ยาเม็ดคุมกำเนิดอาจทำให้สมองส่วนไฮโปทาลามัสเล็กลง
ศ. นพ. ไมเคิล ลิปตัน ผู้นำทีมวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (AECOM) ระบุว่า จากการตรวจสอบโครงสร้างของสมองในกลุ่มตัวอย่างหญิงที่มีสุขภาพดีจำนวน 50 ราย ด้วยวิธีสแกน MRI หรือการสร้างภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พบว่าในจำนวนดังกล่าว 21 รายมีสมองส่วนไฮโปทาลามัสขนาดเล็กกว่าคนอื่นโดยเฉลี่ย 6% ซึ่งเป็นความแตกต่างในระดับที่เขาถือว่า "มาก" โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่เป็นประจำ"แม้การทดลองนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาขั้นต้น แต่ก็ชี้ว่ายาเม็ดคุมกำเนิดมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของสมอง ซึ่งควรจะตรวจสอบกันต่อไปว่า มันส่งผลกระทบทางลบต่อการทำงานของสมองด้วยหรือไม่" ศ. นพ. ลิปตันกล่าว
ทีมผู้วิจัยยังพบว่า ขนาดของสมองส่วนไฮโปทาลามัสที่เล็กลง มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการมีอารมณ์โกรธเกรี้ยวโมโหร้ายมากขึ้นในหมู่กลุ่มทดลอง ทั้งยังมีแนวโน้มว่าจะสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าด้วย แต่ทีมผู้วิจัยไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของไฮโปทาลามัสกับความสามารถในการคิดและเรียนรู้แต่อย่างใด
"กลุ่มตัวอย่างมีจำนวนน้อยเกินไป ทั้งไม่มีรายงานความผิดปกติทางสมอง อารมณ์ หรือร่างกายในชีวิตประจำวันจากผู้ใช้ยาตัวจริงเข้ามาช่วยยืนยันด้วย ทั้งที่เราน่าจะพบกรณีดังว่าแล้ว หากยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้กันมายาวนานส่งผลร้ายจริง" ดร. อเล็กซานเดอร์ ลิชเก นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยไกรฟ์สวัลด์ในเยอรมนีกล่าว
ผู้หญิงราว 100 ล้านคนทั่วโลกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในการวางแผนครอบครัว หรือใช้เป็นยาฮอร์โมนรักษาอาการปวดประจำเดือน, สิว, เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และโรคถุงน้ำในรังไข่ ซึ่งที่ผ่านมามีงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของยาเม็ดคุมกำเนิดต่อสมองและระบบต่าง ๆ ของร่างกายหลายชิ้น แต่ยังไม่พบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากพอจะชี้ได้ว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นอันตราย