แพทย์เตือน!! แผลคล้ายแมลงกัด อาจติดเชื้อวัณโรคผิวหนังได้
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตุ่มบนผิวหนังค่อยๆ ขยายออกและอาจแตกออกเป็นแผล ขนาดของแผลอาจเซาะลึกลงไปถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง มีเนื้อตายได้ ผู้ป่วยมักไม่มีอาการเจ็บที่แผล รู้สึกสบายดี เนื่องจากเส้นประสาทที่บริเวณบาดแผลถูกทำลายโดยพิษจากเชื้อที่เรียกว่า Mycolactone บาดแผลอาจเกิดที่ส่วนใดของร่างกายก็ได้ แต่มักพบในส่วนของแขน ขามากกว่า ในผู้ใหญ่ แผลอาจมีขนาดใหญ่ และอาจขยายลามเป็นทั้งขาได้ แผลอาจเป็นอยู่ได้นานเป็นหลายเดือนหรือหลายปีได้ โดยอาจมีการหาย หรือเป็นใหม่ได้ในคนๆ เดียวกัน อาจหายโดยมีแผลเป็นหรือ อาจส่งผลให้มีอาการขาบวมจากการที่มีแผลเป็น และการไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองที่ไม่ดี จะไม่พบอาการข้างเคียงของต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาการข้างเคียงทางร่างกายอื่นๆ ที่พบร่วมกัน จนกว่าจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่มเติมเข้าไปในผู้ป่วย การวินิจฉัยแยกโรค ในระยะแรกที่เป็นก้อนใต้ผิวหนังต้องแยกกับกลุ่มที่มีสิ่งแปลกปลอมทิ่มแทงเข้าไปในผิวหนัง (Foreign body granuloma) แมลงกัด (Insect bite reaction) การติดเชื้อราที่ผิวหนังชั้นลึก ซีสต์ใต้ผิวหนัง (Infected sebaceous cyst) ไขมันใต้ผิวหนังอักเสบ (Panniculitis) ในระยะที่เป็นแผลต้องแยกโรคกับโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรีย หรือ โรคเนื้อเน่า (necrotizing faciitis)
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยที่มีอาการควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และควรได้รับการเพาะเชื้อจากบาดแผล เพื่อให้ทราบถึงเชื้อที่เป็นสาเหตุ และเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการรักษาควบคู่ไปกับการได้รับการดูแลแผลที่ถูกวิธี