ย้อนที่มาเป็ดยางก่อนจะถึงไทยเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไหนมาบ้าง


ย้อนที่มาเป็ดยางก่อนจะถึงไทยเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไหนมาบ้าง

เป็ดยางเป่าลมสีเหลืองขนาดยักษ์หลายสิบตัวปรากฏตัวในที่ชุมนุมกลุ่ม ราษฎร เป็นครั้งแรกในการชุมนุมด้านนอกรัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. โดยผู้จัดการชุมนุมประกาศว่าจะปิดล้อมรัฐสภาทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ เพื่อกดดันให้สมาชิกรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อถึงเวลานัดหมาย ผู้ชุมนุมเริ่มลำเลียงเป็ดยางเข้าพื้นที่ แต่ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ระดมฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาเป็นระยะ ๆ จากที่เตรียมจะใช้ประกอบการทำกิจกรรม เป็ดยางจึงเปลี่ยนภารกิจเป็นอุปกรณ์ป้องกันตัวของผู้ชุมนุมที่อยู่แนวหน้าไปโดยปริยาย

เมื่อเกิดการปะทะกับกลุ่มเสื้อเหลืองในช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น เป็ดเหลืองก็ถูกนำมาเป็นเกราะกำบังอีกครั้ง

ผู้ชุมนุมบางคนอย่างนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ถึงกับยกย่องให้เป็ดยาง เป็น "วีรชน" ที่อุทิศตนเพื่อพิทักษ์ประชาชน

ราษฎร ไม่ใช่กลุ่มแรกและไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่เป็ดยางถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2558 มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองอย่างน้อย 5 ครั้งที่นำเป็ดยางมาเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อสะท้อนปัญหาสังคมอย่างการคอร์รัปชัน เสรีภาพ รวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย

26 เม.ย. 2558 - เซอร์เบีย

กลุ่มประชาชนและนักเคลื่อนไหวที่เรียกตัวเองว่า Let Us Not Drown Belgrade นัดชุมนุมเดินขบวนพร้อมกับใช้ เป็ดยางสีเหลืองตัวโตที่มีความสูง 2 เมตร เป็นสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการลงนามข้อตกลงร่วมระหว่างรัฐบาลเซอร์เบียกับบริษัทอีเกิล ฮิลส์จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการโครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในกรุงเบลเกรดซึ่งมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 9.1 หมื่นล้านบาท

โครงการดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านอย่างหนักจากภาคประชาชนและเอ็นจีโอนับตังแต่รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ วูชิช ประกาศว่าจะเริ่มโครงการนี้เมื่อสองปีก่อนหน้า

ในคอลัมน์ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวบลูเบิร์ก อธิบายว่า ในภาษาเซอร์เบียน คำว่า "เป็ด" (patka) มีความหมายสแลงว่า ทุจริต ซึ่งวลีที่ผู้ชุมนุมมักกล่าวถึงก็คือ มาบอกเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นให้พวกเขาได้รู้

26 มี.ค. 2560 - รัสเซีย

เป็ดยางปรากฏในภาพข่าวอีกครั้งที่กรุงมอสโกของรัสเซีย ในระหว่างการประท้วงนำโดยนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้เคยพยายามลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียในการเลือกตั้งในปีนั้น แต่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งรัสเซียตัดสิทธิ์ โดยการประท้วงจัดขึ้นที่จตุรัสพุชกิน ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ

9 ธ.ค. 2560 - โคโซโว

เป็ดสูบลมสีเหลืองตัวโตถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุมใกล้กับสำนักงานใหญ่รัฐบาลในกรุงพริสตินา เมืองหลวงของโคโซโว เนื่องในวันต่อต้านการทุจริตสากล

27 มิ.ย. 2562 - สหราชอาณาจักร

ชายสวมหน้ากากรูปใบหน้านายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นั่งอยู่บนกองเป็ดยางตัวน้อย ๆ นับพันตัว ในระหว่างการประท้วงของกลุ่มรณรงค์ที่สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับอียูต่อไป Our Future, Our Choice (OFOC) ด้านหน้าของสำนักงานของนายจอห์นสันในกรุงลอนดอน โดยกลุ่มดังกล่าวอ้างว่านายจอห์นสันพยายามหลบหน้าประชาชน ด้วยการหลีกเลี่ยงการโต้วาทีทางโทรทัศน์และตอบคำถามเกี่ยวกับเบร็กซิทในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง

18 มิ.ย. 2563 - เซอร์เบีย

มาในปีนี้ที่เซอร์เบีย เป็ดยักษ์สีเหลืองถูกนำกลับมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยกลุ่ม Let Us Not Drown Belgrade อีกครั้งที่หน้าอาคารรัฐสภากลางเมืองหลวง คราวนี้ เป็ดเหลืองถูกนำมาใช้เพื่อประท้วงเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งรัฐสภาในวันที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากพวกเขาไม่พอใจและต่อต้านการที่ประธานาธิบดีวูชิช ตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อสกัดกั้นการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สอง

โดยพวกเขามองว่ามาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อหวังผลทางการเมืองของประธานาธิบดีหลังจากการเลือกตั้งถูกเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งจากเดือนมี.ค.

