ผู้เชี่ยวชาญอีกฝ่ายชี้ เดลตาครอน อาจเป็นการถอดรหัสพลาด


 ผู้เชี่ยวชาญอีกฝ่ายชี้ เดลตาครอน อาจเป็นการถอดรหัสพลาด


จากกรณีผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยไซปรัส กล่าวถึงการค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์แบบลูกผสม ระหว่างเชื้อเดลตา กับเชื้อโอมิครอน กลายเป็น "เดลตาครอน" โดยเป็นเชื้อโอมิครอนภายใต้จีโนมของสายพันธุ์เดลตา และมีการยืนยันผู้ติดเชื้อในไซปรัสแล้ว 25 คนนั้น

พญ.ครูติกา คุปปาลี หนึ่งในคณะทำงานด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลก ( ดับเบิลยูเอชโอ ) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า "เดลตาครอนไม่มีอยู่จริง" แต่น่าจะเป็นผลจากการปนเปื้อนระหว่างตัวอย่างของเชื้อเดลตากับเชื้อโอมิครอน ส่งผลให้การถอดรหัสพันธุกรรมผิดพลาด

เช่นเดียวกัน ศ.ทอม พีค็อก ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาของอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่าเป็นการปนเปื้อนระหว่างเชื้อเดลตากับเชื้อโอมิครอน และให้ความเห็นเสริมด้วยว่า หากเป็นสายพันธุ์ลูกผสมจริง ผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 25 คนที่มีการยืนยันตามรายงานนั้น ควรอยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน ไม่ใช่กระจายกันไปแบบนี้

อนึ่ง การค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนาพันธุ์ผสม ที่สรุปแล้ว "เป็นความสับสน" เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยย้อนกลับไปเมื่อเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว รัฐบาลเวียดนามพบการกลายพันธุ์ "แบบลูกผสม" ของเชื้อไวรัสโคโรนาจากอินเดีย คือ เดลตา หรือ บี1617 กับเชื้อไวรัสโคโรนาจากสหราชอาณาจักร คือ อัลฟา หรือ บี117 โดยอธิบายว่า เป็นเชื้อเดลตาซึ่งมีลักษณะของการกลายพันธุ์ครั้งใหม่ ในรูปแบบเดียวกับการกลายพันธุ์ของเชื้ออัลฟา

อย่างไรก็ตาม นพ.ปาร์ค กี-ดง ผู้แทนดับเบิลยูเอชโอประจำเวียดนาม กล่าวว่า เชื้อไวรัสโคโรนาที่กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามให้ข้อมูลไว้นั้น ไม่ใช่การกลายพันธุ์ซ้ำซ้อนของเชื้อไวรัสโคโรนาสองสายพันธุ์ หรือการรวมตัวทางพันธุกรรมระหว่างเชื้อสายพันธุ์ใด แต่ยังคงเป็น "เชื้อเดลตา"


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
รวมข่าวในกระแส คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์