จีนได้บทเรียนอะไรบ้างจากโรคซาร์สระบาดเมื่อ 17 ปีก่อน


จีนได้บทเรียนอะไรบ้างจากโรคซาร์สระบาดเมื่อ 17 ปีก่อน

โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือ โรคซาร์ส (Severe Acute Respiratory Syndrome - SARS) ได้แพร่ระบาดจนมีผู้ติดเชื้อกว่า 8,000 คน และทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 800 คน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ ซึ่งมีหมอรวมอยู่ด้วยนั้น มีอาการป่วยคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ก่อนที่จะลุกลามไปมีอาการปอดบวมรุนแรงภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

โรคซาร์ส ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส ได้แพร่ระบาดไปใน 26 ประเทศ องค์การอนามัยโลกวิพากษ์วิจารณ์จีนประเทศศูนย์กลางของการระบาดที่ปกปิดขนาดและความร้ายแรงของการระบาดที่เกิดขึ้น



17 ปีต่อมา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ จึงรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับโรคซาร์สขึ้นมาอีกครั้ง อีกทั้งยังทำให้ทั่วโลกจับจ้องและตรวจสอบรัฐบาลจีนถึงการรับมือและจัดการกับโรคระบาดที่กำลังลุกลามขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว

หลังจากมีการพบผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อรายแรก ๆ ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ปี 2019 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการจีนได้ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาดต่าง ๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค เช่น การสั่งกักกันโรคประชาชนนับล้านคนในหลายเมือง แต่การรับมือเหล่านี้เพียงพอแล้วหรือไม่ และจีนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคซาร์สเมื่อปี 2003

บทเรียนที่ 1 : ทำงานร่วมกับประเทศอื่น
โรคซาร์ส ถือเป็นความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับจีน ทั้งในฐานะวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข และวิกฤตการณ์ทางการเมือง

องค์การอนามัยโลกได้รับแจ้งเรื่องการพบผู้ป่วยที่มีอาการปอดบวมรุนแรงผิดปกติทางภาคใต้ของจีนเป็นครั้งแรกในเดือน ก.พ.ปี 2003 เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของจีนระบุว่ามีผู้ล้มป่วยด้วยอาการนี้กว่า 300 ราย

แม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาในช่วงแรก แต่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นคนอื่น ๆ กลับพยายามปกปิดและลดทอนเรื่องความอันตราย รวมทั้งระบุว่าสามารถควบคุมโรคปริศนานี้เอาไว้ได้แล้ว

บรรดาผู้ศึกษาเรื่องการรับมือโรคซาร์สระบาดของทางการจีนระบุว่า หลังจากนั้นไม่นานข่าวคราวของโรคระบาดปริศนาดังกล่าวได้เงียบหายไปจากความสนใจของสังคม

การศึกษาและตรวจสอบในเวลาต่อมาพบข้อมูลว่า การติดเชื้อรายแรก ๆ เกิดขึ้นในมณฑลกวางตุ้งเมื่อเดือน พ.ย.ปี 2002 ทว่ากว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงเรื่องขนาดและความรุนแรงของวิกฤตโรคซาร์สในจีนนั้น เวลาก็ได้ล่วงเลยมาแล้วหลายเดือน



ในเดือน เม.ย.นายแพทย์ เจี่ยง เยี่ยนหย่ง ได้แจ้งต่อสื่อมวลชนต่างประเทศว่ารัฐบาลจีนพยายามปกปิดถึงภัยคุกคามจากโรคซาร์สกันขนานใหญ่

จากนั้นทางการจีนได้ออกข้อแนะนำแก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ขณะที่ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนได้ออกแถลงการณ์ขออภัยต่อการระบาดที่เกิดขึ้น "หน่วยงานด้านการแพทย์ของเราและสื่อมวลชนประสบปัญหาด้านการประสานงานกัน" นายหลี่ หลี่หมิง กล่าวในการแถลงข่าว

การต่อสู้กับโรคซาร์สเป็นเรื่องซับซ้อนเพราะขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่ามีการแพร่ระบาดได้อย่างไร ด้านองค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนทั่วโลกครั้งแรกในวันที่ 12 มี.ค.ปี 2003 หลังจากคนไข้รายหนึ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงฮานอย ของเวียดนาม และทำให้บุคลากรการแพทย์หลายคนต้องล้มป่วย ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขฮ่องกงได้ยืนยันการแพร่ระบาดของโรคในระบบทางเดินหายใจในหมู่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลของตน

"นี่เป็นครั้งแรกที่เชื้อไวรัสโคโรนาได้รับความสนใจในฐานะเชื้อต้นตอที่ก่อให้เกิดโรคที่อาจแพร่ระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้" ศาสตราจารย์ เดวิด เฮย์แมนน์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อขององค์การอนามัยโลกในขณะนั้นให้สัมภาษณ์กับบีบีซี

"ดังนั้นในช่วงแรกจึงไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร และไม่มีใครมองเชื้อไวรัสโคโรนาแบบเดียวกับในปัจจุบัน"

