม มีเรตติ้งน้อย โฆษณาไม่เข้า เจ้าของช่องไม่สามารถแบกต้นทุนได้ และตามมาด้วยคำพูดที่ว่า "วันนี้เด็กไม่ดูโทรทัศน์แล้ว"
แล้วทำไมสินค้าเด็กมากมาย ทั้งขนม เสื้อผ้า เครื่องใช้ต่างๆ ไม่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ในเมื่อรายการพวกนี้กำลังสื่อถึงกลุ่มลูกค้าโดยตรง
เอเยนซี่บางรายเคยให้ความเห็นว่าเม็ดเงินทางการตลาดถูกนำไปใช้กับกิจกรรมอีเวนต์ตามโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า หรือในสื่อออนไลน์ต่างๆ มากกว่าที่จะมาใช้กับโฆษณาทีวี ที่ถึงแม้บางรายการค่าโฆษณาไม่แพงมาก และรายการดีก็จริงแต่เมื่ออยู่ช่องที่ไม่ดังก็ไม่รู้จะเสี่ยงหว่านเม็ดเงินไปทำไม
สู้เอาไปใช้ในรายการอื่นๆ ที่กลุ่มเป้าหมายเป็นพ่อแม่ดูจะดีกว่า
ในขณะเดียวกันเพื่อเอาใจเรตติ้ง รูปแบบรายการก็ต้องเปลี่ยนไป หลายรายการในวันนี้ที่นักวิชาการไม่ยอมรับว่าเป็นรายการเด็กเพราะไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสาระที่เป็นประโยชน์กับเด็กในแต่ละช่วงวัยจริงๆ แต่กลับเน้นการแข่งขันเล่นเกมร้องเพลงเพื่อล่าเงินรางวัล
มีเรื่องเล่าอันน่าเจ็บปวดจาก วิวัฒน์ วงศ์ภัทรฐิติ หรือพี่ซุป "ซุปเปอร์จิ๋ว" ว่า ในปี 2540 ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งที่ส่งผลกระทบต่อรายการเด็กอย่างจัง หลายรายการสูญหายไปในช่วงเวลานั้น เพราะไม่มีผู้สนับสนุน มีเจ้าของแบรนด์คนหนึ่งบอกกับเขาว่า "ผมรู้ว่ารายการคุณดี แต่ถ้าผมจะทำบุญไปทำบุญกับวัดไม่ดีกว่าหรือ"
เช่นเดียวกับ "น้านิด" ภัทรจารีย์ แห่ง "สโมสรผึ้งน้อย" ที่วันนี้เธอแทนตัวเองว่า "ย่านิด" เล่าให้ฟังว่า สโมสรผึ้งน้อย เป็นรายการที่ได้รับกล่องมากกว่าเงิน ทำมา 16 ปี ขาดทุนเกือบทุกปี พอจะได้กำไรบ้างก็เอาไปลงทุนทำสตูดิโอเอง จนในที่สุดต้องยอมเลิกและปล่อยให้คนรุ่นหลังทำไป บนความเจ็บปวดเธอบอกว่าเป็นความสุขเพราะเชื่อว่าเด็กๆ แฟนรายการสโมสรผึ้งน้อยโตขึ้นมา เป็นเด็กมีคุณภาพ
กสทช. กำหนดให้มีรายการเด็ก 60 นาที/วัน แล้วทำกันหรือเปล่า
หลายคนคงไม่รู้ว่า ตามระเบียบของ กสทช. เมื่อปี 2556 กำหนดไว้ว่า ทีวีทุกช่องต้องมีช่วงของเด็กและเยาวชนในช่วงเวลา 16.00 น.-18.00 น. ของทุกวัน และเสาร์อาทิตย์ช่วง 08.00 น.-10.00 น. โดยให้มีอย่างน้อย 60 นาที/วัน
ผศ.ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในงาน "อวสานทีวีเด็กไทย ยอมแพ้ หรือไปต่อ" ว่า จากการสำรวจทีวีทุกช่องพบว่าในปี 2557 เวลาของรายการเด็กโดยเฉลี่ยแต่ละช่องมีเพียง 37 นาทีครึ่งต่อวัน บางช่องไม่มีเลยด้วยซ้ำ
