แกะรอย ฝีดาษลิง โรคนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร? ก่อนระบาดไปทั่วโลก
เนื่องจาก โรคฝีดาษลิง (monkeypox) แพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งกระตุ้นให้มีการแย่งชิงวัคซีนกัน ทีมข่าว TNN ช่อง 16 พาไปแกะรอย เพื่อติดตามว่า ฝีดาษลิง ระบาดไปอย่างไร ตั้งแต่ปรากฏโฉมครั้งแรกในแอฟริกาช่วงทศวรรษที่ 1970
เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 16,000 คน จาก 75 ประเทศทั่วโลก และจนถึงตอนนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 คน "เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" ซึ่งเป็นการเตือนระดับสูงสุด
โรคฝีดาษลิง ซึ่งใช้ชื่อนี้เพราะพบครั้งแรกในลิงตัวหนึ่ง คล้ายคลึงกับไวรัสไข้ทรพิษ ที่ถูกกำจัดหมดไปจากโลกแล้วในปี 1980 แต่อาการรุนแรงน้อยกว่ามาก ปัจจุบันนี้ ฝีดาษลิงกำลังระบาดออกนอกแอฟริกา แต่ฝีดาษลิงสายพันธุ์ที่กำลังระบาดนอกแอฟริกาขณะนี้ รุนแรงน้อยกว่า 2 สายพันธุ์ที่รู้จักกันก่อนหน้านี้
ปี 1970 : พบฝีดาษลิงในมนุษย์ครั้งแรก
"ฝีดาษลิง" WHO ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
ด่วน!จนท.กัมพูชารวบ ชายไนจีเรียผู้ป่วย 'ฝีดาษลิง' ได้แล้วที่พนมเปญ
5 อาการเข้าข่ายเสี่ยงป่วย ‘โรคฝีดาษลิง' หากเป็นแบบนี้รีบพบแพทย์
ฝีดาษลิงในมนุษย์ พบครั้งแรกในเด็กชายอายุ 9 ปี เมื่อปี 1970 ในประเทศซาอีร์ ซึ่งปัจจุบันนี้ คือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกากลางและตะวันตกไปแล้ว ซึ่งมีรายงาน 11 ประเทศพบผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสตัวนี้ แพร่เชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นหนู หรือมนุษย์
ปี 2003 : พบการระบาดครั้งแรกนอกแอฟริกา
ในเดือนมิถุนายน 2003 โรคฝีดาษลิงไปโผล่ในสหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกที่พบนอกแอฟริกา โดยเชื่อว่าโรคนี้แพร่ระบาด หลังจากหนู ซึ่งนำเข้าสหรัฐฯจากประเทศกานา แพร่เชื้อให้ "แพรรีด็อก" (Prairie dog) หรือ "กระรอกดิน" ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี รายงานพบผู้ติดเชื้อ 87 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต
ปี 2017 : ฝีดาษลิง เป็นโรคประจำถิ่นในไนจีเรีย
ปี 2017 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในไนจีเรีย โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 คน และอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 3 จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก จากนั้น ในอีก 5 ปีต่อมา มีรายงานพบผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วโลกในกลุ่มนักเดินทางที่เดินทางออกจากไนจีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษ, อิสราเอล, สิงคโปร์และสหรัฐฯ
เดือนพฤษภาคม 2022 : ผู้ป่วยฝีดาษลิงนอกแอฟริกาเพิ่มมากขึ้น
ในเดือนพฤษภาคม 2022 มีการตรวจพบผู้ป่วยจำนวนมากในหลายประเทศนอกแอฟริกา ในหมู่ประชาชนที่ไม่ได้เดินทางเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่เกิดการระบาดอยู่ในกลุ่ม "ชายรักชาย" โดยมียุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดครั้งใหม่
วันที่ 20 พฤษภาคม อังกฤษตรวจพบผู้ติดเชื้อ 20 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มชายรักชาย ซึ่งในวันเดียวกันนี้ WHO ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ 80 คนทั่วโลก รวมทั้งออสเตรเลีย, เบลเยียม, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, โปรตุเกส, สเปนและสวีเดน
ปลายเดือนพฤษภาคม 2022 : เริ่มฉีดวัคซีน
ในวันที่ 23 พฤษภาคม สหรัฐฯ แถลงว่า กำลังเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษลิงด้วย ให้ประชาชนที่ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง จากนั้น ในอีก 3 วันถัดมา สหภาพยุโรป หรืออียู ระบุว่า กำลังดำเนินการสั่งซื้อวัคซีน เช่นเดียวกับที่เคยทำกับไวรัสโควิด-19
เดือนมิถุนายน 2022 : พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คน
ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส กล่าวว่า มีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่ยืนยันแล้วมากกว่า 1,000 คน จาก 29 ประเทศ ซึ่งไวรัสฝีดาษลิงไม่เคยระบาดมาก่อน
21 มิถุนายน อังกฤษประกาศแผนการเสนอฉีดวัคซีนให้กลุ่มชายรักชาย และชายที่มีความสัมพันธ์ได้ทั้งสองเพศ ที่มีคู่นอนหลายคน
