เรื่องหลอกเด็กจากปากพ่อแม่ สอนให้ลูกโกหกเก่งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
ทีมนักวิจัยด้านสังคมศาสตร์และจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (NTU) ตีพิมพ์งานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ลงในวารสาร "จิตวิทยาเด็กเชิงทดลอง" (Journal of Experimental Child Psychology) โดยระบุว่ายิ่งพ่อแม่พูดโกหกกับลูกบ่อยครั้งมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่ลูกจะมีนิสัยชอบโกหกเมื่อพวกเขาโตขึ้นเท่านั้น ทั้งยังอาจจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคมอีกด้วย
มีการทดสอบผู้ใหญ่ชาวสิงคโปร์ 379 คน โดยให้พวกเขาตอบคำถามและประเมินตนเองในแบบสอบถาม 3 ชุด โดยแบบสอบถามชุดแรกสำรวจถึงประสบการณ์ของกลุ่มตัวอย่างในวัยเด็กว่า เคยถูกผู้ใหญ่พูดลวงด้วยเรื่องโกหกบ่อยครั้งแค่ไหน อย่างไร
เพศไหน-วัยใด โกหกมากกว่ากัน?
พูดโกหกเป็นภาษาต่างประเทศทำได้ง่ายกว่าใช้ภาษาแม่
จิตวิทยา: ลักษณะนิสัยแบบไหนที่ทำให้คุณมักจะโกหก ฉ้อฉล หรือ ฆ่าคนได้
ส่วนแบบสอบถามชุดที่สองและสามเป็นการประเมินว่า กลุ่มตัวอย่างพูดโกหกกับพ่อแม่และคนรอบข้างบ่อยครั้งแค่ไหนในปัจจุบัน รวมทั้งสำรวจถึงประสบการณ์ที่เป็นอุปสรรคหรือความยากลำบากในการปรับตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวด้วย
ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างที่บอกว่าตนเองถูกหลอกด้วยเรื่องโกหกบ่อยครั้งในวัยเด็ก มีแนวโน้มมากกว่าคนอื่น ๆ ที่จะชอบพูดโกหกหรือพูดเกินจริงเสียเองเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แม้เรื่องโกหกที่ว่ามานั้นจะหมายรวมถึง "การโกหกสีขาว" ซึ่งเป็นการพูดเพื่อรักษาน้ำใจหรือเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้อื่นด้วยก็ตาม
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างที่โกหกบ่อยครั้งยังบอกว่า ตนเองมีปัญหาในการปรับตัวทางจิต-สังคม (Psychosocial adjustment) มากกว่าคนทั่วไปด้วย โดยมักมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมก้าวร้าว, เห็นแก่ตัว, รู้สึกด้อยและอับอาย,ไม่เคารพกฎหมาย หรือชอบข่มขู่คุกคามผู้อื่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เซตอห์ เปเป ผู้นำทีมวิจัยของ NTU อธิบายว่า "การเลี้ยงลูกด้วยคำโกหกนั้นง่าย เพราะไม่เปลืองเวลาอธิบายความจริงที่ซับซ้อนยุ่งยากให้เด็กฟัง"
"แต่ในขณะเดียวกัน พ่อแม่กลับพร่ำสอนให้ลูกเป็นคนซื่อสัตย์ ซึ่งเท่ากับส่งสัญญาณที่ขัดแย้งกันไปสู่ลูก จนในที่สุดความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวพ่อแม่จะหมดไป เหลือไว้เพียงการเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้ลูกเลียนแบบเท่านั้น"
"ผลการวิจัยของเราชี้ว่า การที่พ่อแม่ผู้ปกครองโกหกหรือสร้างเรื่องหลอกเด็กนั้น ส่งผลกระทบทางลบต่อลูกหลานได้อย่างคาดไม่ถึงในระยะยาว ซึ่งในกรณีนี้ยังมีทางเลือกอื่นที่ช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมเด็กได้ดีกว่า เช่น ยอมรับและแสดงความเห็นใจอารมณ์ความต้องการของเด็ก ก่อนจะอธิบายให้ข้อมูลและทางเลือกต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งจะช่วยนำทางให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้เองอย่างยั่งยืน" ผศ. เปเป กล่าว