เลือดกรุ๊ป A เสี่ยงติด โควิด-19 มากกว่าเลือดกรุ๊ปอื่นจริงหรือ?!
เว็บไซด์ เซาท์ไชน่ามอนิ่งโพสต์ เผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับผลการศึกษาที่ อู่ฮั่น และเซินเจิ้น พบว่า กลุ่มผู้ป่วยกับกรุ๊ปเลือดมีความสัมพันธ์กันในการเสี่ยงติดเชื้อหรือแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงขึ้น โดยที่ คนเลือดกรุ๊ป O มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับคนเลือดกรุ๊ปอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้น ซึ่งหลังจากนี้ยังต้องมีการศึกษารายละเอียดอีกมาก ขณะเดียวกันนักวิจัยก็เรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานด้านสาธารณสุขพิจารณาความแตกต่างระหว่างกรุ๊ปเลือดเพื่อวางแผน หรือหามาตรการรับมือกับผู้ป่วย "โควิด-19" หลังจากนี้
"ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีเลือดกรุ๊ป A อาจจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวัง และการดูแลอาการอย่างใกล้ชิดมากขึ้น"
ในทางตรงกันข้าม "กลุ่มเลือดกรุ๊ป O มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับกลุ่มเลือดกรุ๊ปอื่น โดยงานวิจัยชิ้นนี้ เผยแพร่บนเวบไซต์ Medrxiv.org เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา
"รายละเอียดในการใช้กรุ๊ปเลือดระบบ ABO อาจะเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่งของการบริหารสถานการณ์ติดเชื้อไวรัส Sars-CoV2 และการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าชนิดอื่นๆ เพื่อกำหนดทางเลือกและประเมินระดับความเสี่ยงของบุคคล" เขาเขียนไว้ในรายงานฉบับดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้นั้น ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ และแพทย์จากเมืองต่างๆ ทั่วประเทศจีนรวมถึงปักกิ่ง อู่ฮั่น เซี่ยงไฮ้ และเซินเจิ้น โดยยังไม่ได้ผ่านการประเมินจากผู้ชำนาญการในแวดวง อีกทั้งอาจมีความเสี่ยงในการใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติทางคลินิคในปัจจุบัน
เกา อิงไต๋ นักวิจัยกับห้องปฏิบัติการหลักของโลหิตวิทยาทดลองในเทียนจินที่ไม่ได้อยู่ในทีมวิจัยชุดดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า หัวข้อการศึกษานั้นสามารถปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยการขยายกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น ถึงแม้ว่ากลุ่มตัวอย่าง 2,000 คนจะถือเป็นปริมาณที่เยอะพอสมควร แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดที่ติดเชื้อ "โควิด-19" ในปัจจุบันซึ่งมีมากกว่า 180,000 รายทั่วโลกนั้นก็ถือว่าเล็กมาก
อีกประเด็นสำคัญที่เกาเสนอแนะไว้สำหรับเรื่องนี้ก็คือ ข้อจำกัดสำคัญของการศึกษาดังกล่าวนั้น ไม่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับปัจจัยอื่นๆ อาทิ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างโมเลกุลของไวรัส และเซลล์เม็ดเลือดแดงชนิดต่างๆ ในร่างกาย ด้วย
โดยธรรมชาติของ "กรุ๊ปเลือด" นั้น จะถูกกำหนดโดยสิ่งที่เรียกว่า แอนติเจน และส่วนประกอบอื่นๆ ภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งถูกค้นพบโดย คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ นักชีววิทยาชาวออสเตรียในปี 1901 แบ่งชื่อเรียกออกตามแต่ละประเภทของกรุ๊ปเลือด A, B, AB และ O การค้นพบนี้ทำให้การถ่ายเลือดมีความปลอดภัยด้วยการจับคู่กลุ่มเลือดที่ตรงกันในกลุ่มผู้ป่วย
ความหนาแน่นของกรุ๊ปเลือดแตกต่างกันไปในกลุ่มประชากร ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 44 % ของประชากรเป็นเลือดกุร๊ป O ในขณะที่ประมาณ 41% เป็นเลือดกรุ๊ป A ขณะที่ อู่ฮั่นซึ่งมีประชากร 11 ล้านคน มีคนเลือดกรุ๊ป O อยู่ราว 32 % ส่วนคนเลือดกรุ๊ป A มีอยู่ประมาณ 34 % สำหรับกลุ่มผู้ป่วย "โควิด-19" นั้นมีผู้ป่วยเลือดกรุ๊ป A อยู่ 38 % และผู้ป่วยเลือดกรุ๊ป O อยู่ราว 25 %
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่แน่ใจว่า กรุ๊ปเลือดต่างกันจะมีผลกับโรคมากน้อยขนาดไหน เพราะยังต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อม อุณหภูมิ ความชื้น หรือการกระจายตัวของกลุ่มประชากร ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการศึกษา ความแตกต่างของกรุ๊ปเลือดในโรคติดเชื้ออื่น ๆ อาทิ ไวรัสตับอักเสบบี หรือ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (Sars) อยู่
เกา อิงไต๋ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการศึกษาใหม่ชุดนี้ว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ประชาชนทั่วไปไม่ควรใช้สถิติอย่างจริงจังเกินไป
"หากคุณเป็นคนเลือดกรุ๊ป A คุณก็ไม่จำเป็นต้องหวั่นวิตกจนเกินเหตุ เพราะมันไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องติดเชื้อ 100% หรือถ้าคุณเป็นคนเลือดกรุ๊ป O ก็ไม่ได้แปลว่า คุณจะปลอดภัย 100 % คุณยังต้องล้างมือ และปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานป้องกันโรคอยู่ดี"