อนุสรณ์สถานแฝดสยามอิน-จัน
ตั้งอยู่ตำบลลาดใหญ่ ริมถนนเอกชัย (ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 4 กม.) เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่ฝาแฝดสยามอิน-จันที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยไปทั่วโลก ภายในบริเวณเป็นลานกว้างประดับด้วยต้นไม้ดอกไม้ อนุสรณ์แฝดสยามอิน-จันตั้งอยู่กลางลาน ด้านหน้ามีสระน้ำขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีอาคารโถงจัดแสดงชีวประวัติของแฝดสยามอิน-จัน "แฝดสยามอิน-จัน" เกิดที่จังหวัดสมุทรสงครามเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 (ค.ศ. 1811) ประมาณปี พ.ศ. 2371-2372 (ค.ศ. 1828-1829) กัปตันคอฟฟินและฮันเตอร์เดินทางมาติดต่อการค้าที่แม่กลอง พบฝาแฝดคู่นี้จึงขอนำกลับไปอเมริกาและอังกฤษ เพื่อเปิดการแสดงในที่ต่างๆ เรื่องราวชีวิตของแฝดสยามอิน-จัน ฝาแฝดที่มีร่างกายท่อนบนติดกันและสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างปกติยาวนานจนถึงอายุ 63 ปี ได้รับการกล่าวขานทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในชื่อ “Siamese Twin”
อารัมภบท...
แฝดคู่แรกของประเทศไทยก็คือ อิน - จัน พ . ศ . 2354 เกิดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ฝาแฝด อิน - จัน ฝาแฝดไทย อิน - จัน เป็นฝาแฝดตัวติดกัน เป็นแฝดคู่แรกของโลก
อิน กับจัน เป็นเด็กฝาแฝดติดกันคู่แรกของโลกที่มีอายุยืนยาวที่สุดถึง 62 ปี
และได้รับบันทึกลงในกินเนสส์บุ๊ก แต่ก่อนฝรั่งไม่เคยพบเห็นเด็กฝาแฝดที่มีร่างกายติดกัน
พอมาพบเด็กแฝดชาวไทย ชื่ออินกับจัน จึงเรียกเด็กฝาแฝดติดกันว่า Siamese Twin
(Siamese = ชาวสยาม, Twin = ฝาแฝด)
เมื่อปลายรัชกาลที่ 3 มีเด็กคลอดออกมาจากครรโภทรหญิงชื่ออำแดงไข่
(อำแดงเป็นคำนำหน้าเรียกหญิงสมัยก่อน) เป็นภรรยาชาวจีนมีอาชีพขายหอมกระเทียม
อำแดงไข่เป็นชาวบางช้าง เมื่อคลอดออกมาแล้วเด็กนั้นเป็นชายทั้งคู่
มีสายสะดือติดกันห่างยาวหนึ่งศอกกับสี่นิ้ว เด็กนั้นหน้าเหมือนกันราวกับพิมพ์เดียวกัน
ฝ่ายมีสเตอร์ฮันเดอร์ชาวอังกฤษ ตั้งห้างอยู่หน้าวัดประยูรวงศ์
มีสเตอร์ฮันเดอร์ของซื้อเด็กนั้นจากบิดามารดาเป็นเงินพันบาท
ครั้นต่อมามีกัปตันเรือค้าขายของอังกฤษเข้ามากรุงเทพฯ
กัปตันผู้นั้นซื้อเด็กแฝดไปจากมีสเตอร์ฮันเตอร์ในราคาประมาณหมื่นบาท
กัปตันผู้นั้นพาเด็กฝาแฝดไปขายให้ชาวอเมริกาหลายหมื่นบาท
ชาวอเมริกาผู้นั้นพาเด็กฝาแฝดไปสำแดงกาย ให้มหาชนดูจนได้เงินหลายแสนหลายโกฏิ
ภายหลังเด็กนั้นใหญ่จนมีอายุได้มากแล้วก็มีภรรยาเป็นชาวอเมริกัน
ทั้งสองคนนั้น มั่งมีสีสุกเป็นเศรษฐีใหญ่ คนพี่มีบุตร 6 คน คนน้องมีบุตร 9 คน ใน พ . ศ . ระหว่างเดินทางจากลิเวอร์พูลไปนิวยอร์ก จันป่วยกระเสาะกระแสะอยู่แล้ว ก็เกิดเป็นอัมซีกขวา นอกจากป่วยแล้วจันยังหูหนวกและดื่มจัดอีกด้วย สุขภาพของอินจึงพลอยเสื่อมโทรมลงด้วย ในวันที่ 12 มกราคม 2414 จันก็ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบรุนแรง
วันที่ 17 มกราคม 2417 จันก็เสียชีวิตลงพออินรู้ว่าจันตายก็ตกใจอย่างสุดขีด และสองชั่วโมงต่อมาอินก็สิ้นใจเพราะความกลัว รวมอายุได้ 63 ปี
ปัจจุบันนี้มีผู้สืบเชื้อสายรุ่นเหลน และโหลนของ ฝาแฝดอิน จัน ที่มีชีวิตอยู่มากกว่าหนึ่งพันคน
น.ส.ทันย่า รีส และนางเบ็ตตี้ บุนเกอร์ แบล็คมัน (ซึ่งเป็นผู้สืบเชื้อสายของ อิน และจัน)
เล่าว่า.."ครอบครัวของอินจันมีลูกหลานฝาแฝดถึง 4 คู่ แต่ไม่มีคู่ไหนร่างกายติดกัน
ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในนอร์ธแคโรไลน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา
บางคนเป็นดำรงตำแหน่งสำคัญในสหรัฐฯเช่น ประธาน Union Pacific railroad
และนายพลแห่งฐานทัพอากาศสหรัฐฯ
ส่วนน.ส.ทันย่า รีส นั้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของสภาศิลปะเซอเรย์
ในเมาท์แอรี่ นอร์ธแคโรไลน่า
ลูกหลานของ อิน กับ จัน ส่วนใหญ่จะใช้นามสกุล บุนเกอร์ หรือบังเกอร์
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ อิน กับ จัน ใด้นามสกุลนี้จากเพื่อนบ้านนั้นเอง
เรียบเรียงจากหนังสือสยามประเภท ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ
ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม๑ ปี พ.ศ. ๒๓๕๔ (ค.ศ. ๑๘๑๑) ทารกเพศชายคู่หนึ่งถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวที่ยากจนบนแผ่นดินของประเทศสยาม ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สิ่งที่เป็นเหตุให้เด็กคู่นี้ได้รับการโจษขานนับแต่นั้นจนบัดนี้ คือการมีท่อนเนื้อหรือสายเอ็นยาว ๖ นิ้ว อยู่ตรงบริเวณระหว่างสะดือกับหน้าอก และเชื่อมร่างกายของเด็กทั้งสองเข้าด้วยกันแต่กำเนิด ในเวลานั้นทารกแฝดอย่างเดียวกันนี้มักเสียชีวิตขณะคลอด แม่ของเด็กแฝดตั้งชื่อเด็กคนซ้าย (ในสายตาของคนมอง) ว่า "อิน" และคนขวาว่า "จัน" แรกทีเดียวทั้งคู่หันหน้าเข้าหากัน แต่แม่ (บางกระแสว่าเป็นแพทย์) สอนให้ต่างคนต่างผันตัวออก เพื่อยืดท่อนเนื้อนั้น ช่วยให้ยืนขนาบข้างกันได้
ตามเอกสารที่บันทึกไว้ แฝดอิน-จันต้องโทษประหารชีวิต เพราะถือเป็นกาลกิณี แต่เมื่อเวลาล่วงไป ไม่มีใครเห็นว่ามีวิกฤตการณ์ใดๆ โทษนั้นจึงได้รับการยกเลิก ในวัยเด็ก อิน-จันใช้ชีวิตอย่างเด็กทั่วไปร่วมกับพี่น้องอีก ๘ คน แม้ร่างกายต้องติดกัน แต่ทั้งสองก็เรียนรู้ที่จะเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ พายเรือ และใช้ชีวิตร่วมกัน กิจกรรมเหล่านั้นคงท้าทายอยู่ไม่น้อย เมื่อโตขึ้น ก็ช่วยเหลือครอบครัวหารายได้ด้วยการจับปลา ขายน้ำมันมะพร้าว และทำไข่เค็มขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พ่อเสียชีวิตเนื่องจากโรคอหิวาตกโรคเมื่อทั้งสองอายุเพียง ๘ ขวบ ปี พ.ศ. ๒๓๖๒ (ค.ศ. ๑๘๑๙)
ในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ (ค.ศ. ๑๘๒๔) สยามเปลี่ยนแผ่นดิน แล้วอีก ๑ ปีต่อมา ชีวิตของอิน-จันก็พลิกผันไปด้วย ความพิเศษของเด็กทั้งคู่ทราบไปถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้แม่และอิน-จันเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วในปี พ.ศ. ๒๓๗๐ (ค.ศ. ๑๘๒๗) ก็มีพระบรมราชานุญาตให้อิน-จันได้เดินทางร่วมไปกับคณะทูตเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศโคชินไชน่า (เวียดนามในปัจจุบัน) หลังจากที่อิน-จันได้พบพ่อค้าชาวสก๊อตชื่อโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) และกัปตันเรือจากนิวอิงแลนด์ชื่อเอเบล คอฟฟิน (Abel Coffin) ทั้งสองก็เกลี้ยกล่อมแม่และรัฐบาลสยามจนยินยอมอนุญาตให้คู่แฝด ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงวัยรุ่น เดินทางออกนอกประเทศเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ในปี พ.ศ. ๒๓๗๒ (ค.ศ. ๑๘๒๙) บางกระแสว่าเป็นวันที่ ๓๑ มีนาคม เพื่อเร่ปรากฏตัวกับคณะละครสัตว์ในสหรัฐ โดยให้ค่าตอบแทนเล็กน้อยแก่แม่ของคู่แฝดจำนวนหนึ่ง ในหนังสือชื่อ Duet for a lifetime ซึ่งเขียนโดยทายาทรุ่นหลานของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ เอง กล่าวว่า ความตั้งใจเดิมของการเดินทางครั้งนั้น เป็นเพียงการจากไปชั่วคราวเท่านั้น และค่าตอบแทนดังกล่าวก็เป็นจำนวนมากพอสมควร รวมทั้งฮันเตอร์ยังรับปากในการส่งเสียครอบครัวของอิน-จันตลอดช่วงที่ไปอยู่ต่างประเทศ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การให้ค่าตอบแทนดังกล่าว เท่ากับการซื้อตัวอิน-จัน หนังสือเล่มนั้นอ้างถึงจดหมายที่คอฟฟินเขียนถึงครอบครัวของตน โดยกล่าวไว้ในตอนหนึ่งของจดหมายว่า "โรเบิร์ต ฮันเตอร์ เป็นเจ้าของเด็กชาวจีนทั้งสองครึ่งหนึ่ง" หนังสือเล่มเดียวกันนั้นยังกล่าวว่า มีข่าวลือต่างๆ นานาเกี่ยวกับการนำตัวอิน-จันออกนอกประเทศ หนึ่งในข่าวลือนั้นคือฮันเตอร์และคอฟฟินได้นำกล้องส่องทางไกลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่อให้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำตัวอิน-จันออกจากสยาม
หลังจากรอนแรมในเรือเดินทางเป็นเวลา ๑๓๘ วัน หรือ ๔ เดือนครึ่ง ทั้งคู่ก็เดินทางมาถึงกรุงบอสตันในวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๗๒ (ค.ศ. ๑๘๒๙) ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอันดับที่ ๗ คือแอนดรูว์ แจ๊กสัน (Andrew Jackson)๒ อิน-จันเริ่มต้นอาชีพการปรากฏตัวในที่สาธารณะภายใต้ชื่อ "เด็กคู่ชาวสยาม" โดยมีกัปตันคอฟฟินเป็นผู้จัดการ แต่ดูเหมือนกัปตันเป็นผู้หาผลประโยชน์เสียมากกว่า เพราะถึงผู้ชมต้องเสียค่าดู ๕๐ เซ็นต์ ซึ่งนับว่าสูงพอสมควรในสมัยนั้น ผนวกกับความนิยมของผู้ชมต่อหนุ่มน้อยอิน-จันมาก จึงสร้างรายได้ให้มากโขอยู่ ทว่าทั้งคู่กลับไม่ได้รับค่าตอบแทนตามสมควร บางครั้งก็ถูกเอาเปรียบ เช่น คราวที่เดินทางจากสหรัฐไปยุโรปเป็นเวลา ๒๗ วัน อิน-จันต้องอยู่ในชั้นผู้โดยสารระดับต่ำสุด ได้กินแต่เนื้อเค็มและมันฝรั่ง ทั้งยังต้องนอนบนพื้นเรือ ขณะที่คอฟฟินเองมีห้องพักส่วนตัวในชั้นผู้โดยสารชั้นหนึ่ง กินอาหารในห้องอาหารและนอนบนฟูก ภายหลังคอฟฟินแก้ตัวว่าเกิดจากความเข้าใจผิดเมื่อสำรองที่นั่ง แต่กัปตันของเรือลำดังกล่าวปฏิเสธว่าไม่เป็นดังนั้น
ในขณะปรากฏตัว อิน-จันมิใช่ได้แต่เดินไปมาให้ผู้ชมดูความเป็นแฝดตัวติดกันของตนเท่านั้น แต่แสดงความสามารถต่างๆ เช่น ฝีมือการเล่นหมากรุก กายกรรม หรือการตีลูกขนไก่ เมื่ออยู่ในอังกฤษ หญิงสาวนามโซเฟีย (Sophia) ถึงกับส่งจดหมายรักหลายฉบับ โดยมากเป็นบทกลอน ถึงอิน-จัน และเปิดอกกับผู้สื่อข่าวว่า ตนหลงรักอิน-จันและต้องการแต่งงานด้วย ทว่ากฎหมายในครั้งนั้นไม่เอื้ออำนวย และเห็นเป็นเรื่องหญิงสองผัว อันอาจลงเอยด้วยการจำคุก เธอจึงเงียบหายไป
หลังจากเสร็จสิ้นการปรากฏตัวที่อังกฤษแล้ว นายคอฟฟินต้องการพาอิน-จันไปฝรั่งเศส แต่รัฐบาลของฝรั่งเศสปฏิเสธคำขอ เพราะเห็นว่าทั้งคู่เป็นอสุรกาย ซ้ำเกรงว่าจะมีผลเสียหายต่อเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกรงว่าหากหญิงมีครรภ์เห็นเข้า ก็จะทำให้ลูกเกิดมาผิดปกติ อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ (ค.ศ. ๑๘๓๕) อิน-จันก็ได้มีโอกาสไปปรากฏตัวในประเทศฝรั่งเศส
อิน-จันทำงานอยู่กับคอฟฟินตามคำสัญญาที่ให้ไว้ จนกระทั่งในวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๗๕ (ค.ศ. ๑๘๓๒) เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี จึงแยกตัวออกอย่างเป็นทางการ ทั้งคู่ซื้อซิการ์ ๕๐๐ มวน แจกคนเพื่อฉลองความเป็นอิสระ และกลายเป็น "ศิลปินเดี่ยว" ที่ตระเวนออกแสดงทั่วสหรัฐและอังกฤษ จนอายุ ๒๘ ปี โดยทำรายได้ทั้งหมดประมาณ ๖๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ ก่อนเกษียณตัวเอง และย้ายไปอยู่ที่เมืองวิลเคสบอโร (Wilkesboro) มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ที่นี่เองที่แฝดอิน-จันจดทะเบียนชื่อสกุลเป็นบังเกอร์ (Bunker) ในปี พ.ศ. ๒๓๘๓ (ค.ศ. ๑๘๔๐) เพื่อให้มีสิทธิเป็นชาวอเมริกัน เพราะทางการไม่ยอมให้โอนสัญชาติหากไม่มีชื่อสกุลเป็นคริสต์ เกี่ยวกับเรื่องที่มาของชื่อสกุลนี้ หลักฐานที่น่าเชื่อที่สุด คือเป็นชื่อสกุลของครอบครัวชาวอเมริกันในนิวยอร์ก ซึ่งอิน-จันมีความสนิทสนมด้วยเมื่อครั้งพำนักที่เมืองนั้น โดยที่จันมีใจปฏิพัทธ์กับสาวนามแคธารีน เอ็ม. บังเกอร์ (Catharine M. Bunker) ของครอบครัวดังกล่าว มากมายถึงขั้นเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติของตนให้เธอ ทว่าต่อมาเมื่อจันสมรส พินัยกรรมดังกล่าวจึงยกเลิก
ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ (บางแหล่งว่า ๒๓๘๗) เมื่ออายุได้ ๓๒ ปี ทั้งคู่พบและตกหลุมรักกับสองศรีพี่น้องนามอะดีเลด (Adelaide) และซาราห์ แอน หรือแซลลี เยตส์ (Sarah Ann หรือ Sallie Yates) ซึ่งเป็นธิดาสาวของผู้เผยแผ่ศาสนา แม้แฝดอิน-จันเคยชินกับการเป็นคู่แฝดมาตลอด แต่เมื่อบิดามารดาของสองสาวไม่เห็นด้วยกับการแต่งงาน แฝดอิน-จันก็ตัดสินใจที่จะผ่าตัดแยกร่างออก ทว่าแพทย์เกรงว่าการผ่าตัดจะเป็นอันตรายต่อคนใดคนหนึ่งหรือทั้งคู่ เพราะไม่แน่ใจว่าท่อนเนื้อซึ่งตรึงร่างของแฝดคู่นี้เข้าด้วยกัน ประกอบด้วยเนื้อเยื่ออะไรบ้าง เนื่องด้วยสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องเอกซเรย์หรือวิธีบำบัดการติดเชื้อ
ว่ากันว่า จันจีบอะดีเลดได้สำเร็จก่อน แล้วฝ่ายหญิงจึงเกลี้ยกล่อมให้ซาราห์ชอบอินด้วย พิธีแต่งงานเกิดขึ้นในวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๖ (ค.ศ. ๑๘๔๓) แรกทีเดียวทั้งสี่อาศัยอยู่ด้วยกันในบ้านหลังเดียว และหลังจาก ๙ เดือน ภรรยาทั้งสองก็ให้กำเนิดทารกในระยะห่างกันเพียง ๖ วัน โดยลูกคนแรกเป็นบุตรชายซึ่งเกิดจากซาราห์กับอิน แฝดอิน-จันมีบุตรธิดารวมกันทั้งสิ้น ๒๒ คน โดยที่อะดีเลดกับจันมีชาย ๓ หญิง ๗ ส่วนอินกับซาราห์มีชาย ๗ หญิง ๕ ไม่ปรากฏว่าลูกคนใดมีความผิดปกติ นอกจากมีบันทึกว่า ๒ คนเป็นใบ้ หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างมีลูกได้ ๓ คนแล้ว ภรรยาทั้งสองก็ขอแยกไปอยู่ต่างบ้าน มีผู้สันนิษฐานไว้ ๒ สาเหตุ คือ ๑. เพราะต้องการพื้นที่เลี้ยงดูลูกมากขึ้น และ ๒. เพราะศรีภรรยาทั้งสองเริ่มทะเลาะเบาะแว้งกัน อิน-จันจึงลงเอยด้วยการสร้างบ้านใหม่ขึ้นอีกหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่ห่างกันไม่ถึง ๑ ไมล์ แล้วไปอยู่บ้านละ ๓ วันสลับกัน ยกเว้นเมื่อต้องออกปรากฏตัวซึ่งบางครั้งต้องจากบ้านเป็นแรมปี อิน-จันเคร่งครัดกับตารางเวลาดังกล่าวมาก และไม่ยอมเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
แม่ของอิน-จันได้ทราบข่าวของลูกแฝดของตนจากบาทหลวงที่อยู่ในประเทศสยาม ดังที่กล่าวไว้ในบันทึกของมิชชันนารีนามเฮเมนเวย์ (Hemenway) และบาทหลวงบิวเอล (Buel) ซึ่งพิมพ์ใน The Missionary Herald ฉบับที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๓๘๗ (ค.ศ. ๑๘๔๔) หน้า ๔๐๓ หลังจากบุคคลทั้งสองเดินทางไปเยี่ยมเยียนเมืองต่างๆ รอบบางกอก รวมทั้งเมืองแม่กลอง ส่วนหนึ่งของบันทึกนั้นมีใจความดังนี้
"ในช่วงบ่าย เราไปตามหาแม่ของแฝดสยาม และยินดีมากที่ได้พบชายผู้หนึ่ง ซึ่งนำเราตรงไปที่บ้านของเธอโดยไม่ต้องเสียเวลา เมื่อทราบว่าเรามีข่าวคราวเกี่ยวกับลูกทั้งสองที่จากบ้านไป ซึ่งเธอคิดว่าเสียชีวิตไปแล้ว เธอก็ให้การต้อนรับเราอย่างอบอุ่น เราให้ความมั่นใจแก่เธอว่า ข่าวล่าสุดที่เราได้รับจากอเมริกาแสดงว่าทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ และเพิ่งแต่งงานกับพี่น้องในมลรัฐหนึ่งทางตอนใต้ เมื่อทราบข่าวนี้แล้ว เธอรู้สึกปลื้มปีติ และแสดงให้เห็นว่าเธอรักใคร่ลูกทั้งสองมาก เนื่องจากญาติของคุณบิวเอลอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกับลูกทั้งสองของเธอ เขาจึงอาสาที่จะส่งข่าวใดๆ ก็ตามที่เธอต้องการฝากไปถึงลูกของเธอ เธอมีสีผิวไม่คล้ำเท่าสตรีชาวสยามส่วนใหญ่ และมีบุคลิกที่บอกว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นคนกระฉับกระเฉงเอาการอยู่ ดูเหมือนสามีทั้งสองของเธอเป็นชาวจีน ส่วนตัวเธอเองก็มีบิดาเป็นชาวจีน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่แฝดดังกล่าวจะเป็นชาวสยาม ยกเว้นแต่ว่าเกิดในสยามเท่านั้น" ข้อคิดเห็นสุดท้ายนี้ขัดกับความเห็นในสมัยปัจจุบันอยู่บ้าง เพราะเด็กต่างชาติที่เกิดในประเทศไทยล้วนมีสัญชาติไทย แต่เชื้อชาติตามบิดามารดา ส่วนเด็กต่างชาติที่เกิดในสหรัฐก็ล้วนถือเป็นชาวสหรัฐโดยปริยาย เว้นแต่เด็กนั้นจะเลือกสัญชาติตามบิดามารดาเมื่ออายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์
สำหรับคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ของแฝดสยาม ก็มีผู้รายงานว่า เพื่อให้เป็นไปตามครรลองของประเพณีอันดีงามและหลีกเลี่ยงคำครหาในยุคนั้น แฝดอิน-จันใช้วิธีขึงผ้าไว้ตรงกลางเวลาหลับนอนกับภรรยา กันไม่ให้อีกฝ่ายเห็นรายละเอียดของเพลงรัก เนื่องจากทั้งสองมีระบบประสาทที่แยกต่างหากจากกัน ฉะนั้นจึงไม่น่าที่อีกฝ่ายจะพลอยตื่นเต้นไปกับความรู้สึกต่างๆ นานาในระดับเดียวกันโดยปริยายไปด้วย ยิ่งกว่านั้นหลักฐานต่างๆ ยังชี้ว่า อินและจันมีรสนิยมที่ไม่เหมือนกัน เป็นต้นว่า จันชอบอาหารรสจัดและเหล้า ส่วนอินเป็นมังสวิรัติและไม่ดื่มเหล้า แปลกพอควรที่อินไม่พลอยเมาไปด้วยเมื่อจันดวด
ในระหว่างที่อิน-จันไต่เต้าสู่ความสำเร็จนั้น ทั้งสองไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับเจ้าของคณะละครสัตว์ผู้มีชื่อเสียงนาม พี.ที. บาร์นัม (P.T. Barnum) แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามในช่วงปลายทศวรรษที่ ๑๘๔๐ บาร์นัมเริ่มรณรงค์ออกข่าวเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของแฝดสยาม คล้ายๆ กับเหมาว่าตนเองมีความเกี่ยวข้องกับอิน-จัน ทั้งที่ในความเป็นจริง สัญญาเชิงธุรกิจระหว่างบาร์นัมและอิน-จันมีขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ (ค.ศ. ๑๘๖๐) เนื่องจากเหตุผลทางการเงินผลักดันให้อิน-จันต้องออกปรากฏตัว เพื่อหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวและให้การศึกษาแก่ลูกๆ อิน-จันเซ็นสัญญาปรากฏตัวเป็นเวลา ๖ สัปดาห์ ที่พิพิธภัณฑ์แห่งอเมริกาของบาร์นัม ในกรุงนิวยอร์ก แต่เพราะความขัดแย้งทั้งในด้านธุรกิจและส่วนตัว ทำให้การแสดงเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น การร่วมงานกับบาร์นัมจึงยุติลง จากนั้นพอถึงช่วงปี พ.ศ. ๒๔๐๘ (ค.ศ. ๑๘๖๕) สงครามระหว่างฝ่ายเหนือและใต้ของสหรัฐมีผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อิน-จันจึงกลับมาแสดงกับบาร์นัมอีกครั้งในช่วงกลางปี พ.ศ. ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๘) ซึ่งบาร์นัมประกาศโฆษณาว่า เป็นการปรากฏตัวครั้งสุดท้ายก่อนผ่าตัดแยกร่าง ตามบันทึกของบาร์นัม เขาอ้างว่า เขาส่งอิน-จันไปอังกฤษเพื่อหาแพทย์ผู้ยอมทำการผ่าตัด
หลายปีต่อมาหลังแต่งงาน จันกลายเป็นคนติดเหล้า ส่วนอินติดไพ่ และสองพี่น้องทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างไม่หยุดหย่อน
ในวันที่ ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔) ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่สหรัฐอยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอันดับที่ ๑๘ คือยูลิสสิส แกรนต์ (Ulysses Grant)๓ บุรุษแฝดที่โลกรู้จักกันในนาม "อิน-จันแฝดสยาม" ก็ได้ถึงแก่กรรมลงเมื่ออายุ ๖๓ ปี โดยจันเกิดอาการหัวใจวายและเสียชีวิต อินไม่สามารถช่วยอะไรได้ นอกจากกล่าวว่า "อีกเดี๋ยว ฉันก็จะไปด้วย" ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ประมาณ ๒ ชั่วโมงครึ่งต่อมา อินก็ถึงแก่กรรม
อิน-จันเป็นบุคคลที่กำเนิดขึ้นพร้อมสภาพร่างกายที่ตนเองปฏิเสธไม่ได้และผิดจากคนทั่วไป แม้ไม่ใช่ความพิการ แต่ก็ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกได้ต่างๆ นานา ทว่าทั้งคู่ก็สามารถเอาชนะนามธรรมต่างๆ ตั้งแต่ความรู้สึกสมเพชตัวเอง สายตาและความคิดของคนนับไม่ถ้วน และพิสูจน์ให้เห็นว่าคำพยากรณ์ว่าตนเป็นกาลกิณี คำวินิจฉัยของแพทย์ที่ว่าจะมีอายุสั้น คำทายของคนทั่วไปว่าต้องอยู่เป็นโสดไปตลอดชีวิตเพราะคงไม่มีใครอยากแต่งงานด้วย และอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ลบล้างได้ทั้งสิ้น เราคงได้แต่จินตนาการถึงชีวิตที่อาจเป็นไปได้ของแฝดคู่นี้ หากทั้งคู่ไม่ออกเดินทางออกนอกประเทศ หรือตัดสินใจกลับสู่สยามในช่วงหนึ่งของชีวิต อิน-จันอาจเป็นพ่อค้าฐานะดีที่เดินทางไปมาระหว่างประเทศจีนและสยาม หรือเป็นผู้ร่วมคณะทูตเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ บางทีอาจได้รับใช้เบื้องพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้าหลวงก็เป็นได้
