วัคซีนโควิด-19 จำเป็นอย่างไร?


วัคซีนโควิด-19 จำเป็นอย่างไร?

หนทางหนึ่งที่จะช่วยหยุดการระบาดของโรคโควิด-19 นั่นคือการที่คนส่วนใหญ่จากทั่วโลกได้รับวัคซีน วันนี้เราจะพาไปรู้จักชนิดและความสำคัญของวัคซีนกัน

เทคโนโลยีการผลิตวัคซีน
วัคซีนโควิด-19 มีเทคโนโลยีการผลิตที่หลากหลาย ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

1.วัคซีนที่มีสารพันธุกรรม (DNA หรือ RNA) เป็นส่วนประกอบ วัคซีนกลุ่มนี้จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยสารพันธุกรรมของไวรัสจะเข้าไปในเซลล์ของผู้รับวัคซีนเพื่อถอดรหัสพันธุกรรม วัคซีนกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย live attenuated virus vaccine, recombinant virus vector vaccine, RNA based vaccine และ DNA based vaccine

2.วัคซีนที่ไม่ต้องอาศัยพาหะในการสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากผลิตจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้วหรือโปรตีนของเชื้อไวรัสในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยไม่ผ่านเซลล์ของผู้รับวัคซีน ประกอบไปด้วย recombinant protein subunit vaccine, virus like particle vaccine, synthetic peptides vaccine, inactivated virus vaccine และเนื่องด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างกันทำให้วัคซีนมีข้อดีและข้อจำกัดที่ต่างกัน

วัคซีนโควิด-19 ที่มีในประเทศไทย
ปัจจุบัน (ณ เดือน เมษายน 2564) ในประเทศไทยมีวัคซีนที่นำเข้ามา 2 ชนิดคือ

1.COVID-19 Vaccine AstraZeneca (recombinant virus vector vaccine) ซึ่งเป็นวัคซีนแบบใช้ไวรัสอื่นเป็นพาหะ โดยบริษัท Oxford-AstraZeneca ประเทศอังกฤษ การฉีดจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 4-12 สัปดาห์ ควรให้ในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และตามที่มีการศึกษาในผู้สูงอายุเกิน 65 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี องค์การอนามัยโลกและไทยจึงรับรองให้ใช้ในผู้สูงอายุ ประสิทธิภาพโดยรวม ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ ร้อยละ 70.4 การป้องกันโรคโควิด-19 ที่่มีอาการรุุนแรง ร้อยละ 100

2.CoronaVac หรือ Sinovac COVID-19 vaccine (Inactivated Vaccine) วัคซีนเชื้อตาย โดยบริษัท Sinovac สาธารณรัฐประชาชนจีน การฉีด จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกันประมาณ 2-4 สัปดาห์ กำหนดให้ในผู้ที่มีอายุ 18-59 ตามที่มีการศึกษาในผู้ที่อายุเกินกว่า 60 ปี พบว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนสูงพอๆ กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า และมีผลข้างเคียงไม่ต่างกัน ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ โดยรวมจากการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้้องต้นในการศึกษาแต่ละประเทศ อินโดนีเซีย ร้อยละ 65.3 ตุรกี ร้อยละ 91.25 บราซิล ร้อยละ 77.9 ประสิทธิภาพโดยรวมร้อยละ 100 การป้องกันโรคโควิด-19 ที่่มีอาการรุุนแรง ร้อยละ 100 ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไม่อาจป้องกันการติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่สามารถช่วยลดความรุนแรงโรคและลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

ใครบ้างควรได้รับวัคซีน
ประชาชนทุกคนควรได้รับวัคซีนโควิด-19 แต่ในขณะที่วัคซีนยังมีจำนวนจำกัด กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดให้วัคซีนในบุคคลกลุ่มเสี่ยงก่อน ได้แก่

-บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน

-ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน

-โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด
-ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

-เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม./อสต. ทหาร ตำรวจ จะต้องคัดกรองผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศและในพื้นที่ที่มีการระบาด

ข้อห้ามและข้อควรระวังก่อนฉีดวัคซีน
-ผู้ที่เคยมีประวัติแพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีน
-ผู้ที่มีไข้ หรือเจ็บป่วยควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน

การเตรียมความพร้อมก่อนรับวัคซีน

-ผู้รับวัคซีนเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ผ่อนคลาย เพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน หากมีข้อสงสัยให้สอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่
-ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เลี่ยงการดื่มชา กาแฟ

ผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน

อาการทั่วไปที่เกิดได้บ่อย อาทิ อาการปวด บวม คัน แดงบริเวณที่ฉีด อาการอื่นๆ อาจพบ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว หรือมีไข้ ส่วนมากอาการไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 1-2 วัน ซึ่งหากมีอาการเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดหัว สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้

อาการรุนแรงที่พบได้น้อย เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นขึ้นทั้งตัว หน้าบวม คอบวม หายใจลำบาก ใจสั่น วิงเวียนหรืออ่อนแรง หรือมีอาการแขนขาอ่อนแรง เป็นต้น โดยอาการเกือบทั้งหมดจะดีขึ้นและหายเป็นปกติในเวลาอันสั้น ซึ่งหากมีอาการรุนแรง ให้มาพบแพทย์โดยทันที

การปฎิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน
1.หลังการฉีดวัคซีนผู้รับบริการจะต้องอยู่เฝ้าสังเกตอาการที่สถานพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที โดยให้สังเกตอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น และให้แจ้งอาการเหล่านั้นแก่แพทย์หรือพยาบาลที่ดูแล

2.ควรสังเกตอาการต่อที่บ้าน หากมีอาการข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลที่เข้าไปรับบริการ

3.ควรรับวัคซีนตามกำหนด และเก็บบันทึกการรับวัคซีนไว้เพื่อเป็นหลักฐาน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์