ยังไงกันแน่? ข่าวลือวัคซีน mRNA หายนะที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์
ปัจจุบันวัคซีนดังกล่าวซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมีอยู่ด้วยกัน 2 ยี่ห้อ ได้แก่ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ / ไบออนเทค (Pfizer / BioNTech) และวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) โดยใช้ป้องกันและยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก
คำเตือนถึง "อันตรายต่อมนุษยชาติ"
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา มีการโพสต์ข้อความและส่งต่อคลิปวิดีโอในสื่อสังคมออนไลน์ช่องทางต่าง ๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทิวบ์ และแอปพลิเคชันไลน์ โดยอ้างว่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ส่วนหนึ่งในต่างประเทศ ได้ออกมาเตือนให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้จะเข้าไปผลิตสารพิษในร่างกาย รวมทั้งอาจส่งผลเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมมนุษย์ได้ ซึ่งในระยะยาวแล้ว การรณรงค์ให้ผู้คนพากันมาฉีดวัคซีนชนิดนี้ ไม่ต่างอะไรกับแผนลดจำนวนประชากรมนุษย์
หนึ่งในคลิปวิดีโอที่มีการแชร์กันมากที่สุด เป็นการให้สัมภาษณ์ของนายแพทย์สุจริต ภักดี (Dr. Sucharit Bhakdi) ผู้เชี่ยวชาญด้านจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาชาวไทยในเยอรมนี ซึ่งพูดคุยกับอเล็กซ์ นิวแมน บรรณาธิการอาวุโสของนิตยสารข่าว The New American เกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่เปิดเผยว่า การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนกนั้นเป็นเรื่องลวงโลก
นอกจากนี้ เขายังกล่าวเตือนถึงมหันตภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอว่า จะมีผู้คนนับล้านล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เพราะสารพันธุกรรมในวัคซีนจะไปกระตุ้นให้ยีนในเซลล์ร่างกาย ผลิตโปรตีนแบบเดียวกับส่วนหนามของไวรัสออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งในที่สุดโปรตีนนี้จะกลายเป็นขยะหรือสารพิษที่สะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้รับวัคซีนมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรุนแรง จนเกิดลิ่มเลือด อาการแขนขาอ่อนแรงเป็นอัมพาต หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้
ข้อตอบโต้จากอีกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ได้ออกมาโต้แย้งความเห็นของ นพ. สุจริต ว่า ไม่ถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันในวัคซีนที่ถูกฉีดเข้ากระแสเลือด สามารถเข้าถึงเซลล์ถุงลมในปอดได้ ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ตามปกติ ส่วนที่ว่าจะเกิดการสร้างโปรตีนที่เป็นสารพิษนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นกระบวนการสร้างแอนติเจน ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่สารพิษแต่อย่างใด
รศ. ดร. เจษฎา ยังตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของ นพ. สุจริตว่า แม้เขาจะเคยมีผลงานวิจัยในแวดวงวิชาการเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากเกษียณอายุแล้ว งานเขียนภาษาเยอรมันของเขามีความโน้มเอียงไปในทางต่อต้านการฉีดวัคซีน
เมื่อ 28 ค.ค. 2020 มหาวิทยาลัยไมน์ซ (University of Mainz) ในเยอรมนี ซึ่ง นพ. สุจริตเคยเป็นอาจารย์ประจำอยู่ ออกแถลงการณ์ชี้แจงจุดยืนว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเขาในเรื่องการระบาดของโรคโควิด-19
28.10.2020
นอกจากความเห็นของ นพ. สุจริตแล้ว ในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ยังมีผู้พยายามเผยแพร่ข้อมูลต่อต้านการฉีดวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเออีกเป็นจำนวนมาก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการฉีดวัคซีนที่มีอยู่เดิมได้จับมือกับขบวนการอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวาสุดโต่ง เช่นกลุ่ม Alternative Right (Alt-Right) ร่วมกันโหมกระพือข่าวแง่ลบในสื่อโซเชียล ส่วนกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ว่า แพลตฟอร์มออนไลน์หลายแห่งที่มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยข่าวกรองรัสเซีย เป็นผู้กระจายข่าวบิดเบือนเกี่ยวกับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ และนำมาใช้งานจริงกับมนุษย์เป็นครั้งแรกในการผลิตวัคซีนโควิด แต่การคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอนั้นมีมานานกว่า 30 ปีแล้ว เพื่อทำให้สารพันธุกรรมบอบบางที่เรียกว่า "แมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ" หรืออาร์เอ็นเอผู้ส่งสาร สามารถนำชุดคำสั่งบางอย่างเข้าไปในเซลล์ร่างกาย แล้วกำหนดให้หน่วยพันธุกรรมหรือยีนผลิตโปรตีนต่าง ๆ ออกมาได้ตามความต้องการ ซึ่งจะสอดรับกับการรักษาโรคหลากหลายชนิด
ในกรณีของวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอที่ใช้กับโรคโควิด-19 ชิ้นส่วนของอาร์เอ็นเอผู้ส่งสารจะถูกเคลือบไว้ด้วยโมเลกุลไขมันเพื่อความทนทานไม่แตกสลายง่าย เมื่อวัคซีนถูกฉีดเข้าร่างกายแล้ว เอ็มอาร์เอ็นเอจะเข้าสู่เซลล์และกระตุ้นให้มีการผลิตโปรตีนที่คล้ายกับส่วนหนามของไวรัส SARS-CoV-2 ยื่นออกมาจากผิวเซลล์ ซึ่งหนามโปรตีนที่ร่างกายของเราสร้างขึ้นมาเองนี้ จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเริ่มสร้างแอนติบอดีและสะสมไว้จนมากพอที่จะต่อสู้กับการติดเชื้อในอนาคตได้
เจ้าหน้าที่ของเอฟดีเอยังระบุว่า หากจะมีผลข้างเคียงรุนแรงใด ๆ เกิดขึ้นจากวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ ก็จะสามารถทราบได้ตั้งแต่ภายใน 2 เดือนแรกของการฉีดวัคซีนให้คนทั่วไปแล้ว ซึ่งสถิติในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาของวัคซีนโควิดจากไฟเซอร์และโมเดอร์นา ชี้ว่าทั้งสองยี่ห้อมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมทั้งมีสถิติการรายงานผู้เสียชีวิตและกรณีผลข้างเคียงรุนแรงเข้ามาในระดับต่ำ
ยืนยันวัคซีนไม่สร้างสารพิษ - ไม่เปลี่ยนแปลงพันธุกรรมมนุษย์
ส่วนที่มีความกังวลกันมากว่า หากใช้สารพันธุกรรมอย่างเอ็มอาร์เอ็นเอมาสร้างภูมิคุ้มกัน จะส่งผลให้พันธุกรรมของมนุษย์เองเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เรื่องนี้ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐฯ หรือซีดีซี (CDC) บอกไว้ชัดเจนว่า เอ็มอาร์เอ็นเอในวัคซีนจะไม่ทำให้เราเป็นมนุษย์กลายพันธุ์แบบในภาพยนตร์แต่อย่างใด
นั่นเป็นเพราะว่า โมเลกุลของเอ็มอาร์เอ็นเอในวัคซีนไม่ได้เข้าถึงนิวเคลียสหรือใจกลางของเซลล์ จึงไม่อาจเข้าไปพัวพัน ทำปฏิกิริยา หรือส่งผลกระทบต่อสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ (DNA) ที่อยู่ภายในนิวเคลียสได้
นอกจากนี้ ตัวของวัคซีนเองยังไม่มีสารพิษปะปนอยู่ตามที่ตกเป็นข่าวเล่าลือกัน โดยโมเลกุลไขมันที่ใช้เคลือบสายเอ็มอาร์เอ็นเอเอาไว้ เป็นชนิดที่ไม่มีสารต้านการแช่แข็ง (antifreeze) ที่เป็นพิษผสมอยู่
"หนามโปรตีนที่วัคซีนสั่งให้เซลล์ผลิตขึ้น จะคงอยู่ในร่างกายเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งก่อนสลายตัวไปในที่สุด วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอมีการออกแบบมาให้หนามโปรตีนนี้มีความสามารถยึดเกาะกับเซลล์ได้จำกัด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่เป็นพิษ" ศ. คอยน์กล่าว
อีกข่าวลือหนึ่งที่ส่งผ่านทางโลกโซเชียลไทย คือ วัคซีนชนิดนี้ก่อให้เกิดโรคหัวใจ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หน.ศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ โรงพยาบาลศิริราช ชี้แจงเรื่องนี้ทางคลับเฮาส์ เมื่อ 13 มิ.ย. ว่า
"พบคนที่เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนจริง เป็นข้อมูลทางการของ CDC (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค) ของสหรัฐฯ ผ่านระบบ VAERS มีการค้นพบว่าการใช้วัคซีน mRNA ในกลุ่มคนอายุน้อยนั้นเกิดอาการ Myocarditis หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบขึ้น ตามสถิติก็คือพบในการฉีดเข็มสองเป็นหลัก ช่วงอายุที่เกิดคือ 16-24 ปี และส่วนใหญ่เกิดในผู้ชาย อัตราการเกิดอยู่ที่ประมาณ 1.6:100,000 ประชากร ในขณะนี้ยังไม่ทราบว่ากระบวนการเกิดอาการที่ว่านั้นมาจากอะไร แต่หลังจากเกิดอาการนี้ ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดนั้นหายเป็นปกติ กลับบ้านได้ มีส่วนน้อยมากที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล"