ทำงานแบบไหน ได้ เงิน OT และต้องเสียภาษีไหม?
ตามหลักการพื้นฐานสำหรับคนทำงาน กฎหมายกำหนดเวลาทำงานปกติไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และรวมทำงาน 1 สัปดาห์ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งหากลักษณะหรือสภาพของงานต้องมีการทำติดต่อกัน ถ้าหยุดจะเกิดความเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน ก็จำเป็นต้องให้ลูกจ้างทำงานเกินเวลาปกติ
ดังนั้น อาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาและทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น โดยชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา หรือการทำงานในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และที่สำคัญต้องมีการจ่ายค่าจ้างล่วงเวลาให้ลูกจ้างด้วย
โดยลูกจ้างสามารถคำนวณเงินค่าล่วงเวลา หรือ "เงิน OT" ที่กิจการจ่ายให้เองได้ เพื่อคำนวณเงินที่ตนเองควรจะได้รับ และวางแผนรายได้พิเศษเหล่านี้ ว่าต้องเสียภาษีหรือไม่ หรือหากต้องเสียภาษีจะต้องเสียภาษีเท่าไร ไปคำนวณพร้อมกัน
แบบไหนเรียก... ทำงานล่วงเวลา - ค่าล่วงเวลา
การทำงานล่วงเวลา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้อธิบายการทำงานล่วงเวลาและค่าค่าล่วงเวลาไว้ดังนี้
- การทำงานล่วงเวลา หมายความว่า การทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติ หรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา 23 ในวันทำงานหรือวันหยุด แล้วแต่กรณี
- ค่าล่วงเวลา หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน
- ค่าทำงานในวันหยุด หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในวันหยุด
- ค่าล่วงเวลาในวันหยุด หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
หลักการคำนวณเงินล่วงเวลา (OT)
หลักการคำนวณเงิน OT สามารถแบ่งได้ตามประเภทการทำงานของลูกจ้าง และช่วงเวลาที่ทำงานล่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นหลังเลิกงานในวันทำงานปกติ หรือวันหยุด เช่น วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ วันหยุดตามประเพณี ลูกจ้างจะต้องได้ค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงที่ได้รับตามปกติ โดยมีวิธีการคำนวณแยกตามประเภทดังนี้
1.ค่าล่วงเวลาหลังทำงานปกติ
1.1 พนักงานรายเดือน
สูตรการคำนวณ
(เงินเดือน หาร 30 วัน หาร ชั่วโมงงานปกติ (8))
x 1.5 หรือ 3 เท่า x จำนวนชั่วโมงที่ทำ OT
ตัวอย่างเช่น...
เงินเดือน 15,000 บาท ทำ OT 3 ชั่วโมง
15,000 / 30 / 8 = 62.5
62.5 x 1.5 = 93.75
93.75 x 3 = 281.25
ค่าจ้างทำ OT ในวันนั้นจะได้เพิ่มอีก = 281.25 บาท
สูตรการคำนวณ
(ค่าจ้างต่อวัน หาร ชั่วโมงงานปกติ)
x 1.5 หรือ 3 เท่า
x จำนวนชั่วโมงที่ทำ OT
ตัวอย่างเช่น...
ค่าจ้างวันละ 450 บาท และทำ OT 5 ชั่วโมง และได้ค่า OT 3 เท่า
400 / 8 = 50
50 x 3= 150
150 x 5= 750
ค่าจ้างทำ OT ในวันนั้นจะได้เท่ากับ 750 บาท
2.1 พนักงานรายเดือน จะได้รับค่าตอบแทนการเข้ามาทำงานในวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 เท่า
สูตรการคำนวณ
(เงินเดือน หาร 30 วัน หาร ชั่วโมงงานปกติ (8))
x 1 เท่า
x จำนวนชั่วโมงการทำงาน (8)
ตัวอย่างเช่น...
