โควิด19กับหลอดเลือดอักเสบสิ่งที่พ่อแม่สุดห่วงลูกน้อย


โควิด19กับหลอดเลือดอักเสบสิ่งที่พ่อแม่สุดห่วงลูกน้อย

ท่ามกลางสถานการณ์ "โควิด-19" ที่ยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง แม้ในประเทศไทยจะพบจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงก็ตาม แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในประเทศแถบตะวันตก มีการค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างโรคที่มีอาการคล้ายคาวาซากิกับโควิด-19 ที่ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนได้

เนื่องจากการอักเสบของหัวใจ หรือหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการโป่งพองหรืออุดตัน ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเกิดความกังวลว่าอาการเหล่านั้น จะเกิดกับบุตรหลานได้หรือไม่?

ซึ่งในเรื่องนี้ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มีหลายประเทศทางตะวันตกในช่วงที่มีการระบาดของโรค COVID -19 มีจำนวนของเด็กที่เจ็บป่วยด้วยการอักเสบของอวัยวะหลายระบบทั่วร่างกาย คล้ายกับที่พบในโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ซึ่งปกติจะพบบ่อยในเด็กเอเชีย แต่พบน้อยมากในเด็กอเมริกาหรือยุโรป



โดยอาการที่พบจะเป็นอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ร่วมกับหัวใจอักเสบ และมีภาวะช็อค โดยมีเด็กจำนวนหนึ่งตรวจพบหลักฐานการติดเชื้อ "โควิด-19" ร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของคำแนะนำในประเทศทางตะวันตกว่า หากมีเด็กที่มีอาการแสดงที่น่าสงสัย หรือเข้าได้กับหรือกลุ่มอาการคาวาซากิ หรือมีภาวะช็อคที่อธิบายสาเหตุไม่ได้ ให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษว่าอาจจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อโควิด-19 และควรจะพิจารณาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย


ด้าน นายแพทย์อดิศัย  ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เผยเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคหลอดเลือดอักเสบคาวาซากิ เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม ร่วมกับการสัมผัสกับสารก่อโรคในสิ่งแวดล้อมเช่น สารเคมีหรือจุลินทรีย์บางชนิด ไปกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่รุนแรงจนกระทั่งเกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย 

"ในช่วงที่มีการระบาดของ"โควิด-19" ในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยและจีน ยังไม่มีหลักฐานว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการติดเชื้อโควิด-19 กับกลุ่มอาการคาวาซากิ" นอกจากนั้น ในเดือนที่ผ่านมาสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับภาวะหลอดเลือดอักเสบที่หาสาเหตุไม่ได้ 2 ราย

หลังจากรักษาประคับประคอง ผู้ป่วยฟื้นตัวดีซึ่งสามารถกลับบ้านได้ และไม่ได้พบว่ามีอุบัติการณ์ของโรคสูงเพิ่มขึ้นผิดสังเกตแต่อย่างใด นอกจากนั้นยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิดโดยเครือข่ายแพทย์โรคติดเชื้อในเด็ก รวมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดอักเสบจากภูมิคุ้มกันของประเทศไทย

ตลอดจนกุมารแพทย์โรคหัวใจในเครือข่าย  Asian Kawasaki Disease Collaborating Research Network (AKDCRN) จากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และมาเลเซีย แต่ก็ยังไม่มีการรายงานกลุ่มอาการนี้ ในทางตรงข้ามกลับพบว่าโรคคาวาซากิและการเจ็บป่วยเฉียบพลันลดลง จากการทำ physical  distancing กล่าวโดยสรุปว่า ในภูมิภาคเอเชีย ยังไม่พบมีจำนวนผู้ป่วยเด็กที่มีอาการเหล่านี้มากขึ้นแต่อย่างใด



เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์