ตำนานท้าวแสนปม : โรคร้ายที่ไม่ติดต่อ
เป็นหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์บทละครของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นระหว่างที่เสด็จกลับจากทอดพระเนตร "พระเจดีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช" ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โดยทรงเริ่มต้นพระราชนิพนธ์ที่ตำบลบ้านโข้ง สุพรรณบุรี ต่อเนื่องเรื่อยมาระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินกลับ จนกระทั่งพระราชนิพนธ์แล้วเสร็จเมื่อเสด็จกลับมาถึงที่พระราชวังสนามจันทร์ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๖ และได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ในปีเดียวกัน
โดยมีอยู่หลายเวอร์ชั่น โดยในที่นี้จะขอยกเอาเวอร์ชั่นในวัยเด็กที่คุณพ่อเคยเล่าให้ฟังมาให้อ่านกันนะครับ
ในตำนานเดิมเรื่องท้าวแสนปม ได้กล่าวถึงต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองว่า มีเจ้าเชื้อไทยองค์หนึ่งเชื้อสายมาจากพระเจ้าพรหม ซึ่งตีได้อาณาเขตลานนาไทยจากพวกขอม อพยพลงมาทางใต้เมื่อ พ.ศ. ๑๗๓๑ เพราะมหาราชเมืองสะเทิมยกทัพมาตีพระนคร ได้มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ เมืองแปบ (เป็นเมืองร้างในเขตจังหวัดกำแพงเพชร) เรียกว่า เมืองไตรตรึงส์ แล้วเสวยราชย์สืบวงศ์มา ๓ ชั่ว ถึงรัชกาลพระเจ้าไตรตรึงส์ที่ ๓ มีชายทุคตะเข็ญใจคนหนึ่งรูปร่างวิกลเป็นปมเปาไปทั่วทั้งตัว จนเรียกกันว่า แสนปม ทำไร่เลี้ยงชีพอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งใต้เมืองไตรตรึงส์ นายแสนปมนั้นมักไปถ่ายปัสสาวะที่โคนต้นมะเขือในไร่ของตนเนือง ๆ ครั้นมะเขือออกผล เผอิญมีผู้นำไปส่งทำเครื่องเสวยที่ในวัง ราชธิดาองค์หนึ่งเสวยมะเขือนั้นทรงครรภ์ขึ้นมาโดยมิได้มีวี่แววว่าเคยคบชู้ สู่ชายแล้วคลอดบุตรเป็นชาย พระเจ้าไตรตรึงส์ใครจะรู้ว่าใครเป็นบิดาของบุตรนั้น พอกุมารเจริญถึงขนาดรู้ความก็ประกาศสั่งให้บรรดาชายในเมืองไตรตรึงส์หาของมา ถวายกุมารราชนัดดา และทรงอธิษฐานว่า ถ้ากุมารเป็นบุตรของผู้ใด ขอให้รับของของผู้นั้น นายแสนปมถูกเรียกเข้าไปด้วย ไม่มีอะไรจะถวาย มีแต่ข้าวสุกก้อนหนึ่งถือไป แต่กุมารเลือกรับเอาข้าวสุกก้อนนั้นเห็นประจักษ์ตาแก่คนทั้งหลาย พระเจ้าไตรตรึงส์ได้รับความอัปยศอดสู
จึงเอากุมารหลานชายกับราชธิดาที่เป้นมารดาลงแพปล่อย ลอยน้ำไปเสียด้วยกัน กับนายแสนปม แต่เมื่อแพลอยไปถึงไร่ของนายแสนปม พระอินทร์ได้จำแลงเป็นวานรเอากลองสารพัดนึกลงมาให้นายแสนปมลุกหนึ่ง บอกว่าถ้าปรารถนาสิ่งใดก็ให้ตีกลองนั้นจะ สำเร็จได้ดังปรารถนา นายแสนปมตีกลองครั้งแรกปรารถนาจะให้ปมเปาที่ตัวหายไปก็หายหมด กลับมีรูปร่างโฉมสง่างาม ตีครั้งที่สองปรารถนาจะให้มีบ้านเมืองสำหรับครอบครอง ก็เกิดนครขึ้น (จารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ เรียกว่า เมืองคนที ขณะนี้เรียกว่า บ้านโคน ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร) ตีครั้งที่สามปรารถนาเปลทองคำสำหรับให้กุมารนอนก็เกิดเปลทองคำขึ้นมาดัง ปรารถนา เพราะกุมรมีบุญได้นอนเปลทองคำของนฤมิตผิดกับคนอื่น จึงได้นามว่า พระเจ้าอู่ทอง ส่วนนายแสนปมได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน ครองเมืองที่เนรมิตนั้น ขนานนามเมืองว่า เทพนคร เมื่อพระเจ้าไชยศิริเชียงแสนสิ้นพระชนม์พระเจ้าอู่ทองรัชทายาทได้ครองราชย์ สืบต่อมา....
