เปิดความหมาย “เสด็จในกรมฯ” คืออะไร?


เปิดความหมาย  “เสด็จในกรมฯ” คืออะไร?


ภาพยนตร์เพิ่งเข้าโรงไปสัปดาห์ก่อน เรื่อง "บุพเพสันนิวาส ๒" นอกจากพระเอก นางเอกแล้ว มีอีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจ คือ "เสด็จในกรมฯ" และสงสัยกันไหมว่า "เสด็จในกรมฯ" คืออะไร ซึ่งคำว่า "เสด็จ" ในที่นี้ ไม่ได้เป็นคำกริยาที่แปลว่า "ไป" เหมือนในวรรณกรรม "สี่แผ่นดิน" ว่า เสด็จให้มาทูลถามเสด็จว่า "จะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จจะเสด็จด้วย" แต่เป็นการออกพระยศลำลองของ "พระองค์เจ้าชั้นเอก (ลูกหลวง)" แล้วสกุลยศ "พระองค์เจ้า" ก็จะแบ่งหลัก ๆ ออกเป็น ๒ ชั้น คือ

๑. พระองค์เจ้าชั้นเอก (ลูกหลวง) พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระมหากษัตริย์ ที่ประสูติแต่มารดาที่ไม่ใช่เจ้า ได้แก่ พระสนม เจ้าจอมมารดา หญิงสามัญชน หรือเป็นหม่อมมาแต่เดิม จะใช้เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า... และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า.... แต่เมื่อพ้นรัชกาลไปแล้ว จะใช้เป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้า... ในชั้นนี้จะออกพระยศลำลองว่า "เสด็จ" เหมือนที่กล่าวไปข้างต้น

(ส่วนพระราชโอรสและพระราชธิดา ถ้าประสูติแต่สมเด็จพระอัครมเหสีหรือพระภรรยาเจ้าชั้นลูกหลวง ชั้นหลานหลวง จะเป็นสกุลยศชั้น "เจ้าฟ้า" แต่ชั้นเอก ชั้นโท คงไม่ต้องลงรายละเอียด เดี๋ยวยาวไป)

๒. พระองค์เจ้าชั้นโท (หลานหลวง) เป็นพระราชนัดดาในพระมหากษัตริย์ จะใช้เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า... หรือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า.. ในชั้นนี้จะออกพระยศลำลองว่า "พระองค์ชาย, พระองค์หญิง"

เมื่อเวลาผ่านไป "พระองค์เจ้าชั้นเอก" เริ่มน้อยลงในราชสำนัก จึงเริ่มมีการนำการออกพระยศลำลองว่า "เสด็จ" มาใช้กับ "พระองค์เจ้าชั้นโท" บ้าง แต่จะมีที่เห็นชัด คือ ในช่วงเวลาต่อมาที่ไม่มี "พระองค์เจ้าชั้นเอก" ทรงพระชนม์เหลืออีกต่อไป มีการออกพระยศลำลองว่า "เสด็จ" กับ "พระองค์เจ้าชั้นโท" เช่น พระองค์เจ้าในสายราชสกุลยุคล ๓ องค์ คือ เสด็จพระองค์ชายใหญ่ (พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล), เสด็จพระองค์ชายกลาง (พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร), เสด็จพระองค์ชายเล็ก (พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ)



เปิดความหมาย  “เสด็จในกรมฯ” คืออะไร?

และคำถามคือ "เสด็จในกรมฯ" คืออะไร ?

"เสด็จในกรมฯ" พูดง่าย ๆ ก็คือ เสด็จ + กรมฯ ในคำว่า "เสด็จ" อธิบายไปข้างต้นแล้วว่า เป็นการออกพระยศลำลองของ "พระองค์เจ้าชั้นเอก (ลูกหลวง)" ส่วนคำว่า "กรม" คือการ "ทรงกรม"

"การทรงกรม" ของเจ้านายปรากฏครั้งแรกในสมัยอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คือ การตั้งกรมขึ้นใหม่ต่างพระเนตรพระกรรณตามพระนามทรงกรมของเจ้านายพระองค์นั้น มีขุนนางเป็นเจ้ากรมตามอิสริยยศนั้น เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เจ้ากรมของท่านคือ หมื่นสุรินทรรักษ์ เป็นต้น มีปลัดกรม สมุห์บัญชี และไพร่พลในสังกัดกรม การทรงกรมเป็นพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แก่เชื้อพระวงศ์เพื่อเป็นพระเกียรติยศเนื่องจากได้ช่วยเหลืองานราชการแผ่นดิน

"การทรงกรม" แบ่งเป็น ๕ ชั้น ดังนี้

๑. "กรมพระยา" (อ่านว่า กฺรม-พระ-ยา) หรือ "กรมสมเด็จพระ" (อ่านว่า กฺรม-สม-เด็ด-พระ) สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง

๒. "กรมพระ" (อ่านว่า กฺรม-มะ-พระ) สำหรับพระราชทานวังหน้า วังหลัง สมเด็จพระเจ้าพี่ยา/น้องยา/พี่นาง/น้องนางเธอ

๓. "กรมหลวง" (อ่านว่า กฺรม-มะ-หลวง) สำหรับพระราชทานเจ้าฟ้าชั้นใหญ่

๔. "กรมขุน" (อ่านว่า กฺรม-มะ-ขุน) สำหรับพระราชทานเจ้าฟ้าชั้นเล็ก

๕. "กรมหมื่น" (อ่านว่า กฺรม-มะ-หมื่น) สำหรับพระราชทานพระองค์เจ้า



เปิดความหมาย  “เสด็จในกรมฯ” คืออะไร?