ล่าสุดเคยสำรวจในช่วงต้นเดือนกันยายนถึงปลายเดือนสิงหาคม 62 พบว่า จาก 37 นาทีครึ่ง ลดเหลือเพียง 19 นาทีเท่านั้น
และในปี 2557 มีรายการสำหรับเด็กเล็ก 3-5 ปีเฉลี่ยแล้วแค่ 3 นาทีต่อวัน ผ่านมา 5 ปี เหลือเพียง 2 นาที
มีเพียงไทยพีบีเอสช่องทีวีที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐเท่านั้นที่ยังลงทุนกับรายการเด็กอย่างเต็มที่ ในเวลาประมาณ 1.30 ชม.ในวันธรรมดา และวันเสาร์-อาทิตย์ อีกวันละ 2 ชม. และทำได้ดีจนบางรายการได้รับรางวัลระดับเอเชีย และระดับโลก เช่น "รายการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย"
เด็กไทยไม่ดูทีวีไทยจริงหรือ
เมื่อเรตติ้งมีผลต่อเงินเม็ดเงินโฆษณาโอกาสที่เด็กไทยได้ดูรายการดีๆ น้อยลง ในขณะเดียวกันบางช่องก็เอาเวลาในรายการเด็กไปเป็นรายการอื่นๆ แทนโดยเฉพาะช่วงเย็นซึ่งเคยเป็นช่วงเวลาทองของเด็กหลังจากกลับจากโรงเรียน เช่น เป็นละครเย็น ละครรีรัน การแข่งขันร้องเพลง หรือ รายการทีวีช้อปปิ้ง
ทั้งๆ ที่ผลสำรวจจากไทยพีบีเอสเมือปี 2561 ยังพบว่าเด็กจำนวนมากยังคงรับชมสื่อโทรทัศน์เป็นหลักอยู่ โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย 3-5 ปี ที่รับสื่อโทรทัศน์เป็นอันดับหนึ่งถึง 30% รองลงมาเป็นหนังสือ 21% และยูทูบ 19%
ในขณะที่ภาพรวมของทั้งประเทศ สื่อโทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนไทยได้เป็นอันดับหนึ่ง เป็นสื่อที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และสามารถสร้างเป็นกิจกรรมร่วมในครอบครัวได้
และที่สำคัญทุกวันนี้หลายครอบครัวยังใช้ทีวีเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงลูก
ธุรกิจโทรทัศน์ทั่วโลกมีปัญหา แต่เลือกที่จะไม่ปิดช่องเด็ก
ปัจจุบันธุรกิจโทรทัศน์ทั่วโลกล้วนกำลังประสบปัญหาแต่หลายประเทศเลือกไม่ปิดช่องเด็ก แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม ยังมีช่องทีวีเด็กและเยาวชน เพราะเห็นความสำคัญของการลงทุนเพื่อพัฒนาเด็ก
บีบีซีเองเป็นตัวอย่างที่ดี แม้จะปิดโทรทัศน์บางช่องไป แต่ยังคงมีช่องเด็กอยู่ และยังเพิ่มงบประมาณให้มากขึ้นด้วย เพื่อพัฒนารายการเด็กให้สู้กับสื่ออื่นๆ ได้ และเพิ่มการพัฒนาสื่อออนไลน์ให้เป็นสื่อที่ใช้ประกอบเสริมเนื้อหาในรายการโทรทัศน์
ส่วนความหวังในการมีทีวีช่องเด็ก หรือแนวทางสนับสนุนรายการเด็กดีๆ ในช่องทีวีเดิม ด้วยวิธีการต่างๆ นอกจากการสนับสนุนจากภาครัฐแล้ว องค์ใหญ่ๆ ก็น่าจะมองการลงทุนในเรื่องของเด็ก เป็นการทำ CSR ช่วยเหลือสังคมประเทศชาติอย่างยั่งยืนอีกทางก็ได้