การปฏิบัติที่ลัดสั้น
การปฏิบัติที่ลัดสั้น
การปฏิบัติที่ลัดสั้น : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพิสุทธิ์ เกรียงบูรพา
๒๖๐๐ ปี พุทธชยันตี เพิ่งผ่านไปหยกๆ ชาวพุทธค่อนโลก ต่างก็ยกย่องให้ประเทศไทยนับเป็นเมืองพุทธที่แข็งแรง มีสำนักปฏิบัติกันมากมายหลากหลาย ทั้งที่นำโดยพระสงฆ์ก็ดี แม่ชีก็ดี กระทั่งที่เป็นฆราวาสก็ดี แต่หลายท่านคงอาจจะเคยคิดอย่างผมว่า ...
เอ๊ะ ทำไมการปฏิบัติธรรมของเรายังไม่ค่อยจะก้าวหน้าอย่างที่คาดหวังตั้งใจไว้สักที
หนำซ้ำยังมีหลายคนที่ใจร้อน หรือหลักอาจไม่แน่นก็โยกเยกโอนเอน คล้อยไปตามผู้หวังดี (แต่ประสงค์ร้ายโดยไม่เจตนา) บางคนชักชวนกันให้ย้ายไปสำนักโน้นบ้าง นี้บ้าง หรือเปลี่ยนแนวไปปฏิบัติตามแบบอาจารย์รูปโน้นบ้าง รูปนั้นบ้าง หรือไม่อยากทำจิตภาวนาแล้ว หันไปเฝ้าดูจิตโดยถ่ายเดียวเลย ยอมละทิ้ง "พุทโธ" ทั้งๆ ที่กำลังจิตยังไม่เป็นโล้เป็นพาย ก็ไม่รู้ว่าจะไปเฝ้าดูจิตกันทันได้อย่างไร บ่อยครั้งก็สับสนปนเป กลายเป็นพายเรือออกทะเลไปเลยก็มี
ผมเองสมัยบวชอยู่วัดมาบจันทร์ (สาขาหนองป่าพง ๗๓) ก็เคยใจร้อน ทั้งๆ ที่ใช้ชีวิตทางโลกมาร่วม ๔๐ ปี เพิ่งมาบวชได้แค่ ๔-๕ วัน คาดหวังความสงบสยบกิเลสทั้งมวล พบแต่ความสุขเย็น แต่กลับไม่เป็นดังหวัง อดรนทนไม่ไหวจึงขอโอกาสไปถาม พระอาจารย์อนันต์ อกิญฺจโน (เจ้าอาวาส) ว่า การทำสมาธิไม่มีวิธีลัดหรือครับ
“ไม่มี ต้องทำไปเรื่อยๆ เพื่อต่อสู้กับกิเลสมากมายที่สะสมมาทั้งชีวิตฆราวาส” ท่านอาจารย์อนันต์ตอบ
“แบบนี้นักปฏิบัติบางคนจะไม่ท้อถอย ถอดใจกันไปก่อนเหรอครับ”
“ต้องอดทน ไม่มีวิธีลัดหรอก เพราะพวกเราเคยตามใจกิเลสกันมาชั่วชีวิตแล้ว ลัดสั้นสุดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็คือ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ หมั่นพิจารณาไปเรื่อยๆ ถ้าวาสนาบารมียังไม่ถึง ก็ต้องบ่มเพาะด้วยปัญญาไปก่อน, ศีล-สมาธิ-ปัญญา นี้แหละ ลัดสั้นที่สุดแล้ว รู้สึกอะไร ให้รู้อยู่กับปัจจุบันขณะ”
นี้เป็นกรณีหนึ่งครับ
แม้พระอาจารย์ผมเองก็ตาม สมัยท่านยังเป็นพระอุปัฏฐากรับใช้พระเดชพระคุณ หลวงพ่อชา สุภัทโท อยู่นั้น วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังเดินจงกรมปฏิบัติภาวนาอยู่อย่างขะมักเขม้น วันนั้นท่านรู้สึกไม่สงบสักที จึงได้ขอโอกาสถามท่านพระอาจารย์ชาว่ามีวิธีย่อ วิธีลัด อย่างไรบ้าง ท่านก็ให้โอกาส แม้จะไม่ตอบในทันที แต่ท่านอาจารย์ก็นำไปเทศน์ตอบในหมู่สงฆ์คืนวันเดียวกันว่า
“คนเรานี้มีตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ เรียก อายตนะภายใน ๖ ส่วนอายตนะภายนอก เราก็ทราบกันดี คือ รูป-เสียง-กลิ่น-รส-โผสตัพพะ-ธรรมารมณ์ รวม ๖ ประการเหมือนกัน, อายตนะภายในและนอกนี้ เมื่อกระทบกันเข้า เราเรียกว่า "ผัสสะ" แล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิด "เวทนา" ความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์, เมื่อเวทนาเกิดแล้วนี่เป็นปัจจัยให้เกิด "ตัณหา" ...เราก็มีอายตนะกันทุกคน เพราะฉะนั้นกิเลสก็เกิดขึ้นตรงผัสสะนี้เอง! ”
ท่านยังเมตตาให้อุปมาอุปมัยต่อว่า... “มะนาวนั้นมีรสเปรี้ยว ความรู้สึกเปรี้ยวอยู่ในน้ำมะนาวนั้น แต่ถ้าหากยังไม่มากระทบกับลิ้น เราก็ยังไม่รู้รส (ผัสสะ เวทนา) "อารมณ์" ที่เข้ามากระทบนี้แหละ เกิดขึ้นหลังผัสสะ ... ฉะนั้นสอนจิตของเราไม่ให้ยินดี ไม่ให้ยินร้าย เพราะทั้ง ๒ ข้าง ๒ ฝั่ง ยังไม่สงบ (ยังสวิงอยู่) ต้องอยู่ตรงกลาง ไม่แกว่ง-ไม่ยินดียินร้าย”
นี้อีกกรณีหนึ่ง
สอดคล้องกับสมัยหนึ่ง (ราวปี พ.ศ.๒๕๑๐) อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในเพศบรรพชิต หลังไปจำวัดอยู่สวนโมกข์ ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ฝึกอยู่กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ จนถึงเวลาต้องลาสิกขา จึงไปกราบลาท่านอาจารย์
“ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยให้คติเพื่อนำไปใช้ในชีวิตฆราวาสด้วยครับ”
“ให้คุณรู้จักทำจิตให้เป็นปกติ”
อาจารย์เนาวรัตน์เล่าให้ฟังเสมอว่า คำพูดของท่านอาจารย์พุทธทาสนั้น เรียบง่าย แต่กลับเปี่ยมพลัง ดังก้องอยู่ในมโนสำนึกเสมอ แม้จะผ่านกาลเวลามากว่า ๔๕ ปีแล้วก็ตาม การทำจิตให้เป็นปกตินั้น พูดมันง่าย แต่ทำยากครับ คือเมื่อดีใจก็ให้ประคองจิตไม่ฟู เมื่อผิดหวังเสียใจก็ประคองจิตไม่แฟบ นี่แหละการปฏิบัติลัดสั้น ที่ท่านอาจารย์ฝากให้ศิษย์รัก
นี้อีกกรณีหนึ่ง
แม้อาจารย์พุทธทาสเองก็ย้ำนักย้ำหนาถึง เคล็ดลับดับทุกข์ ซึ่งก็เข้าข่ายการปฏิบัติลัดสั้นเหมือนกัน ท่านตอกย้ำคงไปที่ การควบคุม "ผัสสะ" ไม่ให้เกิดผัสสะโง่ สมัยนั้นท่านเทศน์โฟกัสเจาะจงลงไปที่ "ผัสสะ" เป็นประการสำคัญ ประหนึ่งเป็นยุทธศาสตร์แห่งการดับทุกข์เลยก็ว่าได้ หากในทางบริหารอาจจะเรียกว่าเป็น Action Plan (แผนปฏิบัติการ) เลยทีเดียว ท่านพูดเป็นโศลกว่า ...
ทุกข์ ... เกิดที่จิต เพราะทำผิดเรื่องผัสสะ
ทุกข์ ... จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่เรื่องผัสสะ
ทุกข์ ... เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจเรื่องผัสสะ
นี่แหละครับ ลัดสั้นที่สุดแล้ว แต่ต้องพิจารณาอยู่บ่อยๆ นะครับ
ชวนกันไปปฏิบัติบูชา ภาวนาคืนเพ็ญ (Full Moon Meditation Night) ฉลองพระชันษา ๑๐๐ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทุกคืนเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ ตลอดปี ๒๕๕๖ สวนปทุมวนานุรักษ์ ระหว่างศูนย์การค้าสยามพารากอน และ เซ็นทรัลเวิลด์ใจกลางกรุงเทพมหานคร นัดภาวนาเพ็ญแรก ๒๖ มกราคม ค่ำวันนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (แอน โสมรัสมิ์ ประชาสัมพันธ์ ๐๘-๑๙๒๓-๐๙๘๙ )
เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!! กระทู้เด็ดน่าแชร์