รู้หรือไม่? คนเราโกหกกันเกือบตลอดเวลา ที่สำคัญยังส่งผลดีต่อสังคมด้วย
การเป็นสัตว์สังคม การพูดโกหก หรืออย่างน้อยก็โกหกเพื่อทำให้ผู้อื่นรู้สึกดี อาจจะเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวคนเราไว้ด้วยกัน
แม้ว่าคนเราจับโกหกไม่เก่ง แต่มีเคล็ดลับง่าย ๆ บางอย่างที่จะช่วยให้คุณบอกได้ว่า ใครพูดโกหก
ลูซี คุก นักสัตววิทยา และนักเขียน ค้นพบว่า เหตุใดพฤติกรรมโกหกจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอาณาจักรสัตว์ และในหมู่มนุษย์
เราเลี่ยงพูดความจริงเพื่อรักษาความสงบลองนึกดูว่า ถ้าในการพูดคุยทุกครั้ง คนที่คุณคุยด้วย พูดทุกอย่างที่พวกเขาคิดเกี่ยวกับคุณหรือสิ่งที่คุณเลือกทำออกมา คงเป็นเรื่องที่ยากจะรับได้
ถึงเราจะไม่ชอบทรงผมใหม่ของใครสักคนอย่างมาก เราส่วนใหญ่ก็คงจะไม่มีใครพูดออกมา เพราะเรารู้ว่า การพูดความจริงออกมา จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี นี่เป็นหัวใจของการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์การโกหกหลอกลวง จึงเป็นกาวใจที่ยึดเหนี่ยวเราไว้ด้วยกัน เป็นน้ำมันที่หล่อลื่นฟันเฟืองของการอยู่ร่วมกัน และรักษาความสงบสุขของโลกใบนี้
มนุษย์ 1 ใน 3 ของโลก โกหกจริงจังทุกวัน
การสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า 5% ของประชากร อ้างว่า ไม่เคยโกหกเลย
ดูเหมือนคนเราไม่สามารถแม้จะบอกความจริงในการสำรวจที่ไม่ต้องเปิดเผยชื่อ...
นักโทษจับโกหกได้เก่งกว่าผู้พิพากษาเราคิดว่า เราจับโกหกคนอื่นเก่ง แต่เมื่อคุณลองให้คนสองคนเข้ามาในห้องแล็บ แล้วก็เปิดวิดีโอที่มีคนคนหนึ่งพูดโกหก แล้วก็มีคนอีกคนหนึ่งพูดความจริง แล้วถามผู้เข้าร่วมการทดลองว่า ใครพูดความจริง ใครพูดโกหก มีคนที่ตอบถูกเพียงราว 50% เท่านั้น รวมถึง ตำรวจ ทนายความ หรือแม้แต่ผู้พิพากษา
มีเพียงคนกลุ่มเดียวที่ตอบถูกมากกว่าคนกลุ่มอื่น นั่นก็คือ นักโทษ
จับโกหก ต้องใช้หู ไม่ดูด้วยตาสมองหลายส่วนของเรามีการประมวลผลการมองเห็น เราก็เลยมักจะมองหาสัญญาณต่าง ๆ เมื่อต้องจับโกหกใครสักคน
เขาขยับตัวไหมตอนที่นั่ง พวกเขามีท่าทางพิรุธอะไรหรือเปล่า มีการแสดงออกทางสีหน้าอย่างไร
อย่างไรก็ตาม คนเราสามารถควบคุมท่าทางส่วนใหญ่ได้ ทำให้คนที่โกหกเก่ง รู้ว่า คนอื่นกำลังพยายามจะจับผิดพวกเขาอย่างไร
แต่สัญญาณต่าง ๆ ที่เป็นด้านการใช้คำพูด เราพูดว่าอะไร พูดอย่างไร เป็นสิ่งที่คนที่ชอบโกหกควบคุมได้ยากกว่ามาก ดังนั้น ถ้าคุณให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และรู้ว่า ต้องมองหารูปแบบการพูดอย่างไร คุณก็จะเป็นคนที่จับโกหกได้เก่ง
โดยทั่วไป คนโกหก มักจะพูดน้อย ใช้เวลาในการตอบคำถามนาน และมักจะไม่เอาตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางอารมณ์ ดังนั้นมักจะไม่มีการใช้คำอย่างคำว่า "ฉัน" หรือ "ของฉัน"
ตรวจสอบว่า คุณเป็นคนที่โกหกเก่งหรือไม่ ด้วยการวาดตัวคิวใหญ่บนหน้าผากคำถามคือ คุณวาดหางตัวคิวไปทางตาข้างซ้ายหรือตาข้างขวาของคุณ พูดอีกอย่างคือ คุณกำลังวาดตัวคิวเพื่อให้คนที่มองมาที่หน้าผากคุณอ่านได้ หรือเขียนให้ตัวเองอ่านได้
