จะทำบุญทั้งที...ใคร่ครวญให้ดีก่อน (ไหม...?)


ข่าวเกี่ยวกับพระสงฆ์บางรูปที่ใช้ของใช้หรูหราเกินสมณบริโภคเฉกเช่นฆราวาส ที่แม้แต่ฆราวาสส่วนใหญ่ก็ไม่มีโอกาสได้ครอบครองเป็นเจ้าของ เช่น รถยนต์ราคาแพง กระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อดัง นั่งเครื่องบินเจ็ทไปกิจนิมนต์ สะสมรถยนต์โบราณ มีเงินในบัญชีธนาคารส่วนตัวระดับเศรษฐี เป็นต้น ในปัจจุบันกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามจากชาวบ้านว่าสิ่งเหล่านี้เหมาะสมและเกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสมณเพศหรือไม่

หากพระที่มีรสนิยมติดหรู มีนิสัยฟุ่มเฟือยเป็นการส่วนตัวจริงๆ จะด้วยการเสาะแสวงหาของใช้นั้นมาเอง หรือยินดีในสิ่งที่ชาวบ้านถวายมาก็ตาม ก็ถือเป็นพฤติกรรมที่ห่างไกลจากการปฏิบัติตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ และผิดวิสัยพระที่ควรต้องดำรงชีวิตด้วยความพอประมาณ พระรูปนั้นก็ควรแก่การติเตียนในพฤติกรรมนั้น

แต่เราอย่าเพิ่งพุ่งเป้าไปที่ผู้รับคือ “พระสงฆ์” เพียงฝ่ายเดียว เพราะบางครั้งพระเองก็ไม่กล้าปฏิเสธศรัทธาชาวบ้านกลัวจะเสียความรู้สึก ดังนั้น ฆราวาสเช่นเราท่านก็อาจต้องกลับมาพิจารณาตัวเองดูว่ามีส่วนทำให้พระต้องมีพฤติกรรมไม่คำนึงในสมณสัญญา (ความรู้สึกตัวว่าเป็นสมณะ) และสมณปฏิญญา (การยืนยันว่าตนเป็นสมณะ) หรือไม่

กล่าวคือ เราถวายสิ่งของเครื่องใช้เกินความจำเป็นของพระหรือเปล่า เราถวายสิ่งของที่เหมาะสมสำหรับพระหรือไม่ หรือเรารู้ไหมว่าพระต้องการอะไร อันไหนคือสิ่งจำเป็นสำหรับท่าน หรือการถวายแบบไหนจึงจะเหมาะสมแก่ท่านและเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่พระศาสนา ประเทศชาติ และสังคม รวมถึงไม่เป็นไปเพื่อก่อเกิดกิเลสจนทำให้เสียพระ

ถึงเวลาแล้วที่เราชาวพุทธควรมาทำความเห็นให้ถูกต้องในเรื่องของการทำบุญในพระพุทธศาสนาซึ่งมีหลายวิธี แต่เรามาเน้นในส่วนของการให้ทาน (ทานัง เทติ) แก่พระสงฆ์ที่กำลังเป็นปัญหาวิพากษ์วิจารณ์ในเวลานี้ ซึ่งหากเข้าใจในหลักการทำบุญแท้จริง เรานี่แหละคือผู้หนึ่งที่มีส่วนสำคัญทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคง

ถ้าใช้อย่างฆราวาสก็ควรแก่การติเตียน

ปัจจัย 4 อันได้แก่ จีวร (เครื่องนุ่งห่ม) บิณฑบาต (อาหาร) เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น และคิลานเภสัช (ยารักษาโรค) คือสิ่งที่จำเป็นที่พระต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แต่แม้ของเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่พระต้องอาศัยในชีวิตประจำวันเป็นปกติอยู่แล้วตามพระวินัยไม่ให้ภิกษุเก็บสะสมเกินตัว

ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ของถวายพระสงฆ์เน้นปัจจัย 4 คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัยรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น และยารักษาโรค แต่ถ้าของเหล่านี้มีจำนวนมากจากได้รับการถวายมา ตามพระวินัยไม่อนุญาตให้เก็บสะสม แต่อย่างไรก็ตามพระพุทธเจ้าทรงมีทางออกให้ โดยให้ยกเป็นของสงฆ์ที่ภิกษุสามเณรในวัดทุกรูปมีสิทธิที่จะมาร่วมใช้