17-18 พ.ย. 2563 - ไทย

กลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "ราษฎร" ได้นำ เป็ดยาง มาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อกดดันในวันที่ 17 พ.ย. ซึ่งพิจารณาลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ โดยกลุ่มราษฎรเรียกร้องให้ทั้ง ส.ส. และส.ว. มีมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่นำเสนอโดยไอลอว์

ก่อนวันประชุมสภา ตำรวจได้ประกาศให้พื้นที่รอบ ๆ รัฐสภาในรัศมี 50 เมตร เป็นเขตควบคุมไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุม แต่กลุ่มราษฎรต้องการเข้ามาชุมนุมบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา จึงทำให้เกิดการฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาเพื่อผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมออกไป การปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นเป็นระลอก ตลอดระยะเวลากว่า 5 ชั่วโมง ในระหว่างนั้นก็มีการปะทะกันกับกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ปักหลักที่แยกเกียกกายด้วย และเป็ดยางถูกใช้เป็นอุปกรณ์ป้องกันของกลุ่มราษฎรจนกระทั่งแกนนำประกาศยุติการชุมนุม

 



การชุมนุมในวันรุ่งขึ้น (18 พ.ย.) กลุ่มราษฎรนำเป็ดยางมาเป็นส่วนหนึ่งและสัญลักษณ์ในกิจกรรมอีกครั้ง

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ "บก.ลายจุด" ซึ่งปรากฎตัวในชุดเป็ดน้อยสีเหลืองในวันนั้น กล่าวยกย่องให้เป็ดยางเป็นวีรบุรุษและวีรชนผู้อุทิศตนต่อสู้ในเหตุการณ์รัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา

"ตัวละครที่เป็นสีสันมาก ผมว่าเรือเป็ดและน้องเป็ดน่ารัก แต่เขาอาจจะไม่ลงในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ทำหน้าที่ป้องกันในตอนที่เขาฉีดน้ำอยู่ข้างบน และมีภาพน้องเป็ดที่ถูกฉีดน้ำจนพัง" เขาอธิบาย

นอกจากภาพที่บีบีซีไทยรวบรวมมานี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เป็ดยางถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการชุมนุมทางการเมือง เช่น การต่อต้านการคอร์รัปชั่นภายใต้การบริหารรัฐบาลของประธานาธิบดีดิลมา รูสเซฟฟ์ และการตัดต่อรูปเป็ดยางสีเหลืองแทนรถถังสี่คันที่มีชายคนหนึ่งยืนประจันหน้าในจตุรัสเทียนอันเหมินในเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปีกว่า 30 ปีที่แล้ว โดยภาพตัดต่อดังกล่าวโด่งดังในเว็บไซต์สังคมออนไลน์เว่ยป๋อ และสะท้อนให้เห็นถึงการเซนเซอร์ในจีน

ดูเหมือนว่าเวลานี้ บทบาทของเป็ดยางสีเหลืองจะมีมากกว่าการสร้างรอยยิ้มตามเจตนารมณ์ของศิลปินชาวดัตช์ โฟลเรินไตน์ โฮฟมัน (Florentijn Hofman) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มนำเป็ดยางตัวยักษ์ไปลอยน้ำเพื่อสร้างความสุขให้คนใน 14 เมืองสำคัญทั่วโลก เช่น กรุงอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ เมืองโลมเมิลของเบลเยียม นครโอซากาของญี่ปุ่น นครซิดนีย์ของออสเตรเลีย นครเซาเปาโลของบราซิล และเกาะฮ่องกงของจีนระหว่างปี 2550-2556 เสียแล้ว

ย้อนที่มาเป็ดยางก่อนจะถึงไทยเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไหนมาบ้าง

เครดิตแหล่งข้อมูล : bbc.com/thai

ย้อนที่มาเป็ดยางก่อนจะถึงไทยเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไหนมาบ้าง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์