   "การทรงกรม" ในสมัยก่อนนั้นคือการตั้งกรมขึ้นมาจริง ๆ มีเจ้ากรมมีไพร่พล มีกองกำลัง แต่ภายหลังในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงเลิกทาส และประสมกับพระองค์ต้องการให้อำนาจมารวมศูนย์ที่พระองค์ ทำให้ "การทรงกรม" ของเจ้านาย เป็นเพียงการเฉลิมพระเกียรติยศเจ้านายพระองค์นั้นให้สูงขึ้นเท่านั้น ไม่มีการตั้งกรมขึ้นใหม่แต่อย่างใด และรัชกาลที่ ๕ มีพระราชนิยมจากการเฉลิมพระยศในต่างประเทศ โดยการนำชื่อเมืองมาต่อท้ายพระนาม เช่น Prince of Wales ของสหราชอาณาจักร จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยนำชื่อเมืองในสยามมาทรงกรมให้เจ้านาย เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และกรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นต้น

"การทรงกรม" โดยใช้ธรรมเนียมนำชื่อเมืองมาต่อท้ายพระนาม แบบนี้เรื่อยมาจนถึงรัชสมัย รัชกาลที่ ๙ พระองค์สุดท้ายที่มีการทรงกรมแบบนี้ คือ "สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์"

ในส่วนของสกุลยศชั้น "พระองค์เจ้า" จะเริ่มทรงกรมที่ "กรมหมื่น" แต่จะเลื่อนกรมได้สูงขึ้นตามพระบรมราชวินิจฉัย ส่วนสกุลยศชั้น "เจ้าฟ้า" จะเริ่มทรงกรมที่ "กรมขุน" แต่จะมีเจ้าฟ้า (ลูกหลวง) บางพระองค์ที่ได้ทรงกรมครั้งแรกเป็น "กรมหลวง" เลยก็มี พระราชธิดาชั้นเจ้าฟ้าที่ทรงกรมชั้น "กรมหลวง" ในสมัยรัตนโกสินทร์ ปรากฏเพียง ๔ พระองค์ เท่านั้น คือ สมัยรัชกาลที่ ๑ มี ๒ พระองค์ สมัยรัชกาลที่ ๕ มีพระองค์เดียว และในสมัยรัชกาลปัจจุบัน มีพระองค์เดียว คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงกรมชั้นกรมหลวงที่ "กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

แล้วทำไมต้องเรียกว่า "เสด็จในกรมฯ" ด้วย ทำไมไม่ออกพระนามไปเลย ก็เพราะว่าสมัยก่อนคนไทยไม่นิยมออกพระนามเจ้านายตรง ๆ จะมีการออกพระยศลำลอง เช่น สมเด็จที่บน สมเด็จรีเยนทร์ เสด็จ เสด็จในกรม ฯลฯ

ตัวอย่างที่ชัด ๆ ของ "เสด็จในกรมฯ" คือ รัชกาลที่ ๓ พระองค์เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเรียม เป็น "พระองค์เจ้าชั้นเอก (ลูกหลวง)" จะออกพระยศลำลองว่า "เสด็จ" แต่ในเวลาต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงกรมชั้นกรมหมื่นที่ "กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์" แบบนี้ก็จะออกพระยศลำลองว่า "เสด็จในกรมฯ"

ส่วนคำถามต่อมา "เสด็จในกรมฯ" ในภาพยนตร์เรื่อง "บุพเพสันนิวาส ๒" คือใคร

คำตอบคือ ในภาพยนตร์ก็ไม่ได้บอกชัด ๆ เหมือนกันว่าเป็นพระองค์ใด แต่ถ้าดูจากเนื้อเรื่อง คือมีวังที่อยู่ใกล้กับโรงละครนอก ซึ่งใช้ "ชายล้วน" แสดง เมื่อพิจารณาแล้วจะไปคล้ายคลึง "หม่อมไกรสร" ในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระนามเดิมคือ "พระองค์เจ้าไกรสร" ต่อมามีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ ซึ่งต่อมาถูกถอดอิสริยยศเหลือเพียง "หม่อมไกรสร" แล้วเพื่อน ๆ คิดว่าเป็นพระองค์ใดได้บ้าง ลองคอมเมนต์กันมา



เปิดความหมาย  “เสด็จในกรมฯ” คืออะไร?


เปิดความหมาย  “เสด็จในกรมฯ” คืออะไร?

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
คุณ : มณฑลไท่กั๋ว
สถานะ : บุคคลทั่วไป
IP : 171.96.30.50

171.96.30.50,,ppp-171-96-30-50.revip8.asianet.co.th ความคิดเห็นที่ 2 [อ้างอิง]
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชีวิตคนเราไม่เที่ยงแท้แน่นอน มนุษย์เรามั่วหลง แต่เเก้วเเหวน เงินทอง บ้านรถ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ความสวย ความหล่อ ไม่คงทน ...


[ วันศุกร์ ที่ 12 สิงหาคม 2565 เวลา 11:25 น. ]
คุณ : เขาล่ะพระเอก
สถานะ : บุคคลทั่วไป
IP : 202.29.6.71

202.29.6.71,,202.29.6.71 ความคิดเห็นที่ 3 [อ้างอิง]
ไปดูมาแล้ว พระเอกคือเสด็จในกรมนี่แหละ ไม่ใช่โป้ป


[ วันอังคาร ที่ 16 สิงหาคม 2565 เวลา 00:03 น. ]
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์