เปิดความหมาย ความสำคัญ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค


เปิดความหมาย ความสำคัญ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

วันที่ 12 ธันวาคมนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งในครั้งนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งแรกในรอบ 93 ปี นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2468 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2469)

เนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีองค์ประกอบหลายส่วน ดังนั้นเพื่อไม่ให้สับสนและเพื่อความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน เมื่อพูดถึงการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เราจะต้องแบ่งออกเป็นส่วน ๆ คือ เรือพระราชพิธี, ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค, การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร และการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและมีความหมายคาบเกี่ยวกัน แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว

เรือพระราชพิธี

หมายถึง เรือพระราชพิธีเป็นพระราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ และเรือที่เกี่ยวข้องกับงานพิธีกรรมของราชสำนัก ใช้สำหรับการเสด็จทางชลมารค (ทางน้ำ) เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ เช่น การสงคราม การเสด็จพระราชดำเนินและการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ และเป็นเรือที่ใช้ในการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

หลักฐานประวัติศาสตร์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่กล่าวถึงเรือพระราชพิธี คือ หลักฐานสมัยอยุธยา โดยเฉพาะกฎหมายตราสามดวงที่ตราขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งมีการกล่าวถึงเรือพระราชพิธีไว้อย่างน้อยสามส่วน คือ 1.พระราชพิธีที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค 2.เรือพระราชพิธีในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยพระราชพิธี 12 เดือน โดยเฉพาะในเดือนอาสยุช หรือพระราชพิธีเดือน 11 และ 3.เรือพระราชพิธีในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง

กฎมณเฑียรบาลเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นใน พ.ศ. 1901 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) กษัตริย์พระองค์แรกของอยุธยา ดังนั้น กฎมณเฑียรบาลจึงน่าจะเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของสมัยอยุธยาที่กล่าวถึงเรือพระราชพิธี




ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค คือ ขบวนเรือพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยการยกกองทัพไปทางเรือ เป็นสัญลักษณ์แห่งแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร แสดงถึงบุญญาธิการ พระราชอำนาจ และบารมีอันสูงส่งของสมเด็จพระมหากษัตริย์ ส่วนในเวลาว่างศึกสงคราม พระมหากษัตริย์มักโปรดใช้ขบวนเรือ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ เช่น ถวายผ้าพระกฐิน หรือเสด็จฯนมัสการพระพุทธบาท โดยถือว่าเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพลไปด้วย

เหตุที่ต้องมีการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องมาจากในสมัยโบราณเมื่อยังใช้เรือรบในแม่น้ำเป็นกำลังสำคัญในการรบนั้น พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินโดยชลวิถีไปในการพระราชพิธีอันมุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นถึงแสนยานุภาพภายใต้พระบารมี เช่น การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือจะต้องเสด็จพระราชดำเนินรอนแรมไปไกลอาจมีศัตรูจู่โจมกลางทางได้ จึงต้องจัดขบวนเสด็จพระราชดำเนินเป็นขบวนพยุหยาตราในทำนองการเสด็จกรีธาทัพเรือ ต่อมาในภายหลังได้มีการจัดขบวนพยุหยาตราในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินด้วย

ในปัจจุบัน ขบวนพยุหยาตราทางชลมารคแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างหนึ่งของไทยทางด้านศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม และสถาบันพระมหากษัตริย์

 

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร คือ การที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวังไปตามเส้นทางที่กำหนด ซึ่งก็จะเป็นเส้นทางที่ผ่านชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีของพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ ซึ่งการแสดงพระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมกระบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ด้วยกระบวนพยุหยาตราอย่างใหญ่คล้ายกับการยกกองทัพเพื่อทำสงคราม ใช้จำนวนคนมาก ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ๆ ด้วย

 

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ความหมายของพระราชพิธีนี้ก็คือ การนำความหมายของสองคำที่กล่าวถึงไปแล้วมารวมกัน ได้แก่ คำว่า "การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร" และ "ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค" คือการที่พระมหากษัตริย์เสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง โดยเป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำไปตามแม่น้ำลำคลองตามเส้นทางที่กำหนด ซึ่งก็จะเป็นเส้นทางที่ผ่านชุมชน เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีของพระมหากษัตริย์ และเพื่อเป็นการประกาศพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่อาณาประชาราษฎร์ ในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯให้จัดขบวนพยุหยาตราในทำนองเสด็จกรีธาทัพ ซึ่งนอกจากเพื่อประกาศความเกรียงไกรของกองทัพเรือแล้ว ในขณะเดียวกัน การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ก็เป็นการอารักขาถวายความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ด้วย

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 หลังจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โปรดเกล้าฯให้จัดการเลียบพระนครโดยทางชลมารค เพื่อให้ราษฎรได้ชื่นชมพระบรมโพธิสมภาร และจะได้เป็นพระเกียรติยศสืบไปภายหน้า

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 มีเรือพระราชพิธีเข้าร่วมขบวนทั้งหมด 52 ลำ ใช้กำลังพลประจำเรือรวม 2,399 นาย เป็นกำลังพลฝีพาย 2,200 นาย และกำลังพลที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง และนักดนตรีประจำเรือ 199 นาย

การจัดรูปขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นการจัดรูปขบวนตามโบราณราชประเพณี โดยแบ่งออกเป็น 5 ริ้ว 3 สาย ดังนี้

1.ริ้วสายกลาง เป็นเรือสายสำคัญ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ นอกจากนี้ มีเรืออีเหลือง (เรือกลองนอก) เรือแตงโม (เรือกลองใน) ซึ่งเป็นเรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ พร้อมด้วยเรือตำรวจ 3 ลำ และเรือแซง 1 ลำ รวมเป็นจำนวน 10 ลำ

2.ริ้วสายใน ขนาบข้างสายเรือพระที่นั่ง ประกอบด้วย เรือทองขวานฟ้า และเรือทองบ้าบิ่น เป็นเรือประตูหน้า เรือเสือทะยานชลและเรือเสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ปิดท้ายสายในด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเรือเอกไชยหลาวทอง ซึ่งเป็นเรือคู่ชัก รวมเป็นจำนวน 14 ลำ

3.ริ้วสายนอก ประกอบด้วย เรือดั้ง 22 ลำ และเรือแซง 6 ลำ แบ่งเป็นริ้วละ 14 ลำ รวมเป็นจำนวน 28 ลำ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประทับเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์


เปิดความหมาย ความสำคัญ การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

เครดิตแหล่งข้อมูล : prachachat


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์