ผู้เชี่ยวชาญของ WHO ประชุมกันเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน เพื่อหารือภัยคุกคามดังกล่าว แต่ก็มีมติให้โรคฝีดาษลิงยังไม่เข้าองค์ประกอบที่จะประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก
กรกฎาคม 2022 : พบผู้ติดเชื้อ 14,000 คนใน 70 ประเทศ
วันที่ 8 กรกฎาคม หน่วยงานสาธารณสุขในฝรั่งเศส เริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันล่วงหน้าให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งรวมทั้งกลุ่มชายรักชาย, คนข้ามเพศ และกลุ่มที่ทำงานด้านการให้บริการทางเพศ
วันที่ 14 กรกฎาคม ซีดีซีของสหรัฐฯ รายงาน พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 11,000 คนในประมาณ 60 ประเทศ ซึ่งปกติไม่เคยพบการระบาดของฝีดาษลิง ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป, สหรัฐฯและแคนาดา โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในนิวยอร์ก เพิ่มขึ้นสองเท่าภายในสัปดาห์เดียว เป็นหลายร้อยคน จากนั้นก็ปรากฏภาพประชาชนเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อรอรับวัคซีน ที่ยังมีไม่เพียงพอ
20 กรกฎาคม เทดรอส ประกาศว่า มีรายงานมาที่ WHO ว่าพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเกือบ 14,000 คนในปีนี้ จากมากกว่า 70 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 5 คน ทั้งหมดอยู่ในแอฟริกา เขากล่าวว่า มีอยู่ 6 ประเทศที่รายงานพบผู้ติดเชื้อคนแรกในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่บางประเทศการเข้าถึงการวินิจฉัยโรคและวัคซีนอย่างจำกัด ทำให้ยากที่จะติดตามและหยุดยั้งการระบาดของโรค
องค์การอนามัยโลก เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญครั้งใหม่ในวันที่ 21 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาว่าจะประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกหรือไม่ และในวันเสาร์ที่ผ่านมา เทดรอสประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิง "เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ" (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) เมื่อเงื่อนไขเข้าองค์ประกอบ
องค์การอนามัยโลก มีการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ มาแล้ว 6 ครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งประกอบด้วย
ปี 2009 : ไวรัสไข้หวัดหมู เอช1เอ็น1 (H1N1)
การระบาดใหญ่ถูกพบครั้งแรกในเม็กซิโก และระบาดข้ามพรมแดนเข้าสู่สหรัฐฯและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
พฤษภาคม 2014 : ไวรัสโปลิโอ
มีการประกาศหลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอ นอกเหนือจากโควิด-19 แล้ว ก็มีโรคโปลิโอเท่านั้น ที่ยังถูกประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอยู่ในขณะนี้
สิงหาคม 2014 : อีโบลา
การระบาดในแอฟริกาตะวันตก แต่ก็มีระบาดเข้าสู่ยุโรปและสหรัฐฯ
กุมภาพันธ์ 2016 : ไวรัสซิกา
การระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้นในบราซิล และส่งผลกระทบอย่างหนักในทวีปอเมริกา มีการประกาศให้ไวรัสซิกา ซึ่งเกิดจากยุง เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
กรกฎาคม 2019 : อีโบลา
มีการประกาศให้โรคอีโบลา เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นครั้งที่ 2 จากการระบาดในเมืองคีวู ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์ซี
มกราคม 2020 : โควิด-19
การประกาศเกิดขึ้นเมื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดออกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ ที่พบการระบาดครั้งแรก ซึ่งตอนนั้น มีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 100 คน และไม่มีผู้เสียชีวิต การประกาศไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ มีขึ้นหลังการประชุมคณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 ครั้งเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสดังกล่าว
การประชุมเมื่อวันที่ 22 มกราคม และ 23 มกราคม 2020 มีมติว่า ไวรัสโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน
เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม จึงมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งเทดรอด ระบุว่า สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายประเทศตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นเครดิตแหล่งข้อมูล : tnnthailand