ระวัง! โรคไข้หูดับ ดับแล้ว 3 รายเพราะใช้ตะเกียบกินหมูกระทะ


ระวัง! โรคไข้หูดับ ดับแล้ว 3 รายเพราะใช้ตะเกียบกินหมูกระทะ


กรณี โรคไข้หูดับ ที่แพทย์เตือนว่าการกินหมูกระทะโดยใช้ตะเกียบอันเดียวทั้งคีบเนื้อดิบปิ้งและคีบเนื้อทานมีความเสี่ยงที่จะป่วย โรคไข้หูดับ สืบเนื่องจากที่ นายสานิตย์ ศรีทวี นายอำเภอเสิงสาง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า

#นอกจากโควิด19 ยังมีโรคไข้หูดับอีก #ขอให้หยุดกินหมูดิบในเขตอำเภอเสิงสางด่วนที่สุดครับ-วันนี้ได้รับรายงานว่าขณะนี้มีการแพร่ระบาดในพื้นที่อำเภอเสิงสางแล้ว 14 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3 ราย-ขอให้งดกินหมูดิบและสัมผัสหมูดิบ ซึ่งอาจจะติดเชื้อ โดยเฉพาะเขียงหมูที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ

ทั้งนี้ นายสานิตย์ ศรีทวี นายอำเภอเสิงสาง เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานว่า ในพื้นที่อำเภอเสิงสางมีประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคหูดับ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค.-9 ก.ย. จำนวนทั้งสิ้น 15 ราย และเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวจำนวน 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายได้เสียชีวิตก่อนที่ผลตรวจจะออกมาว่าเป็นโรคหูดับ ทราบว่า 2 ใน 3 อยู่ในพื้นที่บ้านโคกสูง ม.3 ต.สระตะเคียน และบ้านซับ ม.4 ต.สิงสาง ทั้ง 2 รายได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา


ระวัง! โรคไข้หูดับ ดับแล้ว 3 รายเพราะใช้ตะเกียบกินหมูกระทะ


อย่างไรก็ตาม นายสานิตย์ ศรีทวี นายอำเภอเสิงสาง กล่าวถึงมาตรการแก้ไขสถานการณ์ว่า จะเร่งให้มีการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงโทษของการรับประทานอาหารที่เป็นหมูดิบ และการสัมผัสหมูที่อาจจะติดเชื้อของโรคหูดับ ซึ่งหากบุคลดังกล่าวมีบาดแผลแล้วไปสัมผัสหมูที่ติดเชื้อเชื้อโรค อาจจะเข้าทางกระแสเลือดได้ พร้อมทั้งจะมีการจัดระบบสำหรับผู้ประกอบการเลี้ยงหมูในพื้นที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายและถูกสุขอนามัย ได้ประสานไปยังปศุสัตว์จังหวัด จากนี้จะมีหนังสือเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินการในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการในพื้นที่ที่จะสามารถนำหมูเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์ได้อย่างถูกต้อง

อนึ่งในพื้นที่อำเภอเสิงสางมีโรงฆ่าสัตว์ขนาดเล็กเพียงแห่งเดียว จึงทำให้มีกลุ่มลักลอบค้าหมูยังไม่ถูกต้อง จึงเกิดปัญหาหมูติดโรคหลุดรอดเข้ามาในพื้นที่ เชื่อว่ากลุ่มที่ค้าหมูที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะได้เข้ามาอยู่ในระบบที่ถูกต้อง จากนั้นได้มอบหมายให้กับ อปท.ในพื้นที่ร่วมกับปศุสัตว์อำเภอและสาธารณสุขอำเภอ ลงพื้นที่ตรวจสอบและสำรวจโรงฆ่าสัตว์ หรือโรงชำแหละ เพื่อจัดทำทะเบียนและควบคุมสอบสวนโรค พร้อมทั้งการติดตามได้ง่ายในอนาคตต่อไป

ขณะที่นายแพทย์มงคล เกิดแปลงทอง นายแพทย์ประจำโรงพยาบาล ประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลเสิงสาง ตัวแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลเสิงสาง ซึ่งเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลโรคหูดับในพื้นที่ เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมมีผู้ป่วย 1 รายในพื้นที่ได้เดินทางเข้ามาทำการรักษาภายในโรงพยาบาลเสิงสาง โดยมีอาการของโรคปอดติดเชื้อ ก่อนที่ทีมแพทย์จะตรวจพบเชื้อของโรคหูดับในกระแสเลือด


