6 แง่มุมน่าประทับใจ “พระสันตะปาปาฟรังซิส” ผู้เปิดกว้างและเข้าใจความเป็นมนุษย์


6 แง่มุมน่าประทับใจ “พระสันตะปาปาฟรังซิส” ผู้เปิดกว้างและเข้าใจความเป็นมนุษย์

นักบุญเปโตร (Saint Peter)" ผู้เป็นหนึ่งในอัครสาวกทั้ง 12 องค์ของพระเยซู โดยพระองค์ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 32

หน้าที่หลักของพระองค์ในสมัยนั้นคือการเผยแผ่ศาสนาไปยังที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ตำนานเล่าว่า ขณะที่มีการเบียดเบียนศาสนาในกรุงโรม นักบุญเปโตรได้รับคำเตือนจากผู้หวังดีให้หลบหนีไป เมื่อท่านออกมาพ้นกำแพงเมืองก็ทรงเห็นนิมิตเป็นพระเยซูทรงแบกไม้กางเขนก้าวสวนทางมาพระองค์จึงได้สติ หันกลับไปยังกรุงโรม ยอมให้ผู้เบียดเบียนศาสนาจับไปตรึงกางเขน แต่ด้วยสำนึกว่าตนเป็นผู้ทรยศ ไม่สมควรที่จะตายบนไม้กางเขนเยี่ยงพระเยซูผู้เป็นอาจารย์ จึงร้องขอต่อเพชฌฆาตให้ปักไม้กางเขนโดยให้ศีรษะลงดิน เท้าชี้ขึ้นฟ้า ศพของนักบุญเปโตรถูกฝังไว้ที่เนินวาติกัน ที่ต่อมาได้มีสร้างพระวิหารใหญ่คร่อมเอาไว้ และตั้งชื่อว่า "มหาวิหารนักบุญเปโตร (Basilica of Saint Peter)" เพื่อเป็นเกียรติประวัติแด่พระองค์มาจนถึงทุกวันนี้ในฐานะมหาวิหารเอกในสันตะปาปา

1,981 ปีผ่านไป ในปี ค.ศ. 2013 พระคาร์ดินัล ฮอร์เก มาริโอ แบร์โกลิโอ (Jorge Mario Bergoglio) จากประเทศอาร์เจนตินา ได้รับการเลือกจากบรรดาพระคาร์ดินัลผู้มีสิทธิออกเสียงทั้ง 115 องค์ทั่วโลกให้ดำรงตำแหน่งเป็นพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 ถัดจากสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ทรงสละสมณศักดิ์ไปเมื่อต้นปีเดียวกัน

พระคาร์ดินัล ฮอร์เก เลือกใช้นาม "ฟรังซิส" เพราะมีที่มาจากชื่อของนักบุญฟรังซิสแห่งเมืองอัสซีซี (Francis of Assisi) ในประเทศอิตาลี ผู้ถือความสมถะ มีความสนใจ และเอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส ส่งเสริมสันติภาพ และรักษ์สิ่งแวดล้อม อันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของพระองค์

หลายคนคงจะพอได้ยินได้ฟังเรื่องราวน่าประทับใจของสมเด็จพระสันตะปาปาองค์นี้มาบ้างไม่มากก็น้อย ในโอกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสจะเสด็จเยือนประเทศไทยในระหว่างวันที่ 20-23 พฤศจิกายนนี้ "ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ" จึงได้รวบรวมเรื่องราว 6 แง่มุมน่าประทับใจของพระองค์มานำเสนอดังต่อไปนี้

 





