ทำยังไง จึงจะไม่ยึดมั่น

ทำยังไง จึงจะไม่ยึดมั่น


ก็ต้องน้อมพิจารณา ไปตามกระแสแห่งคำสอนใน...
"อนัตตลักขณสูตร"ซึ่งพระบรมศาสดาทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์
จนเป็นเหตุให้พระปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

ความจริง เนื้อหาสาระของอนัตตลักขณสูตร ก็เป็นสูตร
ที่ว่าด้วยเรื่องของวิปัสสนาโดยตรง...ฉะนั้นผู้ที่สนใจเรื่อง
การปฏิบัติวิปัสสนา จะมองข้ามพระสูตรนี้ไม่ได้เป็นอันขาด
เพราะถือว่าเป็นปฐมบทแห่งวิปัสสนาโดยตรง

บางครั้ง ผู้ที่สนใจเรื่องการปฏิบัติก็ไปให้ความสำคัญกับ
การขยายความของพระอรรถกถาจารย์มากกว่าที่จให้
ความสำคัญกับหลักการที่เป็นพุทธวจนะจากพระโอษฐ์โดยตรง

ฉะนั้น อยากจะให้ย้อนกลับมามองในส่วนที่เป็นพุทธวจนะ
จากพระโอษฐ์กันบ้าง ว่าพระพุทธเจ้าได้ให้แนวทางไว้อย่างไร
เนื้อหาโดยสรุปในอนัตตลักขณสูตรนั้น พระบรมศาสดา
ได้ทรงแสดงธรรมแบบซักถามกับพระปัญจวัคคีย์..
โดยยกเอาเรื่องขันธ์ 5 เป็นตัวตั้ง...

พอพูดถึงขันธ์ 5 บางท่านที่ไม่เคยผ่านตำรา อาจจะสงสัยว่า
ขันธ์ 5 คืออะไร...?
ขันธ์ 5 ก็คือ ธรรมชาติ 5 อย่าง...ซึ่งมีอยู่ในชีวิตของมนุษย์
ทุกผู้ทุกคน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆคือกายส่วนหนึ่ง
ใจ อีกส่วนหนึ่ง...

กาย...(รูปขันธ์)...ก็ประกอบขึ้นจากมหาภูตรูปทั้งสี่คือ
ธาตุดิน,น้ำ,ลม,ไฟ มีการดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร...
มีความเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนอยู่ทุกขณะ และผลสุดท้าย
ก็ต้องถึงการแตกสลายไปในที่สุด...

ทั้งๆที่ เราพยายาม จะเอาอกเอาใจร่างกายสารพัดอย่าง
มันหนาว ก็หาผ้ามาห่มให้ มันร้อน ก็หาพัดลมมาเป่าให้
แต่มันก็สนองคุณเรา ด้วยการเอาความแก่,ความเจ็บป่วย
และความตายมาหยิบยื่นให้

ถ้าจะว่าไปแล้ว ชีวิตของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลก
ชะตาไม่ต่างอะไรกับนักโทษประหาร ที่รอวันพิพากษา
คือ...ยังไงก็ตายแน่ แต่ไม่รู้ว่าจะตายวันไหนเท่านั้น...
นี่เป็นปกติธรรมดาของร่างกาย...ร่างกายมีปกติธรรมดาเป็น
อย่างนั้น

ทีนี้ในส่วนของใจ ก็ประกอบด้วยธรรมชาติ 4 ชนิด
รวมกันเข้า แล้วก็สมมุติเรียกว่าใจ คือ...
1. วิญญาณขันธ์ ได้แก่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ มีการเห็น
(จักขุวิญญาณขันธ์),การได้ยิน (โสตวิญญาณขันธ์) เป็นต้น

2. เวทนาขันธ์ ได้แก่ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์ เช่นเป็นสุข
(เมื่อรู้สึกชอบ), เป็นทุกข์ (เมื่อรู้สึกไม่ชอบ) เป็นต้น

3. สัญญาขันธ์ ได้แก่ธรรมชาติที่จำอารมณ์ เช่นจำรูปใน
อดีต, จำเสียงในอดีต เป็นต้น

4. สังขารขันธ์ ได้แก่ธรรมชาติที่คิดปรุง เช่นคิดไปในเรื่อง
อนาคต เป็นต้น
และทั้งหมดนี่แหละ คือสิ่งที่เรียกว่า...'ขันธ์ 5'

พระบรมศาสดาได้ทรงยกเอาเรื่องขันธ์ 5 .......
(ซึ่งคนในครั้งพุทธกาล เข้าใจกันเป็นอย่างดี) ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง
แล้วก็ถามพระปัญจวัคคีย์ว่า...
"เธอว่า ขันธ์ 5 เที่ยงหรือไม่เที่ยง...?"
"ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นสุข หรือ เป็นทุกข์"
"เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า"
"สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
ควรแล้วหรือ ที่เธอจะตามยึดถือว่า....

เอตัง มะมะ..............นั่นของเรา
เอโส หะมัสมิ............เราเป็นนั่น เป็นนี่
เอโส เม อัตตา.........นั่นเป็นตัวตนของเรา"
"ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า"

จากนั้น พระพุทธองค์ก็ได้ทรงสรุปว่า...
"เมื่อใดที่เราเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ขันธ์5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
เป็นอนัตตา...
เมื่อนั้น เธอย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป (ร่างกาย)
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา (สุข,ทุกข์)
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร (ความจำ)
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขาร (ความคิดปรุง)
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ (การเห็น, การได้ยิน)"

เมื่อเบื่อหน่าย (นิพพิทา) แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นในลำดับต่อไป
พระพุทธองค์ได้ทรงเฉลยด้วยพระบาลีที่ว่า...
นิพพินทัง วิรัชชติ
'เมื่อเบื่อหน่าย ก็ย่อมคลายความยึดติด...'
วิราคา วิมุจจติ
'เมื่อคลายความยึดติด จิตก็หลุดพ้น...'
เป็นอันได้นำตน เข้าถึงจุดสูงสุด ในพระพุทธศาสนาแล้ว
โดยประการทั้งปวง....ฯ

~บทความจากหนังสือ...ความสุขทางใจ สไตล์พุทธ...
โดย พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์~
ขอนอบน้อมแด่คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์