ทฤษฎีนี้บอกว่า ถ้าคุณวาดหางตัวคิวไปที่ตาซ้าย เพื่อให้คนที่หันหน้ามาทางคุณอ่านได้ คุณมักจะเป็นคนที่คิดว่า คนอื่นจะมองคุณอย่างไร คุณจึงมักจะเป็นนักโกหกที่ดี
แต่ถ้าคุณเขียนหางตัวคิวไปทางตาขวา คุณกำลังมองโลกจากมุมมองของตัวเอง คุณมักจะซื่อสัตย์มากกว่า
ในโลกแห่งความเป็นจริง เต็มไปด้วยนักต้มตุ๋น คนลวงโลกเช่น ปลาหมึกตัวผู้ที่พรางตัวเป็นตัวเมีย เพื่อที่จะฝ่าด่านปลาหมึกตัวผู้ที่แข็งแกร่ง พวกมันจะส่งสัญญาณที่บ่งบอกเพศที่อยู่บริเวณด้านข้างของตัวให้ตัวเมียเห็น แต่จะซ่อนสัญญาณนี้ไม่ให้ตัวผู้ตัวอื่นเห็น
ส่วนในไก่ ไก่ตัวผู้จะล่อให้ไก่ตัวเมียวิ่งเข้ามาหา ด้วยการทำเสียงร้องเรียกให้มากินอาหาร แต่เมื่อไก่ตัวเมียวิ่งเข้ามา ไก่ตัวผู้ก็จะพยายามที่จะผสมพันธุ์กับไก่ตัวเมียแทน
นกทะเลมักจะอยู่กันเป็นคู่ตลอดชีวิต เรามักจะคิดว่า พวกมันคงจะซื่อสัตย์ต่อคู่ของตัวเอง
แต่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า แม้แต่นกที่จับคู่กันตลอดชีวิต อย่างเช่น นกกิลเลอมอต (guillemot นกทะเลสีดำขาวซึ่งมีจงอยปากยาวและแคบ) จะมีการแอบผสมพันธุ์กับนกที่ไม่ใช่คู่ของมัน ถ้าพวกมันคิดว่า การผสมพันธุ์นี้จะทำให้มีลูกนกที่แข็งแรงกว่า
มนุษย์เริ่มโกหกเมื่อไหร่"คุณนำเด็ก ๆ เข้ามาในห้อง แล้วก็บอกพวกเขาว่า 'เรากำลังนำของเล่นโปรดของพวกเขามาวางไว้ข้างหลัง แต่อย่าหันไปมองนะ' จากนั้นให้คุณเดินออกจากห้อง แล้วก็เตือนพวกเขาว่า อย่าหันไปมองของเล่นนะ" เขากล่าว
เมื่อคุณดูเด็ก ๆ ผ่านกล้องวงจรปิด จะพบว่า พวกเขาจะหันไปมองหาของเล่นเพียงไม่กี่นาทีหลังจากที่คุณออกมาจากห้อง
เมื่อคุณกลับเข้าไปในห้อง คุณลองถามพวกเขาว่า "เด็ก ๆ ได้หันไปมองของเล่นไหม"
"เมื่อคุณลองทดสอบกับเด็ก 3 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มเรียนรู้การใช้ภาษา คุณจะพบว่า 50% ของเด็ก จะโกหก" ริชาร์ด กล่าว
"แต่เด็กที่อายุระหว่าง 3-5 ขวบ ไม่มีใครสักคนที่พูดความจริงเลย"
เรามีประวัติศาสตร์ของการโกหกอย่างแยบยลมายาวนานในสัตว์ประเภทไพรเมตอย่าง ชิมแปนซี การอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่มีข้อได้เปรียบอย่างมาก พวกมันสามารถแบ่งความรับผิดชอบในการหาอาหารได้ แล้วก็ช่วยกันระวังผู้ล่า
แต่ถ้ามันแย่งอาหารกับชิมแปนซีตัวอื่น ก็อาจเกิดการต่อสู้กันจนได้รับบาดเจ็บได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งฝูงได้ ดังนั้น การแอบกินอาหารอาจจะเป็นเรื่องดีที่ต่อตัวของมันเองและชิมแปนซีตัวอื่น ๆ
การหลอกลวงที่แยบยลมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานในสัตว์ที่ต้องอยู่รวมกันเป็นสังคม
สังคมที่ก้าวหน้าที่มีการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว มักจะเป็นสังคมที่มีการโกหกหลอกลวงกัน ผลการศึกษาพบว่า สัตว์ที่ฉลาดมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีการโกหกหลอกลวงกันมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้น การเป็นคนพูดโกหก จึงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หากไม่มีการโกหก เราคงจะไม่มาถึงจุดนี้ มันมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของเราบทความนี้นำมาจากรายการ The Power of Deceit โดยลูซี คุก ทางวิทยุของบีบีซี
เครดิตแหล่งข้อมูล : bbc.com/thai