6 แง่มุมน่าประทับใจ “พระสันตะปาปาฟรังซิส” ผู้เปิดกว้างและเข้าใจความเป็นมนุษย์

พระสันตะปาปาผู้มีความสมถะ

การใช้ชีวิตอย่างสมถะของพระสันตะปาปาฟรังซิสเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยกย่องชื่นชมมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งพระสันตะปาปา ย้อนไปในช่วงที่ยังทรงเป็นพระอัครสังฆราช (Archbishop) ในกรุงบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินาบ้านเกิดของพระองค์ ที่พำนักของพระองค์เป็นเพียงแฟลตที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ในชีวิตประจำวันพระองค์ทรงโดยสารรถไฟใต้ดิน และรถประจำทางเหมือนประชาชนทั่วไป ทรงเลือกบินชั้นประหยัดเมื่อมีกำหนดการเสด็จไปยังกรุงโรม อีกทั้งยังทรงเลือกสวมชุดบาทหลวงสีดำธรรมดา แทนที่จะเป็นชุดสีแดงตามตำแหน่งพระคาร์ดินัลอันเป็นสมณศักดิ์ชั้นสูงรองจากพระสันตะปาปา หรือแม้กระทั่งการทำอาหารรับประทานเองทุกวัน โดยไม่ต้องมีแม่ครัวหรือแม่บ้านมาคอยรับใช้

แม้พระองค์ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาแล้ว ก็ยังคงรักษาจุดยืนในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างน่าประทับใจ โดยปกติ พระสันตะปาปาจะมีสถานที่พำนักส่วนพระองค์ในพระราชวังพระสันตะปาปา แต่หลังจากที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ พระองค์ทรงตัดสินพระทัยพำนักอยู่ในบ้านพักพระคาร์ดินัล "หอพักซางตามาร์ธา (Saint Martha"s House)" ที่ทรงเคยพักเมื่อมาประชุมในฐานะพระคาร์ดินัล โดยไม่ย้ายเข้าไปอยู่ในที่พำนักสำหรับพระสันตะปาปาในพระราชวังวาติกัน ด้วยความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตประจำวันเยี่ยงปุถุชน และเป็นที่ง่ายต่อการเข้าถึง

พระสันตะปาปาผู้เอาใจใส่ผู้ด้อยโอกาส

พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือและผู้ที่สังคมไม่เหลียวแลอย่างสุดความสามารถ เช่นในวันพฤหัสฯศักดิ์สิทธิ์ (Holy Thursday) ของทุกปี ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระเยซู คือการรับประทานอาหารค่ำมื้อสุดท้าย (The Last Supper) กับบรรดาอัครสาวก พระเยซูทรงล้างเท้าให้พวกเขาก่อนที่จะทรงถูกจับกุมและได้รับการพิพากษาให้ประหารชีวิตโดยการตรึงกางเขน ในวันดังกล่าวพระสันตะปาปาฟรังซิสจะเสด็จถวายพิธีมิสซาในเรือนจำ สถานดูแลหรือศูนย์ผู้ลี้ภัย และยังล้างเท้าให้กับผู้ป่วยและผู้ต้องขัง รวมถึงบรรดาผู้อพยพทั้งชายและหญิง โดยไม่เกี่ยงว่าคนคนนั้นจะนับถือศาสนาใด

นอกจากนั้น พระสันตะปาปาฟรังซิสยังสั่งการให้ "สมณะกระทรวงเพื่อพิธีกรรมและศีลศักดิ์สิทธิ์แห่งวาติกัน" ออกประกาศว่า บาทหลวงสามารถล้างเท้าทั้งชายและหญิงได้ในพิธีมิสซาวันพฤหัสฯศักดิ์สิทธิ์ แทนที่ข้อกำหนดเดิมที่จะสามารถล้างเท้าผู้ชาย (อันเป็นตัวแทนเหล่าอัครสาวกของพระเยซู) ได้เท่านั้น

