หน้ากากอนามัยหาซื้อไม่ได้ จะป้องกันตัวเองจากไวรัสโคโรนาอย่างไรดี
ท่ามกลางความตื่นตระหนกจากการระบาดของโรคดังกล่าว มีรายงานว่านักท่องเที่ยวชาวจีนบางส่วนก็กว้านซื้อหน้ากากอนามัยกลับประเทศไปด้วย รวมถึงคนไทยบางคนก็ซื้อกักตุนไว้จนร้านค้าบางแห่งขาดแคลนสินค้า
เมื่อปัญหามลพิษทางอากาศมารวมกับการระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้เราได้เห็นภาพของผู้คนบนท้องถนน บนรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร พนักงานร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ สวมหน้ากากอนามัยกันแทบทุกคนซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนัก
1) หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา แบบผ้า หรือ N95 ใช้แบบไหนดี
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัยบอกกับบีบีซีไทยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคนั้นจะมาในรูปแบบละอองฝอยที่พุ่งออกมาจากผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical face mask) ที่เห็นกันคุ้นตาที่มีสีเขียว สีฟ้าหรือสีขาว สามารถป้องกันการกระจายตัวของโรคนี้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่ไม่สบายมีการไอ จาม ต้องใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เชื้อโรคในตัวกระจายไปยังผู้อื่น
สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เจ็บป่วย แต่ต้องอยู่ในที่ชุมชนที่มีคนจำนวนมาก ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองเช่นกัน
พญ.พรรณพิมลตอบว่า หากต้องการสวมใส่เพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 นั้น ต้องใช้หน้ากากแบบ N95 เพราะหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาจะสามารถป้องกันได้เพียงบางส่วนหรือราว 30% เท่านั้น แต่หน้ากากแบบ N95 นั้นผู้สวมมักจะอึดอัดเพราะมีการทอด้วยเส้นใยที่แน่นมาก ดังนั้น หากต้องใช้หน้ากากต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ และเพื่อป้องกันไวรัสโคโรนาก็ขอแนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา ซึ่งใส่สบายกว่าและป้องกันผู้สวมใส่จากเชื้อไวรัสโคโรนาได้
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า หน้ากากอนามัยแบบ N95 นั้นถ้าใส่ไม่ถูกวิธีหรือเอามือไปขยับบ่อย ๆ ประสิทธิภาพอาจจะต่ำกว่าการใส่หน้ากากธรรมดาด้วยซ้ำ
เขากล่าวว่า หน้ากากอนามัยแบบ N95 เหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติการในโรงพยาบาลหรือห้องแยกโรคซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเชื้อโรคมาก แต่ในสถานที่ทั่วไป ซึ่งเชื้อโรคไม่ได้เยอะ การสวมใส่หน้ากากอนามัยธรรมดาก็เพียงพอแล้ว
นพ.โสภณย้ำด้วยว่าการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องนั้นให้นำด้านนุ่มไว้ข้างใน ด้านหยาบไว้ข้างนอก และต้องใส่คลุมทั้งจมูกและปาก
2) หน้ากากอนามัยใช้ซ้ำได้หรือไม่
พญ.พรรณพิมลบอกว่า โดยปกติควรจะใช้วันเดียวทิ้ง ยกเว้นบางวันที่ใช้น้อยมากก็อาจจะใช้ต่อเนื่องได้ แต่ต้องพิจารณาดูสภาพการใช้งานที่เกิดขึ้นจริงว่ามีการชำรุดหรือไม่ หากชำรุดก็ควรทิ้งไป
อธิบดีกรมอนามัยย้ำว่า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ทำจากเส้นใยสังเคราะห์ไม่สามารถนำไปซักแล้วนำมาใช้ใหม่ได้ เพราะทันทีที่ถูกซัก เส้นใยที่ถักทอขึ้นมาจะสูญเสียคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อโรค อีกทั้งยังเป็นขุย ซึ่งผู้ใช้อาจหายใจเข้าไปได้
หากใช้หน้ากากอนามัยแบบผ้าก็ต้องดูให้ดีว่าเป็นผ้าที่มีความแน่นของเส้นใยที่พอเหมาะ เช่น ผ้าสาลู นอกจากนี้ การตัดเย็บจะต้องให้มีขนาดพอเหมาะและกระชับกับใบหน้า เพื่อป้องกันได้ดีที่สุด