ทว่าปัญหาที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเวลานี้แล้วก็เคยเป็นปัญหามาไหนแต่ไรแล้ว คือกรณีมีพระบางรูปใช้ปัจจัยเกินสมณบริโภคหรือที่ชาวบ้านมองว่าหรูหราไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ เช่น ใช้รถยนต์หรู นั่งเครื่องบินเจ็ท ถือกระเป๋าแบรนด์เนม มีเงินส่วนตัวเยอะ ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ ให้ความเห็นน่าสนใจไว้ 3 ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นแรกที่อยากให้มองในเชิงบวกว่า ถ้าการถวายรถยนต์เพื่อให้พระต้องออกไปทำประโยชน์กับสังคมมากขึ้นก็เป็นความจำเป็น โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์ของโลกและสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้พระสงฆ์ต้องออกไปสัมผัสและทำงานเกี่ยวกับสังคมมากขึ้น ดังนั้นความจำเป็นบางอย่างที่แม้พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตไว้ก็มีการอนุโลมผ่อนผัน เช่น การเดินทางด้วยรถยนต์ทางหนึ่ง เป็นต้น

ประเด็นต่อมาคือการถวายเพื่อใช้เป็นของสงฆ์ไม่ได้ใช้ส่วนตัวซึ่งประเด็นนี้ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ประเด็นที่ 3 การถวายแบบชอบพอส่วนตัวเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาทั้งผู้รับและผู้ถวาย โดยเฉพาะผู้รับต้องพิจารณาว่าสมควรรับหรือไม่อย่างไรในกรณีถวายของหรูหราเกินความจำเป็น เช่น เครื่องบินเจ็ทหรือรถเบนซ์ หรืออะไรก็ตาม

อาจารย์อักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้พระสาวกรับเครื่องบิน รถยนต์หรู ตรงๆ นั้นไม่มี เพราะในสมัยนั้นไม่มีของเหล่านี้ แต่พระพุทธเจ้าก็ให้เทียบกับที่ทรงบัญญัติไว้ว่า ถ้าพระใช้ชีวิตหรือมีพฤติกรรมเหมือนอย่างฆราวาสซึ่งพระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “กามโภคี” (ผู้บริโภคกาม) อันนั้นทรงตำหนิ และเรื่องนี้สามารถเอาหลักที่ทรงบัญญัติในพระวินัยนี้มาเทียบได้ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ

“คำว่าเหมาะหรือไม่เหมาะนั้นในพระวินัยสามารถที่จะเอามาปรับโทษได้ เพียงแต่เกี่ยวกับพระวินัยนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก่อนปรินิพพานว่า หากภิกษุจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย (ย้ำว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่ไม่ถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ) ก็สามารถถอนได้ แต่ทางฝ่ายพระมหาเถระอย่างพระมหากัสสปะประธานทำสังคายนาครั้งที่ 1 ท่านไม่ถอนเพราะมองว่าแม้สิกขาบทเล็กน้อยแต่ก็เป็นไปเพื่อทำให้พระที่ปฏิบัติตามละกิเลสได้” อดีตนาคหลวงให้ข้อมูลที่หลายคนไม่ทราบ

พร้อมให้ความเห็นต่อว่า ในเมื่อสังคมเปลี่ยนไปหากพระยังไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไร แต่อยากทำงานเพื่อสังคมและการพระศาสนาในการที่จะรับตรงนี้ก็ต้องพิจารณาและยึดหลักว่าเหมือนคนบริโภคกามไหม ถ้าเหมือน ถ้าผิดสมณสัญญาและสมณปฏิญญาไปแล้วก็ไม่สิ่งที่น่าทำ ถ้าไม่เหมือนก็สามารถรับได้

อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อสงสัยของชาวพุทธ คือ พระรับเงินโดยตรงได้หรือไม่ เพราะบางรูปก็รับ บางรูปก็ปฏิเสธ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ ให้ความเห็นว่า ในทางพระวินัยจริงๆ ไม่อนุญาตให้รับเงินโดยตรงด้วยมือ ตรงนี้มีวิธีการคือผู้ถวายก็ต้องไปดำเนินการกับไวยาวัจกรวัดที่จะมาจัดการเรื่องนี้ให้ท่านถูกต้องตามพระวินัย แต่ ณ วันนี้ความจำเป็นการใช้ส่วนตัวมีเพราะสภาพสังคมเปลี่ยนไป