หรืออย่างในปี ค.ศ. 2013 เรื่องราวของ นายวินิโซ ริวา (Vinicio Riva) ในวัย 53 ปี ผู้มีความทุกข์ทรมานจากโรคติดต่อทางพันธุกรรมที่มีชื่อว่าท้าวแสนปม โรคที่ทำให้ผิวหนังของเขาเต็มไปด้วยตุ่มปมเต็มตัว เป็นที่รังเกียจของผู้คนในสังคม ในเดือนพฤศจิกายนปีนั้นเอง เขาได้รับโอกาสในการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ทันทีที่พบ พระองค์ไม่ลังเลที่จะดำเนินตรงมายังเขา และทรงดึงเขามาสวมกอดอย่างอบอุ่น เป็นภาพที่สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้นพระองค์ทรงตั้งวันสากลเพื่อคนจน (World Day of the Poor) โดยนอกจากจะจัดพิธีมิสซาเพื่อผู้ยากไร้ที่มหาวิหารนักบุญเปโตรแล้ว ยังทรงจัดให้มีการแจกจ่ายอาหารแก่ผู้ยากไร้โดยทั่วไป รวมถึงจัดรถรักษาพยาบาลเคลื่อนที่สำหรับผู้ด้อยโอกาสตลอดสัปดาห์ ซึ่งทั้งศริสตจักรในประเทศอินเดีย โปแลนด์ และแคนาดา ก็ตอบรับด้วยการกระทำในลักษณะเดียวกัน




6 แง่มุมน่าประทับใจ “พระสันตะปาปาฟรังซิส” ผู้เปิดกว้างและเข้าใจความเป็นมนุษย์

พระสันตะปาปาผู้ใฝ่สันติ

ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณ พระองค์ทรงเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมการสวดภาวนาเพื่อสันติภาพในซีเรีย ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 2013 ในวันนั้น มีผู้คนหลั่งไหลมาเข้าร่วมกว่า 100,000 คน ทรงกล่าวต่อฝูงชนว่า ตราบใดที่คนเรานึกถึงแต่ตัวเองและปล่อยให้ตัวเองลุ่มหลงในอำนาจ ประตูในจิตใจเราก็จะเปิดต้อนรับความรุนแรง ความเมินเฉยต่อเพื่อนมนุษย์ อันจะเป็นการนำพาไปสู่ความขัดแย้ง

อีกเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้โลกต้องตะลึง เมื่อต้นปี ค.ศ. 2019 พระสันตะปาปาฟรังซิสในวัย 82 ปี ผู้มีปัญหาจากอาการเจ็บขาเรื้อรัง ทรงก้มลงจูบรองเท้าของคู่ขัดแย้งสงครามกลางเมืองซูดานใต้ และรองประธานาธิบดีซูดานใต้อีก 3 คน รวมเป็น 5 คน ในระหว่างการหารือที่นครรัฐวาติกัน พระองค์ทรงร้องขอต่อซัลวา คีร์ ประธานาธิบดีซูดานใต้ และ รีค มาชาร์ อดีตรองประธานาธิบดีที่ผันตัวไปเป็นผู้นำกลุ่มกบฏ ทรงกล่าวต่อพวกเขาว่า "โปรดช่วยกันสร้างสันติเถิด"

พระสันตะปาปาผู้รักษ์สิ่งแวดล้อม

ความใส่ใจในความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมโลกเป็นอีกหนึ่งพันธกิจหลักของพระองค์ ในฐานะผู้ใช้นามแห่งนักบุญฟรังซิสแห่งเมืองอัสซีซี ในปี ค.ศ. 2015 พระสันตะปาปา

ฟรังซิสมีพระดำรัสเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พระองค์ทรงแสดงสมณสาสน์ความยาว 184 หน้า (สามารถอ่านสาสน์ฉบับเต็มได้ที่ w2.vatican.va) มีหัวเรื่องว่า "LAUDATO SI" หมายความว่า "ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" ในบางช่วงบางตอนของสาสน์นี้ระบุว่า หากแนวโน้มของสังคมในปัจจุบันยังคงดำเนินต่อไป เราทุกคนจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลร้ายต่อระบบนิเวศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

พระองค์ยังทรงตำหนิบรรดาผู้นำประเทศที่ไม่สามารถรักษาข้อตกลงทางด้านสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการหาพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในปัจจุบัน พระองค์ยังทรงระบุอย่างมีความหวังไว้ในสาสน์อีกด้วยว่า มนุษย์เรา ถึงแม้ว่าจะทำผิดพลาดมาสักแค่ไหน แต่พวกเรายังสามารถยืนหยัด เลือกหาหนทางใหม่ และตระหนักว่าอะไรเป็นสิ่งอยู่ในครรลองแห่งการเริ่มต้นใหม่ได้

พระสันตะปาปากับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์

พระสันตะปาปาฟรังซิสแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในแง่ของหลักการทางวิทยาศาสตร์ พระองค์กล่าวแก่สมาชิกในสภาวิทยาศาสตร์แห่งองค์พระสันตะปาปา (The Pontifical Academy of Sciences) ว่า พระองค์ทรงให้การยอมรับทฤษฎีการระเบิดครั้งใหญ่ (Big Bang Theory) และการวิวัฒนาการ แม้ว่าที่ผ่านมา ทั้งสองทฤษฎีจะมีความขัดแย้งกับเหตุการณ์การสร้างโลกขององค์พระผู้เป็นเจ้าในพระคัมภีร์ แต่พระองค์ตรัสว่า ในปัจจุบัน เรายึดถือตามทฤษฎีการระเบิดครั้งใหญ่ และการวิวัฒนาการ ซึ่งสามารถไปด้วยกันกับความเชื่อในพระคัมภีร์ได้ แสดงให้เห็นถึงความไม่ยึดติด และเข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์และความเชื่ออย่างสอดคล้อง

พระสันตะปาปาผู้เปิดกว้าง

ในปี ค.ศ. 2013 อังเดร ทอร์เนลลี (Andrea Tornielli) นักข่าวชาวอิตาเลียน เคยสัมภาษณ์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสในฐานะผู้รับฟังคำสารภาพบาป (confessor) ว่าพระองค์จะทำอย่างไร หากมีคนมาสารภาพบาป "รักร่วมเพศ" (ในพระคัมภีร์ระบุว่าการเล่นรักร่วมเพศเป็นความบาป) พระองค์ทรงตอบว่า "พ่อเป็นใคร ถึงจะตัดสินคนเหล่านั้นได้"

พระองค์ทรงอธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็นคำพูดดังกล่าวไว้ในหนังสือ "The Name of God is Mercy" ว่า "ถ้าเกย์คนหนึ่งกำลังเสาะแสวงหาองค์พระผู้เป็นเจ้า และมีเจตนำนงที่ดี พ่อเป็นใคร ถึงจะตัดสินว่าคนเหล่านั้นเป็นคนบาปได้" พระองค์ทรงแสดงและให้ความสำคัญต่อคำสอนที่ว่าทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและไม่ถูกกีดกัน

"พ่อดีใจที่เราสามารถพูดถึง "เพศทางเลือก" กันได้อย่างเปิดอก ทุกคนล้วนมีความสมบูรณ์ในตัวเอง และมีเกียรติ คนเราไม่ควรถูกตัดสินเพียงเพราะว่าเขามีรสนิยมทางเพศเช่นไร อย่าได้ลืมว่าพระเจ้าทรงรักทุกสิ่งสร้างของพระองค์ และเราทุกคนล้วนถูกกำหนดให้ได้รับความรักจากพระองค์"

ทัศนคติในเชิงนี้ของพระองค์เป็นที่พูดถึงในกลุ่มคนรักร่วมเพศ นับเป็นสัญญาณที่ดีของศาสนจักรคาทอลิกที่มีต่อคนกลุ่มนี้

จากทั้ง 6 แง่มุม จะเห็นว่ามีหลายเรื่องราวอันน่าทึ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเป็นการกระทำของบุคคลที่มีตำแหน่งเป็นถึงประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน และผู้นำทางศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลก ซึ่งในความน่าทึ่งเหล่านั้น ไม่ได้เป็นความสุดโต่งไปในทิศทางใดของพระองค์ แต่เป็นเพราะความเข้าใจในชีวิต และความเป็นไปของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างเรียบง่ายของพระองค์นี่เอง จึงไม่แปลกที่พระองค์จะทรงได้รับความรักและศรัทธาจากผู้คนทั่วโลกในวงกว้าง ถึงขั้นได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2013




6 แง่มุมน่าประทับใจ “พระสันตะปาปาฟรังซิส” ผู้เปิดกว้างและเข้าใจความเป็นมนุษย์

เครดิตแหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ





เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์