กินเค็ม อันตรายที่ไม่ได้มีเพียงแค่โรคไต และการบวมน้ำ
ทุกครั้งที่ความเค็มมาสัมผัสกับลิ้น สิ่งที่ตามมาด้วยก็คงจะหนีไม่พ้น เกลือในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วเกลือ หรือโซเดียม จะมีหน้าที่ในการรักษาสมดุลน้ำในร่างกาย แต่ทว่า การที่ร่างกายเราดันไปโอบอุ้มต้อนรับเกลือเข้ามามากเกินไป ความเข้มข้นของเลือดสูง จนอาจส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนัก คือผลลัพธ์ที่จะตามมาจากการกินเค็ม ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเกลือ คือ การเติมน้ำเข้าไปเพื่อเจือจาง ซึ่งส่งผลให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ๆ ความเข้มข้นลดลง แต่ปัญหาที่ตามมาอีกหนึ่งอย่างคือ ปริมาณน้ำในร่างกายอาจจะเยอะเกินไปได้
ไตควบคุมเกลือ ต่อมใต้สมองควบคุมน้ำ
เพราะฉะนั้นแล้ว ร่างกายจึงได้มอบหมายหน้าที่สำคัญ อย่างการควบคุมปริมาณเกลือ หรือโซเดียมในร่างกายให้กับ ไต และมอบหมายการทำหน้าที่ควบคุมสมดุลน้ำให้กับ ต่อมใต้สมองที่มีชื่อว่า พิทูอิตารีแกร์น ซึ่งทั้ง 2 ทำหน้าที่ประสานกันอย่างลงตัว นั่นทำให้เมื่อร่างกายของเรากินเค็มจนลิ้นชามากเกินไป ไตจะรับรู้ว่าถึงเวลาแล้วสินะที่ต้องจัดการ ไตจึงส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังต่อมใต้สมองเพื่อขอน้ำเข้ามาเจือจาง "ต่อมพิทูอิตารีแกร์น" จึงสั่งการให้เราหิวกระหาย ต้องการดื่มน้ำมากเป็นพิเศษ
แต่เมื่อดื่มน้ำเข้าไปมาก ๆ เข้า ทำให้เกิดอาการบวมน้ำตามมาในที่สุด ซึ่งหากร่างกายเรามีน้ำเยอะเกินไป น้ำเหล่านั้นจะถูกขับออกทางปัสสาวะไปในท้ายที่สุด อาการบวมน้ำก็จะหายไปภายในไม่กี่วัน หรือเพียงแค่ไปออกกำลังกายให้ร่างกายขับเหงื่อก็ช่วยลดอาการบวมน้ำได้เช่นกัน
อันตรายของการ กินเค็ม
แม้อาการบวมน้ำอาจจะดูไม่ได้สร้างความวุ่นวายอะไรให้ชีวิตมากนัก แต่โทษของการกินเค็มไม่ได้มีเพียงเท่านี้ หากว่ารสชาติเค็มจัดคืออาหารที่คุณกินติดต่อกันมาอย่างยาวนานแล่วล่ะก็ นั่นเท่ากับว่าคุณได้ใช้แรงงานของอวัยวะอย่าง ไต หนักหนาสาหัสเกินความเป็น อาจทำให้ไตต้องเหนื่อยล้าอ่อนแรง และอาจเสื่อมสภาพไปในที่สุด นอกจากนี้แล้วยังอาจกระทบกับระบบอื่น ๆ ให้เสียสมดุลได้ เช่น ความดันโลหิตที่สูงผิดปกติ อาจส่งผลต่อหัวใจได้ เป็นต้น โดยปัญหาที่มักมาพร้อมกับการกินเค็มมาอย่างยาวนาน มีดังนี้
1) เกิดการคั่งของน้ำและเกลืออาจส่งผลต่อหัวใจ
การคั่งค้างของน้ำและเกลือในร่างกาย ไม่เพียงแต่จะให้หุ่นดี ๆ ต้องอ้วนพีจากบวมน้ำแล้ว ในกรณีคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตอยู่แล้ว หรือคนที่ไม่สามารถกำจัดน้ำส่วนเกินออกไปได้ทัน อาจทำให้ร่างกายอึดอัด แน่นหน้าอก นอนราบก็ไม่ได้ แถมยังมีโอกาสที่น้ำค้างเหล่านั้นจะเล่นงานหัวใจจนหัวใจวายได้เลย
2) ทำให้ความดันโลหิตสูง
หากว่าร่างกายเราได้รับเกลือเข้าไปมาก ๆ อาจจะสร้างความเสียหายต่อหลอดเลือดต่าง ๆ ในร่างกายได้เลย เพราะเมื่อร่างกายเรามีเกลือเยอะ ความเข้มข้นของเลือดก็จะสูงไปด้วย ดังนั้นจึงต้องใช้แรงดันในการนำพาเลือดไปส่วนต่าง ๆ สูงขึ้นไปอีก ซึ่งมันอาจจะสร้างความสะเทือนใจจากหลาย ๆ โรคได้เลย ไม่ว่าจะเป็น โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจตีบ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ทั้งยังอาจสร้างความเสียหายต่อกระดูกได้ด้วย
3) เกิดผลเสียต่อไต
อย่างที่รู้กันดีว่า การกินเค็มนั้นส่งผลเสียโดยตรงต่อไต เพราะเมื่อความดันโลหิตจากปริมาณเกลือที่สูงขึ้น ไตก็จำเป็นต้องทำหน้าที่หนักมากขึ้นในการเพิ่มประสิทธิภาพการกรองเกลือและน้ำส่วนเกินของร่างกาย ผลที่ตามมาคือเกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น และเกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสที่ไตจะเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย
คนไทย กินเค็ม จนป่วยไตกว่า 7.6 ล้านคน
จากสถิติพบว่าในประเทศไทยป่วยโรคไตราว ๆ 7.6 ล้านคน แต่ไม่ต้องคิดว่าการมีเพื่อนป่วยเยอะแล้วจะดี เพราะแต่ละคนที่ป่วยโรคไตต่างต้องทนทุกข์ทรมาน ทั้งตัวบวม อ่อนแรง ปวดหลัง ปวดเอว ความดันก็สูง ทั้งส่งผลต่อโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นใครที่มีพฤติกรรมเสพติดความเค็มก็ควรที่จะเพลา ๆ ลงบ้าง
ลด กินเค็ม ทีละนิด เพิ่มความฟิตให้ไต
จริงอยู่ที่หากจะปรับพฤติกรรมเลิก กินเค็ม แบบหักดิบอาจจะเป็นการทรมานตัวเองไปหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ลดการกินเค็มเลย ทางที่ดีควรจะลดปริมาณความเค็มลงทีละนิด ๆ ให้ร่างกายเริ่มชินกับรสชาติที่เค็มน้อยลงเรื่อย ๆ รับรองเลยว่า ไตก็ไม่ต้องทำงานหนัก และสามารถกลับมาทำงานได้เต็มที่ แถมยังหมดห่วงจากโรคไตที่อาจจะตามมาอีกด้วย
ความรู้เพิ่มเติมเรื่องโซเดียม **
จริง ๆ แล้ว เราควรกินโซเดียม หรือเกลือเพียงแค่วันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือ 1 ช้อนชา เท่านั้น หากอยากกินขนม หรืออาหาร ก็พยายามอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์ที่มีป้ายปริมาณโซเดียมกำหนดอยู่ แล้วคาดคะเนเอาว่าในแต่ละวันเรากินเข้าไปมากน้อยเท่าไหร่