"นายแสนปมได้ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน ครองเมืองที่เนรมิต"
"ราชธิดาผู้มีรูปโฉมงดงามได้เสด็จมาประพาสสวน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นมะเขือมีผลโตงดงามก็คิดอยากจะเสวย ตาแสนปมจึงเด็ดลูกมะเขือมาถวายให้แก่ราชธิดา"
พี่เหนือ(หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มบ้านท้าวแสนปม) บอกกับผมว่า ถ้าจะถ่ายภาพคนที่เป็นโรคท้าวแสนปม ให้ลองมาศึกษาก่อนไหมว่าคนกลุ่มนี้เขามีความเป็นอยู่อะไรยังไง จะได้เข้าใจมากขึ้น ผมจึงลองไปเป็นจิตอาสาวันท้าวแสนปมที่ทางกลุ่มจัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา
พอได้ไปพบเจอ พี่ๆน้องๆที่เป็นโรคท้าวแสนปม รวมถึงได้พูดกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็น ทำให้ทัศนคติของผมเปลี่ยนไปมากพอสมควร และได้รู้ว่า
#โรคท้าวแสนปมเป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมไม่ใช่โรคติดต่อ #และมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า NF (Neurofibromatosis)
ในตอนแรกผมก็ขอยอมรับเลยตรงๆว่าก็มีแหยงๆจากภาพจำที่เคยพบเห็นคนที่เป็นท้าวแสนปมที่จะมีปุ่มๆทั่วตัว แต่หลังจากได้ไปร่วมเป็นจิตอาสา สิ่งที่ที่ผมได้รับรู้มาก็คือ กลุ่มคนที่เป็นโรคท้าวแสนปม ยังไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐเท่าที่ควร อาจจะเรียกว่าถูกทอดทิ้งเลยก็ว่าได้ เพราะขาดทั้งในเรื่องสวัสดิการการรักษาที่อาจจะยังไม่เพียงพอ ทั้งยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ข้อมูลต่างๆ การดูแล ให้คำปรึกษากับผู้ที่เป็นโรคหรือมีคนในครอบครัวเป็น รวมถึงสิทธิประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สำคัญ เพราะเอาแค่สภาวะจิตใจของคนที่เป็นโรคก็ว่าแย่แล้ว การที่ไม่มีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือยิ่งทำให้พวกเขาโดดเดี่ยว
ในวันนี้ผมได้เห็นถึงความตั้งใจของ พี่กวางและพี่เหนือผู้ก่อตั้งเพจ "บ้านท้าวแสนปม" ที่อยากจะช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคท้าวแสนปมได้มีเพื่อนที่คอยให้กำลังใจมีปัญหาอะไรหรืออยากได้รับความช่วยเหลืออะไรก็มาคุยกันในกลุ่ม ผมว่ามันเป็นอะไรที่สุดยอดจริงๆ เพราะจะไม่มีใครโดดเดี่ยวอีกต่อไป....
ภาพเซ็ทสุดท้าย ผมขอสื่อในเชิงสัญลักษณ์ว่า การไม่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคท้าวแสนปมว่าไม่ใช่โรคติดต่อนั่นถือว่าไม่ผิด ก็เปรียบได้ดั่งสีขาว แต่การที่เรารู้สึกรังเกียจไปก่อนแล้วมันก็คือการไปทำให้เขาต้องแปดเปื้อนเลอะะเทอะด้วยความไม่รู้ของเรานั่นเองครับ สายตา คำนินทา การแสดงออก เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้คนที่เป็นโรคนี้อยู่ในสังคมได้ยาก และมันไม่ควรจะเกิดขึ้นครับ