อธิบดีกรมอนามัยแนะนำว่า "การล้างมือให้สะอาด" เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันตัวเองในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อกลุ่มไวรัสโคโรนา เพราะโอกาสติดเชื้อมาจากการสัมผัสกับเชื้อในละอองฝอยที่มือไปสัมผัสมาแล้วมาป้ายที่ตาบ้างหรือหยิบจับอาหารเข้าปากบ้าง
แล้วการล้างมืออย่างไรถึงจะปลอดภัย
อธิบดีกรมอนามัยบอกว่า เพียงใช้สบู่ธรรมดาก็สามารถชำระล้างเชื้อโรคได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์ก็ได้
"ขอให้ล้างมือเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นช่วงการระบาดของโรคหรือช่วงปกติ เพราะนี่เป็นวิธีการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค"
นอกจากนี้ การกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อไม่สบาย และการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงก็เป็นการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด เพราะถ้าร่างกายของเรามีภูมิต้านทานดี แข็งแรง โอกาสเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคเหล่านี้ก็น้อยลง หรือถ้าติดเชื้อ อาการของโรคก็จะไม่รุนแรง พญ.พรรณพิมลแนะนำ
4) หน้ากากอนามัยจะขาดตลาดหรือไม่
นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายในบอกกับบีบีซีไทยว่า ในภาวะปกติความต้องการใช้หน้ากากอนามัยจะอยู่ที่ประมาณ 30 - 40 ล้านชิ้นต่อเดือน แต่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นราว 50 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยผู้ผลิตหน้ากากอนามัย 3 ราย ยืนยันกับกรมฯ ว่า ผู้ผลิตในประเทศสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้เกิน 100 ล้านชิ้นต่อเดือนในช่วง 4-5 เดือนนี้
5) ขยะหน้ากากอนามัยทิ้งที่ไหนดี
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้จัดการโครงการ Chula zero waste ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า ตามหลักวิชาการแล้วหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วถือเป็น "ขยะติดเชื้อ" ซึ่งต้องส่งไปกำจัดด้วยวิธีที่ปลอดภัย คือ กำจัดในเตาเผาขยะติดเชื้อ
"แต่ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข ขยะติดเชื้อหมายถึงขยะที่เกิดในสถานพยาบาล ดังนั้นหน้ากากอนามัยที่คนปกติใช้ทั่ว ๆ ไปเพื่อป้องกันตัวเองจากฝุ่นหรือเชื้อโรคจึงไม่นับว่าเป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะถ้านิยามว่าหน้ากากอนามัยที่เราทุกคนใช้ตอนนี้เป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งมีข้อมูลว่ามีมากถึงประมาณ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน ระบบการจัดการขยะติดเชื้อที่มีอยู่ก็คงรองรับไม่ไหว" ดร.สุจิตรากล่าว
เธอเสนอว่า ในสถานการณ์ที่การใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นมากขณะนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดขยะหน้ากากอนามัยจำนวนมากตามไปด้วย สำนักอนามัยของกรุงเทพมหานคร (กทม.) น่าจะเป็นเจ้าภาพในการวางระบบกำจัดหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว โดยการตั้งศูนย์รับแล้วส่งไปกำจัดที่เตาเผาขยะติดเชื้อที่ได้มาตรฐานของ กทม.
ขณะที่โครงการ Chula zero waste ได้จัดวางถังขยะสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วไว้ตามคณะต่าง ๆ เพื่อส่งไปกำจัดเป็น "ขยะติดเชื้อ" โดยศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะส่งมอบอย่างถูกวิธีและปลอดภัยไปยังบริษัทรับกำจัดขยะประเภทนี้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งโดยปกติจะใช้วิธีการเผาทำลายในเตาที่มีอุณหภูมิสูง