ระวัง! โรคไข้หูดับ ดับแล้ว 3 รายเพราะใช้ตะเกียบกินหมูกระทะ


ต่อมาในต้นเดือนกันยายน พบว่า มีผู้ป่วยจำนวน 4-5 รายเดินทางเข้ามาทำการรักษาด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง จนถึงขั้นมีอาการไตวายและระบบการหายใจล้มเหลว ทีมแพทย์ต้องใส่ท่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ต่อมามีผู้ป่วยเดินทางเข้ามารักษาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยอาการดังกล่าว พร้อมทั้งมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาการหูดับตามมาเพิ่ม หลังจากนั้นแพทย์ได้รอผลการเพาะเชื้อในเลือดประมาณ 3-5 วัน ปรากฏพบว่าติดเชื้อ สเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) ซึ่งเป็นเชื้อที่ต้องเฝ้าระวังเพราะเป็นการติดต่อจากการกินหมูดิบ หรือการสัมผัสเนื้อหมูที่เชื้อโรคสามารถติดต่อได้บาดแผล ขณะนี้พบผู้ป่วยในพื้นที่อำเภอเสิงสางเข้าข่ายติดเชื้อทั้งหมด 15 ราย มีการยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว 13 ราย และเสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ตับวาย ไตวาย และระบบการหายใจล้มเหลวจำนวน 3 ราย

ด้านโรคไข้หูดับสามารถติดเชื้อโดยตรงจากการที่ผู้ป่วยรับประทานหมูดิบและสามารถติดเชื้อจากการสัมผัสหมูโดยตรงหากมีบาดแผลบริเวณร่างกายเข้าสู่กระแสเลือด แม้จะไม่ได้รับประทานหมูก็ตาม ขณะเดียวกันยังมีผู้ป่วยบางราย จากการสอบถามไม่มีพฤติกรรมในการรับประทานหมูดิบ แต่ชอบรับประทานหมูกระทะเป็นประจำ จึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะย่างหมูไม่สุกดี และใช้ตะเกียบอันเดียวกันที่ใช้คีบหมูดิบ และตะเกียบที่ใช้ย่างหมูรับประทาน ทำให้เชื้อปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้ ส่วนอีกกรณีผู้ที่ทำงานในเขียงหมู อาจจะไม่ได้รับประทานหมูดิบ แต่เป็นผู้ที่สัมผัสหมูโดยตรง หากมีบาดแผลก็สามารถติดเชื้อโรคดังกล่าวผ่านผิวหนังได้




สำหรับอาการของผู้ติดเชื้อโรคหูดับ หลังจากได้รับเชื้อภายใน 3 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 3 วัน จะพบอาการเบื้องต้นมีไข้ ถ่ายเหลว และปวดหัว หากติดเชื้อแล้วไม่ได้ทำการรักษาโดยเร็ว เมื่อเชื้อขึ้นไปถึงสมองอาจจะทำให้เสียชีวิต หรือหูดับได้

ในส่วนของการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคหูดับมี 3 ส่วนด้วยกัน โดยต้องเริ่มจากผู้เลี้ยงหมูและผู้ขายหมู ต้องดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยให้ดีสำหรับการเลี้ยงหมู และไม่จำหน่ายหมูป่วยให้กับผู้บริโภค ส่วนที่ 2 คือ ผู้ที่ประกอบอาหารหากมีบาดแผลต้องสวมถุงมือเพื่อป้องกันเชื้อ ส่วนที่ 3 คือ ผู้บริโภคไม่ควรรับประทานหมูดิบ เช่น เมนูลาบดิบ ก้อยดิบ หากจะรับประทานหมูควรปรุงให้สุก โดยใช้ความร้อนอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้อดังกล่าว

