ไขข้อข้องใจ ตกลงกินไข่ดีหรือไม่ดีต่อสุขภาพ
การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการบริโภคไข่และโรคหัวใจและหลอดเลือด เผยแพร่เมื่อปี 2018 ระบุว่าจากการศึกษาชาวจีนอายุระหว่าง 30 ถึง 79 ปีกว่า 500,000 คน พบว่าการบริโภคไข่ทุกวันสามารถลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดถึง 18 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ การศึกษาโดยคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เผยแพร่เมื่อปี 1999 ที่ใช้เวลาติดตามเก็บข้อมูลเป็นเวลา 14 ปี จากผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาจำนวนราว 117,000 คน อายุตั้งแต่ 34 ถึง 75 ปี พบว่าการบริโภคไข่วันละ 1 ฟอง ไม่มีผลต่อโรคหัวใจหรืออาการเส้นโลหิตในสมองแตก ต่อมาการศึกษาวิจัยโดยหลายผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ ได้เผยแพร่บทสรุปในปี 2016 ว่าไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคไข่และปริมาณความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และการบริโภคไข่วันละ 1 ฟองยังอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเส้นโลหิตในสมองแตกลงถึง 12 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาล่าสุด เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้วิเคราะห์ข้อมูลของงานวิจัย 6 ชิ้นที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมเกือบ 30,000 คน พบว่าการบริโภคไข่ที่มากเกินไป เนื่องจากมีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง ทำให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่สรุปตัวเลขที่เฉลี่ยวันละ 1 ฟองเป็นปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคือปริมาณไข่แดงที่บริโภคต่างหาก เพราะไข่แดงขนาดกลาง 1 ฟองมีปริมาณคอเลสเตอรอลถึง 186 กรัม เท่ากับ 62 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน แต่ไข่แดงก็เป็นส่วนที่มีสารอาหารมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวิตามินดี และโคลีน ซึ่งโคลีนเป็นสารอาหารที่มีผลต่อการพัฒนาสมอง การทำงานของตับ แถมยังช่วยลดคอเลสเตอรอลและป้องกันเส้นเลือดอุดตัน