“พระจับเงินจับทองผิดพระวินัยไหม อันนี้ ก็ยืนยันว่าผิดอยู่ แต่ความผิดนี้ไม่ถึงขั้นขาดจากความเป็นพระ เพียงปรับอาบัติเบา ถามว่าถ้าท่านรับเงินไว้เพื่อซื้อภัตตาหารฉันในวันที่บิณฑบาตไม่ได้ หรือเพื่อใช้ในการเดินทางไปเรียน ไปปฏิบัติศาสนกิจ หรือเพื่อจ่ายค่าเรียนหนังสือ ไม่มีเงินติดย่ามก็ลำบาก บางท่านต้องดูแลพระเณรในความอุปถัมภ์เป็นร้อย ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เรื่องนี้หากไม่มีคนดำเนินการให้ก็ลำบาก และคนที่ดำเนินการให้ก็หายาก เรื่องนี้พูดยากจริงๆ แต่คงต้องยอมรับในหลักการอันหนึ่งว่า อันไหนที่ปฏิบัติได้ อันไหนปฏิบัติไม่ได้ต้องเคลียร์ให้ชัด เพื่อจะได้รู้ชัดเจนว่าอันไหนนอกธรรมวินัยแค่ไหนอย่างไร อันไหนมาจากธรรมวินัยอันดับไหนอย่างไร ซึ่งการมีเรื่องเหล่านี้ผมว่าต้องเคลียร์ให้ชัดและชาวบ้านก็คงจะพอรับได้” อาจารย์จุฬาฯ ให้ความเห็น

เอาไปสร้างประโยชน์ดีกว่าเอาไปใช้ส่วนตัว

ด้าน พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ให้ความเห็นเกี่ยวกับการรับการถวายเงินของพระว่า แม้ในพระวินัยจะผิดที่พระรับเงินรับทอง แต่ขอบอกว่าถ้าพระรับเงินไม่ได้จะมีวัดได้อย่างไรในประเทศไทย เพราะจะเอาเงินที่ไหนมาสร้างวัด นี่คือความเป็นจริง แต่ว่าในการรับเงินนี้ความสำคัญอยู่ที่รับแล้วเป็นของใครซึ่งต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนคือรับแล้วอย่าให้เป็นของตัวเอง ต้องเข้าบัญชีวัด เป็นของสงฆ์ทุกคนใช้ร่วมกัน นี่คือสิ่งที่ถูกต้องและเงินนี้ยังสามารถเอาไปสร้างประโยชน์อื่นๆ ได้ เช่น ให้ทุนการศึกษาเด็ก สร้างโรงพยาบาล เป็นต้น แต่บางรูปชาวบ้านถวายเป็นของวัดแต่กลับนำเข้าบัญชีตัวเองถือว่าประพฤติเลวทราม

“ที่วัดสวนแก้วของอาตมาจะมีกฎระเบียบไว้เลยว่า พระทุกองค์ในวัดไม่เก็บเงินเป็นส่วนตัว ทุกอย่างเข้าวัด เวลาท่านจะไปไหน มูลนิธิฯ กรรมการวัด จะจัดรถให้ ขาดอะไร หรือเจ็บป่วย ค่ารักษาพยาบาลก็จะดูให้ ปีหนึ่งวัดใช้เงินในการพิมพ์หนังสือ ซีดีธรรมะ แจกญาติโยมหลายล้าน ทำแล้วโยมได้ประโยชน์ ไม่ใช่ไม่ได้ หรือจะสายหลวงพ่อชา พระพกเงินไม่ได้ แต่ไปไหนก็สะดวกเพราะมีฝ่ายอุปถัมภ์ดูแลจัดการให้หมด นี้เรียกว่านอกจากวินัยสงฆ์แล้วยังมีวินัยวัดมารองรับด้วย แต่บางวัดก็ลำบากตรงที่ไม่มีใครจัดการ ไม่มีกติกาสงฆ์แบบนี้ เพื่อให้ท่านได้รักษาวินัยอย่างเข้มแข็ง”

พระนักเทศน์ชื่อดัง กล่าวอีกว่า เรื่องเงิน ทอง หรือแม้แต่โทรศัพท์ เทคโนโลยี อยู่ที่ใครรับไปใช้อะไรในทางที่เป็นประโยชน์มากกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ตายตัวถึงขนาดรับไม่ได้ เช่น เงินชาวบ้านตกอยู่ในวัดพระเห็นก็ต้องเก็บไว้ประกาศหาเจ้าของ อย่างที่วัดมีที่นอนที่ชาวบ้านบริจาคมามีเงินติดมาเป็นล้านก็เก็บไว้ประกาศหาเจ้าของ

