พิษร้าย! เปิดงานวิจัย สารเคมี2พันชนิดในบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายขนาดนี้
องค์การอนามัยโลกระบุว่า เมื่อปี 2021 มีน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ารสชาติต่าง ๆ กว่า 16,000 ชนิด หลายชนิดมีการตบแต่งกลิ่นสีและรสชาติ เพื่อดึงดูดและหลอกล่อให้เยาวชนทดลองสูบ โดยใช้สีสัน ตัวการ์ตูน รสใหม่ชวนสูดดม หวังเพิ่มยอดจำหน่าย โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดพิษสะสมและเป็นอันตรายต่อร่างกายของเด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต
"น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าขณะนี้น่าจะอยู่ที่ 20,000 ชนิด ผู้ผลิตได้เปลี่ยนสี แต่งกลิ่นเพื่อให้เยาวชนหรือนักเสพหน้าใหม่รู้สึกว่า ไม่อันตราย เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีควัน แต่เขารู้ไม่ว่า ในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารกว่า 2,000 ชนิด ซึ่งเราไม่เคยรู้จักและไม่พบในบุหรี่มวนมาก่อน นอกจากนิโคติน ตะกั่ว สารก่อมะเร็ง และเป็นอันตรายต่อระบบสมอง" รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว
ในต่างประเทศการสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าแพร่ระบาดหนักในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาอเมริกัน โดยปี 2011 มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา สูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 360,000 คน และในปี 2019 เพิ่มขึ้น 5,380,000 คน หรือ 15 เท่า จำนวนนี้ 52 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ชนิดใดมาก่อน
สถิติขององค์การอนามันโลกพบว่า ตัวเลขของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเยาวชนไทยช่วงอายุระหว่าง 13-15 ปี ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจาก 3.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2558 เพิ่มเป็น 8.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยพบว่า สารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบสมอง หลังจากการสูบในช่วง 10 วินาทีแรก ซึ่งสารดังกล่าวจะไปกระตุ้นเซลล์สมองบางส่วนที่หลอกให้ผู้สูบมีความสุขในช่วงนั้น ๆ สมองจะจดจำสารกระตุ้นประเภทนี้ไว้และเมื่อถูกกระตุ้นซ้ำ ๆ ต่อเนื่องจึงทำให้เลิกสูบไม่ได้
หากผู้สูบอยู่ในช่วงวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 13-15 ปี ใช้ติดต่อนาน ๆ ในขณะที่ระบบสมองเจริญเติบโตและสร้างเซลล์ประสาทไปเรื่อย ๆ จนกว่าร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโตในวัย 25 ปี
ส่วนผลกระทบระยะยาว เยื่อหุ้มฟันอักเสบ เยื่อจมูกอักเสบ ต้อกระจก ซีด จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกตินอนไม่หลับ เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ชัก หัวใจล้มเหลว รวมทั้งผลกระทบต่อสุขภาพจิต คือ ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เนื่องจากงานวิจัยของเมืองไทยพบว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่น" อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว
การรู้ไม่เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนและกลุ่มวัยรุ่น เพราะไม่ได้ศึกษาผลเสียที่จะตามมา อีกทั้งยังตกเป็นกลุ่ม เป้าหมายสำคัญทางการตลาดของบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า แหล่งจำหน่ายการทำให้หาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อทางออนไลน์ ในห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด หรือร้านค้าทั่วไปในราคาที่ไม่แพงมากนัก
นอกจากสารดังกล่าวแล้ว ยังพบว่าในบุหรี่ไฟฟ้ายังมี สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก ตะกั่ว ทองแดง ฯลฯ และสารอินทรีย์ระเหยง่าย รวมทั้งฝุ่นขนาดเล็กกว่าพีเอ็ม 2.5 มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า พบสารเคมีในบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เคยพบในบุหรี่ธรรมดามากถึง 2,000 ชนิด ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่
แม้ว่าไทยจะมีกฎหมายที่ห้ามไม่ให้มีการนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 เรื่องห้ามผลิตนำเข้าเพื่อขายหรือเพื่อแจกจ่ายที่มีรูปลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งเลียนแบบผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังไม่ได้เสียภาษีโดยถูกต้องงเข้ามาในราชอาณาจักรสยาม ความผิดครึ่งหนึ่งจะมีโทษปรับเป็น 4 เท่าของราคาของ ซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยกัน หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่เนื่องจากไม่ได้มีการจำกัดวัยของผู้ซื้อ และกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ก็ไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดและจริงจัง ต่างจากสิงคโปร์ และออสเตรเลีย จึงจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะพิษภัยและอันตรายที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว โดยรณรงค์ให้ครอบครัวและโรงเรียนเข้ามามีบทบาทในการดูแล
ดังนั้นทางออกที่ดีในขณะนี้ คือยังต้องคงกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ และให้ความรู้กับเด็ก ๆ เพื่อรู้เท่าทัน รวมทั้งผู้ปกครองและครูด้วยเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเข้ามาอยู่ในวงจรบุหรี่ไฟฟ้า" รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 5-9 เท่า เมื่อเทียบกับบุหรี่ธรรมดา จัดเป็นกลุ่มสารเสพติดชนิดใหม่ที่มีสารละลายโปรปีลีน ไกลคอล( propylene glycol ) ปัจจุบันมีบุหรี่ไฟฟ้าวางขายในตลาดและโลกออนไลน์มากกว่า 300 ยี่ห้อ และไม่ได้มีการแสดงป้ายปริมาณสารละลายหรือนิโคติน ผลวิจัยในต่างประเทศพบว่า นักสูบหน้าใหม่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น