นอกจากนี้ ก่อนหน้าไม่กี่สัปดาห์ ทางกรมปศุสัตว์ ก็ออกมาเตือนเรื่อง พบการระบาดของโรคติดเชื้อหูดับจากเนื้อหมู มีผู้ป่วยซึ่งเป็นชายทั้งหมด รวม 12 ราย ในพื้นที่ จ.น่าน มีอาการวิกฤตต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 2 ราย ขณะที่พ่อเฒ่าอายุ 86 ปี เสียชีวิต 1 ราย ล่าสุด นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากกรณีปรากฏข่าวดังกล่าว กรมปศุสัตว์ขอเตือนผู้บริโภคว่า ไข้หูดับ หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค็อกคัส ซูอิส (S. suis) เกิดจากการที่ผู้บริโภคไทยบางส่วนยังเลือกรับประทานเนื้อสุกร หรือ เลือดสุกรดิบ หรือ สุก ๆ ดิบ ๆ เช่น เมนูลาบ หลู้ ก้อย ไม่ว่าจะด้วยความชอบส่วนตัวหรือการบริโภคตามท้องถิ่นนิยม แต่โรคนี้สามารถเลี่ยงได้ง่าย ๆ ด้วยการปรุงเมนูเหล่านี้ให้เนื้อสุกรสุกเสมอ เพราะการทานดิบ ๆ ไม่คุ้มเลยกับความเสี่ยงจากโรคไข้หูดับที่มีอันตรายถึงชีวิต เชื้อ S. suis นี้หากสุกรมีภาวะภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง เช่น ช่วงรอยต่อปลายฝนต้นหนาว หรือ ในสุกรที่อายุน้อยหรือสุกรที่ไม่ร่างกายแข็งแรง อาจทำให้เชื้อนี้ฉวยโอกาสเข้าสู่ร่างกายสุกรได้ ซึ่งโดยปกติจะแฝงตัวตามต่อมน้ำเหลือง เช่น ต่อมทอนซิล หรืออาจเข้าสู่กระแสเลือด ในบางตัวอาจแสดงภาวะป่วยออกมาได้ ซึ่งหากผู้บริโภครับประทานเนื้อสุกรที่ปนเปื้อนเชื้อนี้แล้วปรุงไม่สุกจะก่ออัตรายในการเป็นไข้หูดับได้


ระวัง! โรคไข้หูดับ ดับแล้ว 3 รายเพราะใช้ตะเกียบกินหมูกระทะ


"กรมปศุสัตว์จึงขอเตือนไปยังพี่น้องประชาชนทุกคน ไม่ควรซื้อเนื้อสุกรที่มีกลิ่นคาว สีแดงจัด สีคล้ำ มีฝีหนอง มีเม็ดสาคู หากเป็นเนื้อก้อนใหญ่ เช่น สันคอ ควรหั่นตรวจสอบก่อนซื้อทุกครั้ง ส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด ไม่ใช่เพียงเนื้อสุกรเท่านั้น ต้องเน้นการทำสดใหม่ โดยปรุงให้สุกทุกครั้ง ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ ทั้งเชื้อ S. suis หรือ COVID-19 ขอเน้นย้ำให้เลิกรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือ สุก ๆ ดิบ ๆ ก็จะลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ ได้มากมาย แนะนำว่าหากมีแผลที่มืออาจสวมถุงมือเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์โดยตรง ทำให้ลดโอกาสติดเชื้อเข้าทางบาดแผลได้ ไม่ใช้เขียงของดิบและของสุกร่วมกัน และหากรับประทานอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ควรทำให้สุกก่อนทุกครั้ง แยกอุปกรณ์ ที่ใช้หยิบเนื้อสุกและดิบออกจากกัน" อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวเตือนประชาชนด้วยความหวังดี

โอกาสนี้ขอแนะนำให้ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อสุกรจากสถานที่จำหน่ายที่เชื่อถือได้ เช่น การสังเกตสถานที่จำหน่ายที่มีตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ซึ่งกรมปศุสัตว์รับรอง เนื่องจากมีการผลิตสุกรตลอดห่วงโซ่ที่ควบคุมโดยกรมปศุสัตว์ ทั้งการเลี้ยงในฟาร์มที่อยู่ภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรหรือ GAP (Good Agricultural Practices) เน้นการจัดการให้ฟาร์มมีระบบ Biosecurity ที่เข้มงวด เพื่อป้องกันโรคและจัดการให้สุกรมีสุขภาพที่ดี สุกรต้องผ่านโรงเชือดที่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งจะมีการตรวจโรคสุกรโดยพนักงานตรวจโรคสัตว์ทำหน้าที่คัดกรองสุกรป่วยที่ไม่เหมาะสมไม่ให้เข้าผลิต

จากนั้นเนื้อสุกรจะส่งไปจำหน่ายยังสถานที่ที่สะอาดถูกสุขลักษณะที่กรมปศุสัตว์รับรองทั่วประเทศ ในโครงการ "ปศุสัตว์ OK" ทั้งในตลาดสด หรือ ในศูนย์การค้า โดยทุกแห่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของเนื้อสัตว์ได้ตลอดสายการผลิต ท้ายนี้ถึงแม้จะซื้อจาก"ปศุสัตว์ OK" ก็ขอย้ำให้ปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี อัมรินทร์TV


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์