“ถ้าบอกว่าเห็นเงินเขาตกอยู่ในวัดแต่ไม่เก็บเพราะกลัวอาบัติ แต่วันหลังเจ้าของมาถามเห็นกระเป๋าเงินไหมท่าน ตอบเขายังไง ตรงนี้สงเคราะห์เขาไม่ได้หน่อยรึ ปัญหาอยู่ที่พระไม่ได้ทำตัวเป็นพระแต่ถ้าพระทำตัวเป็นพระ อย่าง หลวงพ่อคูณ ท่านรับเงินนะ แต่ท่านยังมีคุณพิเศษอีก เขาทำบุญ 300 ท่านชักร้อยเดียว มึงมีลูกมีเมียต้องกินต้องกินต้องใช้ เอาคืนไป และเมื่อท่านรับมาแล้วเอาไปสร้างประโยชน์แก่สังคมมากมาย นี่คือลักษณะพิเศษของความเป็นพระที่ดี”

พระนักเทศชื่อดังกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ความหย่อนยานและความเคร่งของแต่ละคนอันหนึ่ง แต่ส่วนตัวอะไรที่มันผิดแต่ไม่เสียหาย ผิดเพื่อส่งเสริมสติปัญญา ผิดเพื่อศึกษาหาความรู้ ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย อยากจะบอกว่า บางคนถือศีลเคร่ง เช่น อย่าฆ่าสัตว์ เผอิญพยาธิในท้องเยอะหมอบอกต้องกินยาถ่ายขับพยาธิ แล้วคนไข้บอกว่ากินไม่ได้เดี๋ยวศีลขาด อย่างนี้โง่บริสุทธิ์

“อาตมาว่ามันขึ้นอยู่กับว่าใครสะสม ถ้าใครสะสมมากเพื่อส่วนตัว สนองกิเลสตัณหา เพื่อความหรูหราของตัวเอง อันนี้แหละคือตัวที่ทำให้ศาสนาเสียหาย แต่ถ้าใช้เพื่องานพระศาสนา พัฒนาวัดก็ไม่เป็นปัญหา แต่อย่างไรก็ตาม โยมก็โง่เกินเหตุ ถวายมากเกินจำเป็น เกินสมณบริโภคก็เลยเกิดทุกข์ เกิดเรื่อง”

ทำบุญทั้งทีต้องใคร่ครวญ

เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ฝากว่า ต่อไปนี้ญาติโยมที่จะทำบุญด้วยการถวายอะไรแก่พระหรือวัดควรต้องคิดก่อน อิงหลักพระพุทธเจ้าใคร่ครวญเสียก่อนแล้วค่อยทำ ไม่ใช่ให้ตามเขาโดยไม่ใคร่ครวญ เพราะจะเกิดความโง่ในการทำบุญได้ เช่น ไปถวายรถราคาแพงแล้วไม่เสียภาษีทำให้พระลำบากอีก อีกส่วนหนึ่งคือถวายของเกินจำเป็นของพระ แม้กระทั่งสังฆทานบางวัดก็เกินไป

“อยากให้ดูบริษัทพฤกษาฯ เวลาเขาจะทำบุญวัดไหน จะส่งคนไปตรวจสอบว่าวัดนี้ๆ ทำประโยชน์อะไรบ้าง มีความจำเป็นหรือขาดแคลนเรื่องอะไรบ้าง แล้วเขาก็จะบริจาคมา แล้ว 6 เดือนก็ยังตามมาดูอีกว่าใช้เงินไปตามวัตถุประสงค์ของเขาหรือเปล่า อาตมาว่าควรต้องทำอย่างนี้ ไม่ใช่เจอแล้วควักโดยไม่ดูอะไรเลย”

ขณะที่ ผศ.ร.ท.ดร.บรรจบ ให้ความเห็นในแนวทางเดียวกันว่า ในส่วนของฆราวาสถ้าจะทำบุญเบื้องต้นให้ดูความจำเป็นของพระก่อนดีกว่าว่าขาดหรือต้องการอะไร ในวินัยพระห้ามพระขอปัจจัยจากคนอื่นที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ผู้ปวารณา แต่ถ้ารู้ว่าพระไม่ขออยู่แล้วเช่นนี้ลองสอบถามทางวัดหรือใครก็ได้

“ผมคิดว่าควรถวายตามความจำเป็นดีกว่า บางทีเราถวายไปไม่จำเป็นสำหรับท่าน หรือเกินสมณบริโภคก็อาจไปสร้างปัญหาให้ท่านอีก”อาจารย์จุฬาฯ ทิ้งท้าย


จะทำบุญทั้งที...ใคร่ครวญให้ดีก่อน (ไหม...?)

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์