
โคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ อันตรายแค่ไหน เรากลัวมากไปหรือกำลังพอดี?

สถานการณ์ทั่วโลก ณ วันพุธ ที่ 29 มกราคม 2563 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน (NHC) ประกาศจำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV) นับถึงวันอังคารที่ 28 มกราคม ภายในประเทศจีนมีผู้ป่วยจำนวน 5,974 ราย ราย เป็นผู้ป่วยอาการรุนแรงขั้นวิกฤต 1,239 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 132 ราย ส่วนนอกจีนแผ่นดินใหญ่พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในฮ่องกง 8 ราย, มาเก๊า 7 ราย, ไต้หวัน 8 ราย, ไทย 14 ราย และอีกหลายประเทศ
ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อไวรัสตัวนี้มาก เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นประเทศที่มีเที่ยวบินตรงจากอู่ฮั่นมาลงมากที่สุดเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินปลายทางที่รับผู้โดยสารจากอู่ฮั่นมากกว่าสนามบินอื่นในโลก ขณะที่สนามบินดอนเมืองและภูเก็ตก็ติดอยู่ในท็อป 10 ด้วย ในทางกลับกัน ชาวไทยก็เดินทางไปประเทศจีนมากเช่นกัน
การเกิดโรคระบาดเป็นสถานการณ์ที่เราควรตระหนัก ป้องกัน และรับมืออย่างรู้เท่าทัน แต่ด้วยข้อมูลมากมายที่ถูกนำเสนอออกมาถี่ ๆ มีทั้งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ ไปจนถึงข่าวปลอม ทำให้ผู้คนรู้สึกกลัวไปจนถึงขั้นตื่นตระหนกกับเรื่องนี้ รวมถึงตัวผู้เขียนเองที่ติดตามข่าวแล้วเห็นภาพในภาพยนตร์ซอมบี้ ทั้งที่สถานการณ์จริงไม่ได้เลวร้ายมากขนาดนั้น นี่ก็เป็นสัญญาณที่เตือนให้รู้ตัวว่าเราตระหนกเกินไปแล้วแน่ ๆ ซึ่งการตระหนักมากเกินไปจนกลายเป็นตระหนกก็ไม่เกิดประโยชน์หรือผลดีแต่อย่างใด ดังนั้น "ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ" จึงรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่งที่น่าเชื่อถือมานำเสนอเผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านในสถานการณ์นี้
รู้จักไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์เก่า-สายพันธุ์ใหม่
ข้อมูลพื้นฐาน 9 ข้อต่อไปนี้ ซึ่งอ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางน่าจะทำให้รู้จักไวรัสโคโรน่าและเข้าใจสถานการณ์ตอนนี้มากขึ้น
2.ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (Novel Coronavirus 2019) ที่ระบาดอยู่ตอนนี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 2019-nCoV พบการติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 และระบาดต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ นับเป็นสายพันธุ์ที่ 7 ของไวรัสโคโรน่าที่ติดต่อในมนุษย์
3.ไวรัสโคโรน่าบางสายพันธุ์เป็น zoonotic infection คือไวรัสที่ติดเชื้อทั้งในสัตว์และคน ก่อนหน้านี้พบการแพร่เชื้อไวรัสโคโรน่าจากสัตว์สู่คน เช่น ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) แพร่เชื้อจากชะมดสู่มนุษย์ในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2545 และไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคเมอร์ส (MERS) แพร่เชื้อจากอูฐสู่มนุษย์ในซาอุดีอาระเบียเมื่อปี พ.ศ. 2555 นอกจากนั้น มีไวรัสโคโรน่าอีกหลายตัวที่ระบาดในสัตว์แต่ยังไม่ติดต่อสู่คน
4.ไวรัสโคโรน่าบางสายพันธุ์ติดต่อจากคนสู่คนหลังจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่างสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส โรคเมอร์ส และสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ระบาดอยู่ตอนนี้
5.ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไม่แพร่กระจายทางอากาศ การเดินสวนกันหรืออยู่ในสถานที่เดียวกันไม่ทำให้ติดเชื้อ แต่การสัมผัสระยะใกล้ การอยู่ใกล้ผู้ที่มีอาการไอ จาม แล้วมีฝอยละอองหรือมีน้ำมูกกระเด็นมาโดนจะทำให้ติดเชื้อได้
6.อาการของคนที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าขึ้นอยู่กับไวรัสแต่ละสายพันธุ์ อาการที่พบบ่อยทั่วไป คือ อาการทางระบบหายใจ อย่างมีไข้ ไอ หายใจถี่ และหายใจลำบาก ในเคสที่รุนแรงอาจทำให้เกิดโรคปอดบวม โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง ไตวาย และรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิต
7.เนื่องจาก 2019-nCoV เพิ่งพบการระบาดในมนุษย์จึงยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ส่วนการพัฒนาวัคซีนตัวใหม่ก็ต้องใช้เวลาหลายปี
8.การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่มียาและวิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง วิธีการรักษาที่ทำอยู่ในตอนนี้ คือ รักษาตามอาการหรือเงื่อนไขทางเทคนิคของผู้ป่วยรายนั้น ๆ ซึ่งการรักษาประคับประคองตามอาการก็ถือว่ามีประสิทธิภาพสูง สามารถรักษาผู้ป่วยหายแล้วจำนวนมาก
9.ไวรัสโคโรน่าเป็นเชื้อโรคที่กลายพันธุ์ง่าย เพราะมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน คือมีสารพันธุกรรมประเภท RNA สายเดียว จึงเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ง่าย ส่งผลให้รับมือเชื้อยาก เพราะเชื้อโรคจะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
โดยทั่วไปแล้วไวรัสโคโรน่าเป็นไวรัสที่ติดต่อระบาดกันในสัตว์ แต่บางสายพันธุ์สามารถติดต่อและก่อโรคในมนุษย์ได้
การระบาดก่อโรคของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในมนุษย์เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย์ ประเทศจีน พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จึงมีการรายงานต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าพบผู้ป่วยปอดอักเสบจำนวนมากที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่เคยพบการติดเชื้อในมนุษย์มาก่อน
ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม 2563 ทางการจีนรายงานว่าสามารถระบุได้ว่าไวรัสตัวใหม่นี้ คือ ไวรัสโคโรน่า ซึ่งเป็นตระกูลของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคซาร์สและเมอร์สที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไวรัสตัวใหม่นี้มีชื่อชั่วคราวว่า "2019-nCoV" หรือ "Novel Coronavirus 2019" ต่อมาวันที่ 11 มกราคม 2563 จีนเผยแพร่ genome ของเชื้อ Novel Coronavirus 2019 ลงในธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก (GenBank) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลพันธุกรรมที่นักวิจัยรวมถึงบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลไปใช้ได้
จีนสืบสวนหาแหล่งแพร่เชื้อที่เมืองอู่ฮั่น โดยเริ่มจากเบาะแสที่ว่าผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกที่เป็นคนงานและลูกค้าของตลาดขายส่งอาหารทะเลฮั่วนาน ซึ่งขายเนื้อสัตว์และสัตว์มีชีวิตหลายชนิด รวมถึงสัตว์ป่าด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่จะระบุได้ว่า มนุษย์ติดเชื้อมาจากสัตว์ชนิดใด
ผลการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในจีนพบว่า 2019-nCoV มีรหัสพันธุกรรมที่ใกล้ชิดกับไวรัสโคโรน่าที่ก่อโรคซาร์สและโรคเมอร์ส ซึ่งมาจากค้างคาวมากที่สุด ขณะที่คณะนักวิจัยนานาชาติหลายคณะทำการวิเคราะห์สารพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่และข้อมูลชีวภาพที่เกี่ยวข้องพบว่า รหัสโปรตีนของ 2019-nCoV ของผู้ป่วยคล้ายคลึงกับรหัสโปรตีนของ 2019-nCoV ที่อยู่ในงูมากที่สุด จึงสันนิษฐานว่าการระบาดของโรคในครั้งนี้ มนุษย์ติดเชื้อมาจากงูในตลาด
อันตรายแค่ไหน น่ากลัวเท่าไหร่?
สำหรับคำถามว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดอยู่ในตอนนี้อันตราย-รุนแรงแค่ไหน น่ากลัวมากหรือไม่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีสรุปฟันธงอย่างเป็นทางการ แต่มีข้อมูลที่สามารถนำมาพิจารณาได้ ดังนี้
1.แถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อ 23 มกราคมที่ผ่านมาที่มีข้อสรุปว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประกาศให้สถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้เป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) แต่ให้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด
*อัพเดตวันที่ 30 มกราคม 2563 WHO ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เป็น "ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" แล้ว
2.อาการรุนแรงที่สุดที่พบ คือ อาการปอดอักเสบอันนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งข้อมูลที่มี ณ ตอนนี้ คือ มีอัตราเสียชีวิต 3% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด เทียบกับอัตราการเสียชีวิตจากโรคซาร์ส 10% และอัตราการเสียชีวิตจากโรคเมอร์ส 30% อิงจากข้อมูลนี้ถือว่ารุนแรงน้อยกว่าโรคอื่นที่เกิดจากไวรัสตระกูลเดียวกันที่เคยระบาดมาก่อน
3.ในรายงานของ ScienceNews อ้างอิงการให้ข้อมูลของ ดร.แอนโทนี เฟาซี (Dr.Anthony Fauci) ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญท่านนี้นำข้อมูลอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาเปรียบเทียบกับซาร์สและเมอร์ส แล้วสรุปว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้รุนแรงน้อยกว่าซาร์สและเมอร์ส
4.ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญชาวไทยเอง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ความรุนแรงของโรคแตกต่างกันตามความแข็งแรงของแต่ละคน เด็กอายุน้อยและวัยรุ่นจะมีอาการน้อยกว่าผู้สูงอายุ ผู้ที่เสียชีวิตเกือบทั้งหมดมีอายุมากกว่า 80 ส่วนเด็กหรือวัยกลางคนอาการจะน้อยแทบจะไม่มีผู้เสียชีวิตเลย
"ไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสตัวใหม่ ไม่เคยพบในมนุษย์มาก่อน เมื่อเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ขาดองค์ความรู้ของโรค ถ้ามองในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของโรคปอดบวมอู่ฮั่น ก็คงจะไม่เลวร้ายไปกว่าการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในระยะแรกก็ตื่นตระหนกเช่นเดียวกัน หลังจากระบาดใหญ่ไวรัสตัวนี้ก็ประจำถิ่น เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไปเรียบร้อยแล้ว คนส่วนใหญ่เคยเป็นและมีภูมิอยู่บ้างแล้ว การระบาดใหญ่จึงลดลง ทุกวันนี้ก็ยังตรวจพบและมีการระบาดเป็นหย่อม"
จากข้อมูลหลายทาง อาจพอสรุปเบื้องต้นได้ว่า ฤทธิ์เดชความรุนแรงของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ณ เวลานี้ไม่รุนแรงนักหากเทียบกับโรคซาร์สและโรคเมอร์สที่เคยระบาดมาก่อน
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรนิ่งนอนใจเพียงเพราะความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตที่พบในปัจจุบันไม่สูงเท่าสองโรคที่นำมาเปรียบเทียบ เพราะอันที่จริงแล้ว ระดับความอันตรายของเชื้อไวรัสพิจารณาจากตัวเลข 2 ตัว ตัวแรก คือ ศักยภาพของไวรัสในการแพร่ระบาด คือ มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากขนาดไหน อัตราการแพร่เชื้อมากเท่าไหร่ (1 คนแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้อีกกี่คน) และตัวที่สอง คือ อัตราการเสียชีวิตมากเท่าไหร่ ซึ่ง ณ ตอนนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง ถึงแม้ว่ามีตัวเลขอัตราการเสียชีวิตออกมาแล้ว แต่ตัวเลขนี้คำนวนจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบแล้วเท่านั้น ยังมีผู้ติดเชื้อที่ไม่ถูกตรวจพบและผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอีก ไม่รู้ว่าเป็นจำนวนมากขนาดไหน
สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อไวรัสตัวนี้แพร่กระจายมาก ๆ แล้วมันอาจจะพัฒนาความรุนแรงขึ้น เนื่องจากไวรัสมีการพัฒนาเพิ่มศักยภาพของตัวมันเองอยู่ตลอด จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดต่อไป
จะดูแลป้องกันตัวเองอย่างไรในสถานการณ์นี้
ภาพรวมของประเทศไทย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินเป็นระดับ 3 เพื่อติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด มีระบบการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพิ่มการเฝ้าระวังที่โรงพยาบาล และสนับสนุนการเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ นอกจากนั้น ยังมีการยกระดับการแจ้งเตือนโรคในผู้เดินทางเป็นระดับ 3 ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด
ส่วนระดับรายย่อย ประชาชนสามารถดูแลตัวเอง ป้องกันและลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
- โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ป้องกันได้โดยใช้หลักการป้องกันโรคติดต่อทางเดินหายใจ ได้แก่ ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
-ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นและเมืองที่มีการระบาดตามคำประกาศของทางการจีน
-ระหว่างเดินทางในต่างประเทศขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม แนะนำควรสวมหน้ากากอนามัย
-หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี
-หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำ "กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ" อย่างเคร่งครัด
-ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
-รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
-หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทยภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
-หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือเว็บไซต์ ddc.moph.go.th/viralpneumonia และ Line@/เพจเฟซบุ๊ค : รู้กันทันโรค, เพจเฟซบุ๊ค : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนั้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ประชาชนต้องใช้วิจารณญาณทุกครั้งในการรับข่าว โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือของบัญชีผู้ใช้งานที่เผยแพร่ข่าวนั้น พิจารณาเนื้อหาข่าวอย่างละเอียดรอบคอบโดยเปรียบเทียบกับข่าวจากแหล่งอื่นที่น่าเชื่อถือ ตรวจสอบแหล่งข่าวที่ถูกอ้างถึง สอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเข้าใจและสามารถยืนยันเนื้อหาที่ปรากฏในข่าวได้ ลดการรับข่าวที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ส่งต่อและไม่แชร์ข้อความที่ดูเกินจริงและไม่ได้รับการยืนยัน และควรติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลอย่างมาก สามารถโทร.ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday