โดย พระอาจารย์สุมโน ภิกขุ
สำนักปฏิบัติธรรมถ้ำสองตา จ.นครราชสีมา
,
จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของ “การทำสมาธิ” เริ่มจากการรักษาจุดยืนที่ถูกต้องเสียก่อน ถ้าเราไม่รู้ว่าเป้าหมายที่เราต้องการไปให้ถึงนั้นคืออะไร ทำไมเราต้องไปให้ถึงมันให้ได้ และเราจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร ความพยายามของเราก็คงไม่ส่งผลอะไรมากนัก ถ้าเราลงมือทำอะไรโดยไม่ใช้สติปัญญา ความล้มเหลวย่อมเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างแน่นอน
ดังนั้น ตั้งแต่แรกเริ่ม เราจะต้องมีความพยายามที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เราจะต้องมีจุดยืนที่เหมาะสม และเราต้องมองให้ออกว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราไปสู่เป้าหมายได้นั้นคืออะไร มันก็ไม่ต่างอะไรกับการขับรถจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง ถ้าเราเดินทางไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ถ้าเราไม่มีสติปัญญาเพียงพอที่จะรู้ว่าจะต้องไปทางไหนอย่างไร และถ้าเราหลงลืมอยู่เรื่อยว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน เราก็อาจจะพบว่าตัวเองกำลังหลงทาง หรือแย่ไปกว่านั้นเราอาจจะกำลังวิ่งวนไปมาเป็นวงกลมอยู่รอบเมือง
เริ่มแรก เราจะต้องเต็มใจที่จะทบทวนความเชื่อพื้นฐานที่ว่า เราคือร่างกายของเรา และเราคือความคิดของเราเสียก่อน ปัญหาเรื่องร่างกายนั้นไม่ได้ยากอะไรนัก แต่ปัญหาเรื่องความคิดจิตใจนี่สิที่ท้าทายยิ่งกว่า เราถูกทำให้เชื่อว่าคือคนที่เราคิดว่าเราเป็น ถ้าคุณพร้อมที่จะเถียงว่าความเชื่อที่ฝังรากลึกนี้ไม่จริง คุณก็สามารถมองเห็นถึงอันตรายจากการที่คุณเอาตัวเข้าไปพัวพันอยู่กับความคิดในรูปแบบต่างๆ ที่เดี๋ยวก็มาเดี๋ยวก็ไป ประสบการณ์ชีวิตของเราได้ชักนำให้เราสงสัยอยู่แล้วว่าความคิดเป็นสิ่งหลอกลวง เราเคยเห็นมาแล้วว่ามันมักจะส่งผลให้เรามีทัศนคติที่ไม่ดี และการตัดสินใจที่โหดร้าย ความทรงจำมากมายหลายเรื่องที่เรานึกไม่ออก แต่ก็จำได้ไม่ถูกต้องนัก แผนต่างๆ ที่เราวางเอาไว้ก็ไม่เคยเป็นไปอย่างที่คิด จิตสามารถก่อกำเนิดความทุกข์ทรมานในชีวิตของเราได้อย่างมากมาย เป็นเพราะตลอดมาเราเอาความคิดมาเป็นตัวกำหนดตัวตนของเรา และเพราะว่าเรายอมรับภาพต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาในสมองของเราร่วมกับการมีอัตตา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องพิจารณาและประเมินข้อสมมติฐานนี้อีกครั้งหนึ่งว่า นี่คือวิธีทางที่ใช่แล้วหรือ
แหล่งที่มา : dhammathai