เงินเดือน 15,000 บาท
15,000 / 30 / 8 = 62.5
62.5 x 1 x 8 = 500
ค่าจ้างทำ OT ในวันนั้นจะได้เพิ่มอีก 500 บาท
สูตรการคำนวณ
(ค่าจ้างต่อวัน หาร ชั่วโมงงานปกติ (8))
x 2 เท่า
x จำนวนชั่วโมงการทำงาน (8)
ตัวอย่างเช่น...
ค่าจ้างวันละ 450 บาท
450 / 8= 56.25
56.25 x 2 = 112.5
112.5 x 8 = 900
ค่าจ้างทำ OT ในวันนั้นจะได้เท่ากับ 900 บาท
เนื่องจากค่าทำงานล่วงเวลา ถือเป็นรายได้ที่ในแต่ละเดือนไม่ทราบแน่นอนว่าจะได้รับเท่าไร ขึ้นอยู่กับการทำงานล่วงเวลาในแต่ละเดือน
ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย โดยแบ่งตามประเภทภาษีบริษัทดังนี้
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรหมวด 3 ภาษีเงินได้มาตรา 38_64 ได้ระบุไว้ว่า เงินได้ประเภทต่างๆ ตามมาตรา 40 ซึ่งได้แก่ เงินเดือน โบนัส ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าล่วงเวลา (OT) ค่าเดินทาง เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง ค่าอาหารจากนายจ้างเงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระเงินได้อื่นๆ ที่เป็นประโยชน์เพิ่มจากการทำงาน
เมื่อลูกจ้างได้รับจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ตามอัตราภาษีก้าวหน้า โดยยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป แต่เงินค่าทำงานล่วงเวลานี้ จะไม่นำมารวมกับเงินเดือนเพื่อคำนวณเงินสมทบประกันสังคม กล่าวคือเงินสมทบประกันสังคมจะหักแค่เงินเดือนที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้น จะไม่นำค่าทำงานล่วงเวลามารวมด้วยนั่นเอง
2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
การจ่ายเงินค่าล่วงเวลา ถือเป็นการจ่ายเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร และหลักการหักภาษี ณ ที่จ่ายโดยทั่วไปนั้นนายจ้างจะคำนวณรายได้ของลูกจ้าง โดยนำรายได้เฉพาะเงินเดือนอย่างเดียวทั้งหมด 12 เดือน มาคำนวณภาษีที่ต้องเสีย หากมีภาษีที่ต้องเสียก็จะนำมาหาร 12 เดือน แล้วหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือนตามยอดที่คำนวณได้
ส่วนการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเดือนที่จ่ายเงินค่าล่วงเวลา (OT) จะมีความซับซ้อนกว่าการจ่ายเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เพราะเงินค่าทำงานล่วงเวลาเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน จึงไม่สามารถคาดเดารายได้ที่แน่นอนล่วงหน้าได้
ดังนั้น การคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย บางบริษัทอาจคำนวณภาษีเฉพาะส่วนที่เพิ่มจากฐานรายได้ปกติ แล้วนำเฉพาะภาษีที่คำนวณส่วนเกินนั้นมาบวกเพิ่มกับฐานภาษีหัก ณ ที่จ่ายปกติในเดือนที่ได้รับเงินพิเศษ หรือบางบริษัทไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายทันทีในเดือนที่มีการทำงานล่วงเวลา แต่จะไปคำนวณตอนยื่นภาษีประจำปี โดยนำเงินทำงานล่วงเวลาที่ได้รับทั้งหมด มาคำนวณรวมกับเงินเดือนปกติ
โดยภาษีที่คำนวณออกมาได้นั้น ลูกจ้างอาจต้องเสียภาษีเพิ่มเติมจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่จ่ายไปแต่ละเดือน หรืออาจขอคืนภาษีที่จ่ายไปแล้วได้ หากคำนวณพบว่าไม่มีภาษีที่ต้องจ่าย