เปิดข้อสงสัย!! เหตุใดคนญี่ปุ่นฉลองคริสต์มาสด้วยไก่ทอดเคเอฟซี


เปิดข้อสงสัย!! เหตุใดคนญี่ปุ่นฉลองคริสต์มาสด้วยไก่ทอดเคเอฟซี

ในวันคริสต์มาสของทุกปี นายเรียวเฮ อันโดะ และครอบครัวมีธรรมเนียมที่จะรวมตัวกันพร้อมหน้า ตามแบบที่พ่อของเขาเคยทำสมัยที่เขายังเด็ก และตอนนี้ลูกชาย 2 คนของเรียวเฮ ก็จะได้ล้วงมือเข้าไปในถังสีแดง-ขาว แล้วหยิบเอาไก่ทอดชิ้นดีที่สุดไปรับประทาน

มันคือ "วันคริสต์มาสแสนสุขสันต์กับเคเอฟซี" ของครอบครัวอันโดะ นี่อาจดูเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนประเทศอื่น แต่สำหรับบ้านอันโดะและชาวญี่ปุ่นอีกหลายล้านคน การเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสจะไม่สมบูรณ์ได้เลยหากปราศจากไก่ทอดเคนทักกี (Kentucky Fried Chicken) หรือที่รู้จักกันดีในนามของ เคเอฟซี

คาดว่าในแต่ละปีจะมีชาวญี่ปุ่นราว 3.6 ล้านครอบครัว ฉลองเทศกาลแห่งความสุขนี้ด้วยเมนูจากเครือร้านอาหารจานด่วนสัญชาติอเมริกันนี้




เปิดข้อสงสัย!! เหตุใดคนญี่ปุ่นฉลองคริสต์มาสด้วยไก่ทอดเคเอฟซี

"ลูก ๆ ของผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่เราฉลองคริสต์มาสกันแบบนี้" เรียวเฮ วัย 40 ปีเศษ พนักงานแผนกการตลาดที่บริษัทเครื่องกีฬาแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียวกล่าว

แต่การฉลองวันคริสต์มาสด้วยเคเอฟซีก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเดินเข้าไปสั่งซื้อที่ร้านแบบปกติ เพราะธันวาคมถือเป็นเดือนที่ยุ่งที่สุดสำหรับเคเอฟซีในญี่ปุ่น โดยในช่วงคริสต์มาสบางสาขาอาจมียอดขายรายวันเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าจากช่วงอื่น ๆ ของปี

ด้วยเหตุนี้หากครอบครัวใดต้องการเสิร์ฟเคเอฟซีเป็นอาหารค่ำในวันคริสต์มาสก็จะต้องสั่งจองล่วงหน้าหลายสัปดาห์ ไม่เช่นนั้นอาจต้องต่อคิวซื้อยาวเหยียด ซึ่งบางครั้งอาจต้องรอคิวนานหลายชั่วโมง

ต้นกำเนิดของธรรมเนียมปฏิบัตินี้เป็นผลมาจากแผนการประชาสัมพันธ์อันชาญฉลาดที่หากธุรกิจใดต้องการเจาะตลาดญี่ปุ่นควรต้องศึกษาไว้เป็นแบบอย่าง




เปิดข้อสงสัย!! เหตุใดคนญี่ปุ่นฉลองคริสต์มาสด้วยไก่ทอดเคเอฟซี

"เคนทักกีสำหรับคริสต์มาส"

น.ส.โมโตอิชิ นาคาตานิ โฆษกของเคเอฟซีญี่ปุ่น ระบุว่า ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ถือกำเนิดจากนายทาเคชิ โอกาวาระ ผู้จัดการร้านเคเอฟซีสาขาแรกในญี่ปุ่น

หลังจากเปิดให้บริการในปี 1970 ได้ไม่นาน โอกาวาระ ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ตื่นขึ้นมาในช่วงกลางดึกของคืนหนึ่ง แล้วจดสิ่งที่เขาเพิ่งจะฝันถึง นั่นคือความคิดเรื่อง "ปาร์ตี้ บาร์เรล" หรือ ไก่ทอดใส่ถังสำหรับแบ่งกันรับประทานได้หลายคน เพื่อจำหน่ายในช่วงคริสต์มาส

แนวคิดนี้เข้าไปอยู่ในความฝันของโอกาวาระ หลังจากเขาได้ยินลูกค้าชาวต่างชาติพูดคุยกันในร้านว่าพวกเขาคิดถึงการรับประทานไก่งวงในช่วงเทศกาลคริสต์มาสมากเพียงใด

ด้วยเหตุนี้เขาจึงเกิดความคิดว่า ไก่ทอดสำหรับอาหารค่ำวันคริสต์มาสน่าจะใช้เป็นเมนูทดแทนได้เป็นอย่างดี แล้วจึงเริ่มทำการตลาด "ปาร์ตี้ บาร์เรล" ขึ้นเป็นเมนูฉลองเทศกาลนี้

ในปี 1974 เคเอฟซีได้เริ่มทำแผนส่งเสริมการตลาดสินค้าตัวนี้ไปทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่า "เคนทักกีสำหรับคริสต์มาส" (Kentucky for Christmas)

แผนดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับโอกาวาระ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในองค์กร และได้ขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของเคเอฟซีญี่ปุ่น ระหว่างปี 1984 - 2002

รองศาสตราจารย์ยูนัส รุกกา ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจาก Emlyon Business School วิทยาลัยธุรกิจชื่อดังในเมืองลียงของฝรั่งเศส ที่ศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า เมนู "ปาร์ตี้ บาร์เรล"สำหรับเทศกาลคริสต์มาสของเคเอฟซีญี่ปุ่นได้กลายเป็นปรากฏการณ์ฮิตระดับชาติในทันที

 



"มันช่วยเติมเต็มความว่างเปล่า" เขาบอก "ในญี่ปุ่นไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลคริสต์มาสมาก่อน และเคเอฟซีก็เข้ามา แล้วบอกว่านี่คือสิ่งที่คุณควรทำในวันคริสต์มาส"

ภาพโฆษณาอาหารชุดสำหรับวันคริสต์มาสของเคเอฟซีแสดงภาพครอบครัวชาวญี่ปุ่นแสนสุขสันต์กำลังนั่งล้อมรอบถังไก่ทอด ซึ่งเมนูนี้ไม่ได้มีแค่ส่วนอกกับสะโพกไก่ แต่ยังมีขนมเค้ก และไวน์

ในปีนี้เมนูอาหารชุดในเทศกาลคริสต์มาสของเคเอฟซี มีตั้งแต่ชุดไก่ทอดราคา 2,900 เยน (ราว 800 บาท) ไปจนถึงชุดไก่อบทั้งตัว พร้อมเครื่องเคียง ราคา 5,890 เยน (ราว 1,600 บาท)

เคเอฟซีระบุว่า ยอดขายเมนูเหล่านี้มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของยอดขายรายปีของเคเอฟซีในญี่ปุ่น

เทศกาลนี้ยังช่วยให้ร้านเคเอฟซีได้แต่งตัวให้หุ่นผู้พันแซนเดอส์ สัญลักษณ์ของร้านในชุดซานตาคลอสด้วย ซึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญแก่ผู้อาวุโส ทำให้หุ่นผู้พันแซนเดอส์ในชุดสีแดงกลายเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลแห่งความสุขนี้




เปิดข้อสงสัย!! เหตุใดคนญี่ปุ่นฉลองคริสต์มาสด้วยไก่ทอดเคเอฟซี

เทศกาลนี้ช่วยให้เคเอฟซีได้จับหุ่นผู้พันแซนเดอส์แต่งตัวในชุดซานตาคลอส
"เรื่องแปลกที่สุดที่เคยได้ยินมา"
ปรากฏการณ์นี้มีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น และดูเหมือนจะเป็นเรื่องแปลกประหลาดในประเทศอื่น รวมถึงในสหรัฐฯ ประเทศต้นกำเนิดของร้านอาหารจานด่วนยี่ห้อนี้

นายเควิน กิลเลสปี ผู้บริหารร้านเคเอฟซีในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย บอกว่าแนวคิดนี้ไม่น่าจะขายได้ในสหรัฐ ฯ

"เคเอฟซีในวันคริสต์มาส เป็นหนึ่งในเรื่องที่แปลกที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมา...ถ้าคุณซื้อไก่ทอดไปเป็นอาหารค่ำในวันคริสต์มาส พูดตรง ๆ นะ ผมจะโกรธคุณมาก"

นี่ไม่ใช่เพราะมันเป็นไก่ทอด กิลเลสปีบอกว่าความคิดเรื่องการเอาอาหารจานด่วนไปเลี้ยงในงานฉลองคริสต์มาส "จะถูกมองว่าเป็นเรื่องหยาบคายสำหรับคนส่วนใหญ่"




เปิดข้อสงสัย!! เหตุใดคนญี่ปุ่นฉลองคริสต์มาสด้วยไก่ทอดเคเอฟซี

ในญี่ปุ่นมีประชากรเพียง 1% เท่านั้นที่นับถือศาสนาคริสต์ ดังนั้นเทศกาลคริสต์มาสจึงไม่ใช่เทศกาลสำคัญทางราชการ รองศาสตราจารย์รุกกากล่าว ดังนั้นความคิดเรื่องที่สมาชิกครอบครัวจะมารวมตัวกันทำหมูแฮมหรือไก่งวงอบจึงไม่ใช่ความคิดที่ดีในทางปฏิบัติ

รองศาสตราจารย์รุกกาชี้ว่า นี่เป็นอีกสัญลักษณ์ของโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งวัฒนธรรมของผู้บริโภคได้แผ่ไปสู่ประเทศอื่น และมักถูกตีความในทางที่ผิด "มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีอีเกียทั่วทุกมุมโลก และแผนการตลาดเรื่องเคเอฟซีสำหรับคริสต์มาส ก็ทำให้กระแสบริโภคนิยมกลายเป็นเทศกาลพิเศษ"

สำหรับอันโดะ เขาวางแผนจะซื้อเคเอฟซีให้ลูก ๆ กินในวันคริสต์มาสปีนี้

"มันคือสัญลักษณ์การรวมตัวกันของครอบครัว...มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับไก่ทอด แต่เป็นการที่ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตาโดยที่มีไก่ทอดเป็นส่วนหนึ่งในนั้น"



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์