นอกจากเป็นคนไทยคู่แรกที่เดินทางไปสหรัฐที่โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน และที่สมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับสตรีชาวอเมริกันแล้ว ยังเชื่อว่าอิน-จันเป็นคนแรกที่ตัดฟืนด้วยวิธีที่เรียกกันในปัจจุบันว่าสลับกันฟันฟืน (คนหนึ่งจามขวานบนด้านหนึ่งของต้นไม้ ส่วนอีกคนจามด้านตรงข้าม สลับกัน) และเป็นชาวไร่คนแรกในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนาที่ผลิตยาสูบพันธุ์ใบตองอ่อน (bright leaf) ซึ่งใบเป็นสีเหลืองมะนาวเมื่อผ่านกระบวนการทำให้แห้ง และเป็นพันธุ์ที่มีราคาดีในตลาดยาสูบ
เรื่องราวชีวิตของแฝดชาวสยาม แสดงให้ใครๆ ในสมัยซึ่งจารีตประเพณีเป็นนามธรรมที่คนรักษาไว้อย่างหวงแหน เห็นว่าคนที่มีรูปร่างแตกต่างไปจากลักษณะที่เห็นกันทั่วไป ก็สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ เท่าที่อ่านเรื่องเกี่ยวกับอิน-จันมา ความคิดรวบยอดอันเกิดจากความรู้น้อยของผู้เขียนก็เปลี่ยนไป จากที่เคยนึกภาพว่า แฝดอิน-จันคงดีแต่เดินไปเดินมาในวงละครสัตว์ให้คนชี้แล้วหัวเราะ และมีรายได้พอเลี้ยงตัว กลายมาเป็นภาพของผู้ให้ความบันเทิงที่นำความแปลกใหม่และความบันเทิงสู่ผู้ชม คงมีเสียงหัวเราะเหยียดหยันดังถึงหูทั้งสี่อยู่บ้าง แต่คงไม่ดังพอที่ทำให้บุคคลทั้งสองหมดเยื่อใยกับชีวิต มิเช่นนั้นเราคงไม่ได้เห็นครอบครัวขนาดใหญ่ของอิน-จัน ซึ่งยังคงสืบสานมาจนบัดนี้ โดยมีลูกหลานประมาณ ๒,๐๐๐ คน อยู่กระจัดกระจายทั่วสหรัฐ และคงไม่ได้อ่านเรื่องราวชีวิตอันน่าทึ่งในดินแดนต่างถิ่น ความเป็นสามี พ่อ และเพื่อนบ้านที่ดี รวมทั้งการเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนที่ตนอาศัยอยู่
ข่าวคราวเกี่ยวกับชีวิตของแฝดอิน-จัน ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ต่างๆ เป็นระยะๆ ตลอดช่วงชีวิตนับตั้งแต่เดินทางไปถึงสหรัฐ ข่าว ๔ เรื่องที่นำมาให้อ่านกันครั้งนี้เป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น ข่าวแรกเป็นข่าวเกี่ยวกับแฝดสยามที่เดินทางไปถึงอเมริกาใหม่ๆ ข่าวถัดมาเป็นข่าวสั้นที่ลงพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๓๙๖ (ค.ศ. ๑๘๕๓) ข่าวที่ ๓ เป็นข่าวเกี่ยวกับแผนผ่าตัดแยกร่างของคนทั้งคู่ ซึ่งคงคิดกันหลายครั้ง เพราะก่อนแต่งงานก็มีข่าวการผ่าตัดหนหนึ่ง ส่วนข่าวสุดท้ายเป็นข่าวการเสียชีวิตของแฝดสยามในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔)
· ลำดับเหตุการณ์สำคัญในชีวิตแฝดอิน-จัน
พ.ศ. ๒๓๕๔ (ค.ศ. ๑๘๑๑) ถือกำเนิดที่อำเภอแม่กลอง เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม
พ.ศ. ๒๓๖๘ (ค.ศ. ๑๘๒๕) เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. ๒๓๗๐ (ค.ศ. ๑๘๒๗) เป็นตัวแทนของประเทศ เดินทางไปโคชินไชน่า
พ.ศ. ๒๓๗๒ (ค.ศ. ๑๘๒๙) เดินทางไปปรากฏตัวเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐ
พ.ศ. ๒๓๘๒ (ค.ศ. ๑๘๓๙) โอนสัญชาติเป็นอเมริกัน และซื้อบ้านในวิลเคส เคาน์ตี้ มลรัฐนอร์ทแคโรไลนา
พ.ศ. ๒๓๘๓ (ค.ศ. ๑๘๔๐) ย้ายบ้านไปที่แทร็ป ฮิลล์ (Trap Hill)
พ.ศ. ๒๓๘๖ (ค.ศ. ๑๘๔๓) สมรสกับสองพี่น้องตระกูลเยตส์ เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน
พ.ศ. ๒๔๐๓ (ค.ศ. ๑๘๖๐) ออกปรากฏตัวร่วมกับคณะของพี.ที. บาร์นัม เป็นครั้งแรก
