กรมควบคุมโรคเตือนคนเกิดก่อน พ.ศ. 2535 เสี่ยงเชื้อไวรัสตับอักเสบ
ส่วนประชาชนที่เกิดหลังปี พ.ศ.2535 ได้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีนของประเทศ ทำให้พบอัตราความชุกที่ลดลง ร้อยละ 0.6
ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี คือ กลุ่มประชากรที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2535 ซึ่งต้องมาตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบบี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป ส่วนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ประมาณ 7.5 แสนคน พบมากในผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด
อาการของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง มีไข้ ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวา เซลล์ตับถูกทำลาย ซึ่งผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี มีเพียงร้อยละ 5 - 10 ที่มีโอกาสเป็นตับอักเสบเรื้อรัง
ส่วนโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง จะมีอาการนานเกินกว่า 6 เดือน โดยแบ่งได้อีกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. ชนิดตับอักเสบเรื้อรังไม่รุนแรง (Chronic Persistent) แบบค่อยเป็นค่อยไป
2. ชนิดตับอักเสบเรื้อรังแบบรุนแรง (Chronic Active Hepatitis) เป็นอาการอักเสบที่เกิดจากตับถูกทำลายไปมาก และเกิดอาการตับแข็ง ในผู้ที่เป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเกิดขึ้น แต่เชื้อไวรัสจะทำลายตับไปเรื่อยๆ จนเกิดอาการตับแข็ง และท้ายสุดก็จะกลายเป็นมะเร็งตับ
สำหรับไวรัสตับอักเสบซี ไม่สามารถพยากรณ์โรคได้ว่าจะเป็นแบบไวรัสตับอักเสบบี เนื่องจากหลังการติดเชื้ออาจเกิดมะเร็งตับ โดยไม่ต้องมีภาวะตับแข็งก่อนได้ และการรักษาโดยใช้ยาต้านไวรัสตับอักเสบซี ที่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ สามารถรักษาให้หายได้ เพียงรับประทานยาต่อเนื่อง 4 เดือน