ศ.เฮย์แมนน์ ระบุว่า ดูเหมือนว่าทางการจีนจะใช้มาตรการเชิงรุกมากขึ้นในการระบาดครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งรวมถึงการให้ข้อมูลต่อองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกได้ชื่นชมการรับมือของจีน



บทเรียนที่ 2 : อย่าปิดข่าว
การไร้ความโปร่งใสเรื่องการระบาดของโรคซาร์ส สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของจีนในเวทีโลก และยังทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ซึ่งรวมถึง ศ.เฮย์แมนน์ เน้นย้ำว่าความโปร่งใสคือปัจจัยสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสต่าง ๆ โดยเฉพาะเชื้อชนิดใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีใครรู้จัก

เมื่อมีการใช้มาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อที่เหมาะสม โรคซาร์สก็ถูกควบคุมได้ภายในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งความสำเร็จครั้งนี้มาจากการแบ่งปันข้อมูลสาธารณสุขระหว่างองค์การอนามัยโลกกับทางการท้องถิ่นของจีนเมื่อมีความวิตกกังวลเรื่องโรคซาร์สเกิดขึ้น

ส่วนในฮ่องกง ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการระบาดของโรคซาร์ส ประชาชนต่างปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การสวมหน้ากากอนามัยไปในที่สาธารณะกลายเป็นเรื่องธรรมดา และการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีผู้สัมผัสมากและเป็นจุดเสี่ยงของการแพร่เชื้อโรคนั้นก็ได้รับการทำความสะอาดทุกชั่วโมง ขณะที่สื่อท้องถิ่นต่างรายงานยอดผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตลงอย่างต่อเนื่องทุกวัน

เฮลิเออร์ เฉิง ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เติบโตมาในฮ่องกง ยังจำได้ดีถึงตอนที่เธอและเพื่อนร่วมชั้นเรียนต้องเข้ารับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายเป็นประจำทุกวัน

ทางการได้สั่งปิดทำการสถานศึกษาเป็นเวลาหลายวัน แม้จะอยู่ในช่วงใกล้สอบก็ตาม ขณะที่ในโทรทัศน์ก็มีการเผยแพร่โฆษณาที่คอยเตือนใจให้ผู้คนล้างมือ และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ



ประสบการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับพนักงานบีบีซีอีกคนที่เคยทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยในจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคซาร์ส เธอยังจำได้ว่าจะต้องพึ่งพาข่าวลือและข่าวจากสื่อต่างประเทศเป็นหลัก เพราะทางการจีนให้ข้อมูลแก่ประชาชนน้อยมาก

นอกจากนี้เธอยังจำได้ถึงการเผยแพร่ข้อมูลเท็จมากมาย เช่น การเอาน้ำส้มสายชูใส่ถ้วยตั้งไฟในห้องเรียนจะช่วยฆ่าเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศได้ เป็นต้น

"ฉันจำได้ว่ารู้สึกวิตกกังวล แต่กลับได้รับข้อมูลเพียงน้อยนิด"

เธอเล่าว่าในขณะนั้นมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องชัดเจนน้อยมาก แม้ว่าจะมีการกักตัวนักศึกษาเพื่อกักกันโรค และมีการปิดการเข้าออกมหาวิทยาลัยของเธอก็ตาม

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการจีนพยายามแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความโปร่งใสมากขึ้นในเหตุการณ์การแพร่ระบาดครั้งล่าสุดนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระบุว่า การต่อสู้กับเชื้อไวรัสอยู่ในขั้น "วิกฤตอย่างยิ่ง" อีกทั้งมีการประกาศเตือนประชาชนไม่ให้ปกปิดเรื่องการติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนได้เพิ่มความเข้มงวดการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคซาร์ส นักวิทยาศาสตร์นานาชาติบางคนประเมินว่าตัวเลขแท้จริงของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อาจสูงกว่ายอดที่ทางการจีนยืนยัน

นายสตีฟ ซาง ผู้อำนวยการ สถาบันจีนโซแอส (SOAS China Institute) แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า เราเริ่มทราบข่าวลือเกี่ยวกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่นหลายสัปดาห์ก่อน ที่จะมีการยืนยันการพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ซึ่งเจ้าหน้าที่ทางการท้องถิ่นน่าจะรู้สึกกลัวที่จะเป็นผู้ออกมาแจ้งเตือนเรื่องนี้ด้วยตนเอง

"ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญต่อภาพลักษณ์ของจีนในระดับนานาชาติมากกว่าบรรดาผู้นำจีนในอดีต และเขาก็รวบอำนาจมาไว้ที่ตนเองมากกว่าผู้นำคนก่อนหน้าเขา...ด้วยเหตุนี้อะไรก็ตามที่อาจส่งผลเชิงลบต่อภาพลักษณ์ระดับนานาชาติของจีนจึงกลายเป็นประเด็นที่อ่อนไหว" นายซาง กล่าว

นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียในจีนยังถูกควบคุมอย่างเข้มงวด หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า แฮชแท็ก #WuhanSARS ได้ถูกปิดกั้นในประเทศจีน อีกทั้งตำรวจยังได้สอบปากคำประชาชน 8 คนเกี่ยวกับการแพร่ "ข่าวลือ" เรื่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่ทางออนไลน์



บทเรียนที่ 3 : ยกระดับการรับมือทางการแพทย์
การระบาดของโรคซาร์ส ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการแพทย์ของจีน โดยมีการเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขหลังจากนั้น

ในอดีต เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องรายงานการพบโรคระบาดด้วยการกรอกข้อมูลลงในบัตรแล้วส่งบัตรทางไปรษณีย์ หรือส่งแฟกซ์ไปยังสำนักงานกลาง แต่หลังจากเกิดโรคซาร์สระบาด รัฐบาลจีนได้พัฒนาระบบออนไลน์ที่เชื่อมโยงส่วนกลางกับคลินิกและโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อช่วยให้สถานพยาบาลเหล่านี้สามารถรายงานการพบโรคระบาดได้แบบเรียลไทม์

"จีนได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่เกิดโรคซาร์ส ซึ่งรวมถึงหน่วยเฝ้าระวังและตรวจสอบฉุกเฉินแบบเรียลไทม์สำหรับโรคซาร์ส ซึ่งช่วยให้สามารถระบุการติดเชื้อรายใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว" น.ส.ไรนา แม็คอินไทร์ หัวหน้าโครงการวิจัยด้านความมั่นคงทางชีวภาพแห่งสถาบันเคอร์บี ในนครซิดนีย์ของออสเตรเลีย กล่าว

นายกาเบรียล เหลียง ประธานภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า กรอบเวลาของการ "รับรู้, ระบุลักษณะเด่น, เผยแพร่และรายงานข้อมูล" มีการปรับปรุงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโรคซาร์ส "สิ่งที่เคยใช้เวลานานหลายเดือนในช่วงโรคซาร์สระบาด ลดลงมาอยู่ที่ไม่กี่วันหรือสัปดาห์"

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อแนะนำเพื่อการยกเครื่องระบบสาธารณสุขบางอย่างที่ยังไม่ถูกดำเนินการหลังเกิดการระบาดของโรคซาร์ส

ในปี 2006 นายแพทย์ จง หนานซาน ผู้ตรวจพบเชื้อโรคซาร์ส และเป็นผู้นำปฏิบัติการรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในเมืองอู่ฮั่น ระบุว่า เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องกวาดล้างตลาดค้าสัตว์ป่าในประเทศ ซึ่งไม่มีระบบจัดการและการทำความสะอาดที่ดี อีกทั้งยังเป็นแหล่งที่อาจก่อให้เกิดโรคติดเชื้อชนิดใหม่ ๆ ขึ้นได้



อย่างไรก็ตาม มีรายงานจากเมืองอู่ฮั่นว่า การแพร่เชื้อระหว่างสัตว์ต่างชนิดอาจเป็นสาเหตุสำคัญของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ โดยที่ตลาดค้าสัตว์ป่าที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีการสั่งปิดการค้าขาย 1 วันหลังพบผู้ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อรายแรก ๆ นั้น มีการขายสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น หนู ลูกหมาป่าเป็น ๆ และตัวชะมด ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกเชื่อมโยงว่าอาจเป็นต้นเหตุของโรคระบาดในอดีต

ความนิยมรับประทานอาหารป่าและการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีนโบราณนั้นมักเป็นอุปสรรคต่อการกวาดล้างการค้าสัตว์ป่า แต่การที่ตลาดถูกระบุว่าเป็นแหล่งของการเกิดโรคระบาดอีกครั้ง ก็ทำให้แม้แต่สื่อของทางการจีนพยายามรณรงค์ให้ยุติการค้าสัตว์ป่า โดยมีข้อความชักชวนให้ประชาชนต่อต้านการค้าสัตว์ป่าถูกแชร์อย่างแพร่หลายทางโซเชียลมีเดีย

ปัจจุบันหลายฝ่ายยังคงกังขาว่า มาตรการสุดโต่งที่ทางการจีนใช้ ซึ่งเกินคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกนั้น จะมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยการระบาดของโรคซาร์ส

ดร.ดับเบิลยู เอียน ลิปคิน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาในสหรัฐฯ ที่เคยทำงานเรื่องโรคซาร์ส และเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญโรคนี้ แสดงความกังขาว่าการห้ามประชาชนในเมืองที่เป็นศูนย์กลางของการระบาด เช่น เมืองอู่ฮั่น เดินทางออกจากเมือง จะเพียงพอหรือไม่ที่จะหยุดยั้งเชื้อไม่ให้แพร่ระบาดไปทั่วโลกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 17 ปีก่อน



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี BBC NEWS


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์