พ.ศ. ๒๔๑๒ (ค.ศ. ๑๘๖๙) เข้าเฝ้าฯ พระนางเจ้าวิกตอเรีย ที่ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. ๒๔๑๗ (ค.ศ. ๑๘๗๔) ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑๗ มกราค
คนที่เกิดมาเป็นฝาแฝดนั้นส่วนใหญ่ในอดีตชาติมักจะเคยเป็นเพื่อนรักกัน คนรักกัน และเคยทำกรรมทั้งดีและไม่ดีมาร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ โดยทุกครั้งที่ทำกรรมร่วมกันก็มักจะอธิษฐานจิตขอให้ได้อยู่ด้วยกัน พบเจอกันทุกชาติไป ด้วยอำนาจของการทำกรรมมาร่วมกันนี่เอง บวกกับแรงอธิษฐานจิตจึงทำให้เกิดมาเป็นฝาแฝดกันครับ
อย่างกรณีอิน-จัน นี้ถือเป็นแฝดที่เกิดมาด้วยอำนาจของบาปอกุศลที่คน 2 คนต่างก็เคยทำร่วมกันมาสม่ำเสมอ
แฝดในแต่ละคู่ก็สร้างกรรมเพื่อการมาเกิดเป็นคู่ไม่เหมือนกันมีหลายสาเหตุ เช่น ผัวเมียคู่หนึ่ง มักจะชอบจับวัว จับควาย มา 2 ตัวมาเทียมเกวียนบังคับให้มันต้องลากเกวียนทั้งที่มันไม่ยินดีเท่าใดนัก 2 ผัวเมียมีจิตยินดีที่วัว ควายลากเกวียนเป็นคู่ๆ โดยตนเองเสวยสุขอยู่บนความทุกข์ของสัตว์อื่นอยู่กัน 2 คน ด้วยอานุภาพของกรรมคือการทรมานสัตว์ให้ตัวติดกันนี้ ทำให้เกิดมาตัวติดกันได้รับความทรมานในการเดิน ในการใช้ชีวิตเฉกเช่นเดียวกับสัตว์ที่ตนได้เคยไปทรมานเขามานั่นเองครับ
ถ้าเกิดเป็นแฝดชายหนึ่งหญิงหนึ่งก็ต้องวัดกันที่บาปกรรมข้อกาเมของฝ่ายใดยังมีหลงเหลืออยู่ถ้ายังเหลืออยู่ก็เกิดเป็นแฝดหญิง ถ้าเบาบางมากก็เกิดเป็นแฝดชาย
กรณีที่เกิดเป็นฝาแฝดแบบตัวไม่ติดกัน เป็นแค่ลูกฝาแฝดหน้าตาเหมือนกันไม่มีความพิการมาแต่เกิด นั้นเกิดมาด้วยอำนาจของการอธิษฐานจิต และประกอบกรรมดีมาร่วมกันระหว่างคนรักกันซะเป็นส่วนมากครับ เช่น สามีภรรยาคู่หนึ่ง รักกันมากเวลาทำบุญมักจะทำร่วมกัน ไปไหนมาไหนก็ไปด้วยกันตัวติดกันยังกะปาท่องโก๋ มีความเข้าอกเข้าใจกันเป็นอย่างดีชอบอะไรไม่ชอบอะไรรู้หมด พอเวลาจะทำบุญก็อธิฐานจิตขอให้ได้อยู่ด้วยกันตลอดไป ได้พบเจอกันทุกชาติไป หรือขอให้ได้รักกันอย่าได้พรากจากกันทุกชาติไป อธิษฐานทำนองนี้มาอย่างหนาแน่น ครั้นพอเขาทั้ง 2 ตายละโลกนี้ไปบังเกิดขึ้นมาใหม่สัญญาคือความจำเดิมก็อันตรธานหายไปสิ้น และได้เกิดเป็นแฝดกันชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง
แต่ถ้าบังเอิญชาตินั้นที่สองคนผัวเมียได้อธิษฐานจิตบังเอิญภรรยาเบื่อหน่ายในความเป็นเพศหญิงเต็มทนตั้งใจรักษาศีลเจริญภาวนามา ประกอบกับทำกรรมร่วมกันมาเนืองๆ และอธิษฐานจิตขออย่าได้พรากจากกัน ขอให้ได้เป็นคู่กันตลอดไป ถ้าฝ่ายหญิงอดีตภรรยาหมดกรรมกาเมก็จะได้เกิดมาเป็นฝาแฝดเพศเดียวกันชาย กับชายครับ
แต่ถ้าหากชาติที่สองคนผัวเมีย คนที่เป็นเมียยังไม่หมดเวรกาเม และคนที่เป็นสามีไปก่อกรรมเจ้าชู้สร้างเวรกาเมมาเพิ่มด้วย(ต้องไม่ถึงกับละเมิดศีลข้อ 3 เพียงเข้าข่ายหมกมุ่นในกาม) ก็จะได้อัตภาพมาเกิดเป็นฝาแฝดหญิงกับหญิงนั่นเองครับ
สรุปก็คือ จิตที่มีความยึดมั่นถือมั่นในสังขารร่างกายยิ่งยึดมากความทุกข์ก็ยิ่งจะตามมามากครับ
สิ่งทั้งหลายในวัฎฎะสงสารไม่มีอะไรยั่งยืนไม่ใช่ของสนุกเลย บ้างก็เกิดเป็นพ่อ แม่ ลูก สามี ภรรยา ลูก เพื่อน ศัตรูกัน วนกันไปก็วนกันมาสลับตำแหน่งกันนับภพนับชาติไม่ถ้วน ยิ่งถ้าจิตที่ประกอบไปด้วยอวิชชามีความปรารถนาจะได้สังขารหรือร่างกายของบุคคลอื่นชนิดข้ามภพข้ามชาติ เพื่อสนองกิเลส ตัณหาแล้วไม่สนุกเลยครับ เหตุมาจากกามสุขน้อยทุกข์มากจริงๆ ครับ