สัพเพเหระและข้อสันนิษฐาน คำว่า “รถพุ่มพวง” มาจากไหน?
ก็ยังมีผู้กล่าวว่าคำว่า "รถพุ่มพวง" เป็นเพราะพ่อค้าแม่ค้านิยมเปิดเพลงของนักร้องลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" เมื่อมีผู้กล่าวถึงที่มาเช่นนี้ ผู้เขียนจึงพยายามค้นคำตอบโดยอ้างอิงจากข้อเท็จจริงจากงานวิจัยให้ได้มากที่สุด จนพบเรื่องราวที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง
ผู้เขียนพบว่าช่วงที่มีรถพุ่มพวงเกิดขึ้นและเริ่มแพร่หลายนั้นเป็นยุคที่ธุรกิจจัดสรรที่ดิน "บูม" ในสมัยรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ราว พ.ศ. 2531-34 มีปัจจัย 2 ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิด "รถพุ่มพวง" ปัจจัยที่ 1 เมื่อมีการตัดถนนสายใหม่ ๆ ไปสู่ชานเมือง ผู้ประกอบการก็จะเริ่มเข้าไปจับจองที่ดินเพื่อขึ้นโครงการจัดสรร มีแคมป์คนงาน แต่แรงงานเหล่านี้ไม่มีที่ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค รถพุ่มพวงจึงเป็นตลาดสดและโชห่วยที่วิ่งเร่ไปขายสินค้าให้กับแรงงานเหล่านี้ ปัจจัยที่ 2 การรุกเข้ามาของร้านสะดวกซื้อใน พ.ศ. 2532 จนทำให้เกิดปัญหากับร้านโชห่วยดั้งเดิม ผู้ขายจำนวนหนึ่งต้องปรับตัวขนานใหญ่ บางส่วนหันไปขายของในลักษณะรถเร่
เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลและยังไม่มีชุมชนไปเกิดขึ้นมากนัก การขายสินค้าแรก ๆ ของรถเร่เหล่านี้จำเป็นต้องมี "โทรโข่ง" ประกาศให้คนในละแวกใกล้เคียงได้รู้ว่า ตลาดสดได้เคลื่อนที่มาหาพวกท่านแล้ว และนอกจากเสียงประกาศแล้ว จะมีอะไรดีไปกว่าการเปิด "เพลงลูกทุ่ง" ควบคู่ไปด้วย นักร้องที่เป็นที่นิยมฝ่ายชายย่อมปรากฏชื่อ ยอดรัก สลักใจ หรือ สายัณห์ สัญญา ส่วนฝ่ายหญิงก็ย่อมปรากฏชื่อของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ หรือ สุนารี ราชสีมา
แต่พบว่ามีหนังสือและเทปรวมเพลงฮิตของพุ่มพวงขายดีอย่างมากเมื่อพุ่มพวงเสียชีวิตใน พ.ศ. 2535 ตอนนั้นกระแสเพลงพุ่มพวงกระฮึ่มไปทั่วประเทศ จึงไม่แปลกถ้าคนส่วนใหญ่จะได้ยินเพลงพุ่มพวงจากรถขายกับข้าวในช่วงนั้นมากเป็นพิเศษ จนเหมาเอาว่าถ้าเป็นรถขายกับข้าวต้องเปิดเพลงพุ่มพวง เมื่อได้ยินเพลงก็แสดงว่ารถขายกับข้าวมาแล้ว และคำว่า "พุ่มพวง" ก็ฟังเป็นคำชาวบ้าน ๆ ประกอบกับที่เห็นของที่ขายการห้อยเป็นพุ่มเป็นพวงเลยลงตัวพอเหมาะพอดีและ พ.ศ. 2535 รัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน ประกาศลดภาษีรถยนต์ ทำให้รถกระบะมีราคาถูกลงประมาณ 30% มีรถมือสองถูกขายออกมาอย่างมากมายเพื่อซื้อรถใหม่ที่ราคาถูกกว่า จึงน่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้รถพุ่มพวงเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะรถกระบะมือสองที่มีราคาเหลือไม่ถึงหลักแสนบาท
และเมื่อเศรษฐกิจของไทยถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง คนส่วนหนึ่งที่ตกงานก็เริ่มมีการ "เปิดท้ายขายของ" การนำเอาสินค้าเร่ไปขายให้ผู้บริโภคจึงทำให้มีทั้ง รถขายกับข้าว รถเร่ขายของเบ็ดเตล็ด รถขายผลไม้ และสินค้าอะไรก็ได้ที่เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อที่ห่างไกลจากสาธารณูปโภคสาธารณูปการขั้นพื้นฐาน
ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตบางประการที่ผู้เขียนเชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ธุรกิจรถขายกับข้าวหรือรถพุ่มพวงกลายมาเป็นวิถีชาวบ้านส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างทุกวันนี้ ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่ก็ไม่ว่ากันเพียงแต่ผู้เขียนลองรวบรวมให้เห็นพัฒนาการเรื่องต่าง ๆ ที่มีผู้กล่าวถึงเกี่ยวกับรถพุ่มพวงเผื่อเป็นบันทึกไว้ให้ผู้สนใจที่ต้องการค้นคว้ากันในโอกาสต่อไป