กลัวมะเร็ง อยากฉีดวัคซีนป้องกัน แต่จะรู้ได้ยังไงว่าไม่ถูกหลอก ฟรี
สินค้าใดที่สามารถรักษาชีวิตได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะขายดิบขายดี แม้ราคาจะแพงลิบลิ่ว เช่น 'วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก' ที่กำลังแพร่หลายในขณะนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วร.พ.หลายแห่งให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้คุณอาจเสียเงิน 2 หมื่นไปฟรีๆ พร้อมความรู้สึก?!?
หนึ่งในสินค้าที่กำลังเป็นความหวังของผู้หญิงทั่วโลกว่า จะช่วยรักษาชีวิตให้รอดจากโรคร้าย คือ วัคซีนที่ถูกทำมาเผยแพร่สู่ท้องตลาดในชื่อ 'วัคซีนป้องกันมะเร็วปากมดลูก' ในสังคมไทย วัคซีนป้องกันมะเร็วปากมดลูกกลายเป็นสินค้าสุดฮ็อตสำหรับผู้หญิงที่มีรายได้ปานกลาง - ระดับสูง มาตั้งแต่ต้นปี 2550 เมื่อมีการจดทะเบียนวัคซีนตัวแรก ที่ชื่อ 'Gardasil' ซึ่งผลิตโดย บริษัท เมิร์ค (Merck) ในเดือนมีนาคม ปี 2550 และร้อนแรงยิ่งขึ้นหลังจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อบริษัทแกล็ค สมิธ แอนด์ ไคลน์ (Glax Smith and Kiine) จดทะเบียบวัคซีน Cervarix ตัวที่ 2 และกลายเป็นคู่แข่งกันแพร่ขยายจุดจำหน่ายที่โรงพยาบาลเอกชน ไปยังโรงพยาบาลของรัฐ
ด้วยสนนค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนที่สูงถึง 20,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งวัคซีนดังกล่าวยังไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้ที่รับการฉีดทุกคนได้ โดยกลุ่มผู้ที่ฉีดแล้วได้ผลมากที่สุด คือ ผู้หญิงที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน และอยู่ในกลุ่มอายุ 9 - 12 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ยังไม่สามารถหารายได้ได้เอง
คำถามที่พุ่งไปสู่สินค้าตัวนี้ ณ ตอนนี้คือ ใครคือผู้ที่ต้องใข้ และใครคือผู้ที่ต้องจ่าย
- วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 'ชื่อซ่อนปม...ร่มที่ยังมีรอยรั่ว'
'วัคซีนป้องกันมะเร็วปากมดลูก' เพิ่งถูกใช้ในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์รู้จักวัคซีนนี้ในชื่อว่า 'วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV' หรือ 'Human papillomavirus' ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยบางสายพันธุ์เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก 70 % อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจาก HPV 2 สายพันธุ์ดังกล่าวแล้ว HPV สายพันธุ์อื่นๆ และพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ก็ยังสามารถเป็นสาเหตุของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน ดังนั้น โอกาสที่วัคซีนนี้จะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกจึงอยู่ที่ประมาณ 70 % เท่านั้น
- 'ใครควรฉีด ฉีดเมื่อไหร่ มีฤทธิ์นานแค่ไหน' ขีดจำกัดที่มักไม่พูดถึง
ข้อจำกัดของวัคซีนที่มักถูกเผยแพร่ต่อสังคม คือ วัคซีนดังกล่าวจะให้ผลดีเฉพาะกับผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน และยังมีอายุน้อย โดยการไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เพราะสาเหตุของการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ปากมดลูก มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจาก HPV เป็นเชื้อที่สามารถติดได้ง่ายมาก จากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดยมีโอกาศติด HPV ถึง 80 % และเมื่อร่างกายได้ติด HPV มาแล้ว วัคซีนดังกล่าวจะไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานการติดเชื้อได้
ส่วนการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่เนื้อเยื่อปากมดลูก ซึ่งมักถูกเสนอเป็นวิธีการตรวจเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกวิธีหนึ่งนั้น หากคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์และเข้าตรวจหา HPV แล้วพบว่าไม่มีการติดเชื้อ จะไม่ได้หมายความว่า จะสามารถฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้วได้ผล เพราะการตรวจการ HPV เป็นการตรวจหาร่องรอยแผล หรือปฏิกิริยาที่เกิดจากการติดเชื้อ HPV เท่านั้น ซึ่งไม่มีน้ำหนักยืนยันว่า เราติดเชื้อ HPV แล้วหรือไม่ เพราะหากมี HPV จำนวนน้อยที่ปากมดลูก ก็อาจตรวจไม่พบเชื้อ
'ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้วและสนใจฉีดวัคซีนตัวนี้ และได้รับคำแนะนำชักชวนจากสถานพยาบาลให้ตรวจหาการติดเชื้อไวรัส HPV เพื่อให้รู้แน่ว่า เมื่อฉีดแล้วจะได้ผลหรือไม่ ขอให้แน่ใจได้เลยว่า คุณกำลังเจอมาตรการ 'กินสองต่อ' เข้าให้แล้ว !!! '
- การตลาดที่ท้าทายจริยธรรม
จากการสำรวจข้อมูล โดยการสอบถามโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่ง เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV และราคาวัคซีนที่ใช้ในโรงพยาบาลเอกชน พบว่า ประเทศไทยยังมียี่ห้อเดียว คือ Gardasil และพบข้อน่าสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้
* โรงพยาบาลหลายแห่งละเลยข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า วัคซีนนี้อาจไม่ได้ผลกับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว
* บางแห่งให้ข้อมูลประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีนผิดพลาด
* มักแนะนำให้ฉีดวัคซีนยี่ห้อที่สามารถป้องกันเชื้อได้ 4 ชนิด โดยอ้างว่า มีประสิทธิภาพกว่ายี่ห้อที่ป้องกันได้ 2 ชนิด ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด เพราะวัคซีน 2 ชนิดที่เพิ่มเข้ามา คือ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ป็นสายพันธุ์ ที่ก่อความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกที่ต่ำมาก
* ไม่มีโรงพยาบาลใดให้ข้อมูลว่า วัคซีนนี้ยังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนา บางแห่งระบุว่า วัคซีนมีช่วยเวลาการออกฤทธิ์ที่ชัดเจน และไม่มีผลข้างเคียง ทั้งที่ผลวิจัยในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้
* โรงพยาบาลเกือบทุกแห่งเสนอ 'โปรโมชั่น' ในการฉีดวัคซีนนี้
คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV
1.ถ้าคุณมีเพศสัมพันธ์แล้ว วัคซันนี้อาจไม่เป็นประโยชน์กับคุณเลย เพราะมีโอกาสสูงมากที่คุณเคยติดเชื้อไวรัสดังกล่าวมาแล้ว
2.ถ้าได้รับการชักชวนให้ตรวจว่า คุณติดเชื้อไวรัส HPV แล้วหริอไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจฉีดวัคซีนดังกล่าว จงปฏิเสธ เพราะผลการตรวจสอบที่ได้รับ ไม่มีความแน่นอนที่มากพอ
3.ถ้าคุณอายุมากกว่า 26 ปี ผลตอบสนองจากการฉีดวัคซีนอาจไม่ดีเท่ากับคนอายุน้อยกว่า
4.ถ้าคุณสนใจฉีดวัคซีนนี้ เพราะเข้าใจว่าจะทำให้ไม่จำเป็นต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เช่น แปปสเมียร์ VIA หรือ Thin prep อีกต่อไป ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์ และนำชีวิตไปสู่ความเสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะวัคซีนนี้ป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้เพียง 70 % เท่านั้น
5.ถ้าคุณได้รับทราบข้อมูลว่า วัคซีนนี้ไม่ต้องมีการฉีดกระตุ้น หมายความคุณถูกหลอกแล้ว เพราะขณะนี้ระยะเวลาในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ของวัคซีนยังไม่เป็นที่รู้อย่างแน่ชัด เพราะอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย
รู้จักมะเร็งปากมดลูก ... ภัยร้ายของผู้หญิง
ศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งปากมดลูก ระหว่างการสัมมนาระดับชาติ ว่า สาเหตุของโรคนี้ พบว่าร้อยละ 99.7 เกิดจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งมีความทนทานสูง นอกจากนี้ ยังไม่แสดงอาการเมื่อติดเชื้อ เพราะเกิดที่ระดับผิวสัมผัส แต่ไม่ได้เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ไม่มีอาการปรากฎชัดเจน โดยไวรัสนี้จะไม่ทำให้เซลล์ตาย แต่จะทำให้เกิดเนื้องอก เมื่อเป็นมะเร็งระยะแรกจะไม่มีอาการปรากฎ โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่ติดเชื้อไวรัส HPV จนเกิดโรคประมาณ 10 ปี และแม้อยู่ในวัยหมดประจำเดือนก็สามารถเป็นโรคนี้ได้
ศ.นพ.จตุพล กล่าวว่า สาเหตุความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ คือ การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน กินยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย มีบุตรหลายคน การสูบบุหรี่ และการมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ทั้งนี้ วิธิป้องกันโรคนี้มีหลายวิธี เช่น การหลีกเลี่ยงพฤติกรรมข้างตน การฉีดวัคซีน HPV เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแปปสมียร์ การตรวจการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู (VIA) และการตรวจหาการติดเชื้อ HPV
'ส่วนวิธีการป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ ผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจแปปเสมียร์อย่างสม่ำเสมอ 1 - 5 ปีต่อครั้ง' ศ.นพ.จตุพล กล่าว
ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสาร 'ฉลาดซื้อ' โดยมูลนิธีเพื่อผู้บริโภค ฉบับที่ 83 เขียนโดย กรองทรรศน์ อัศพัตร