ชีวิตก้าวหน้าได้ เมื่อใจพอเพียง
พระไพศาล วิสาโล
ทุกวันนี้มีความเชื่อที่แพร่หลายว่า คนเราจะก้าวหน้าได้ต้องมีความโลภ
เพราะความโลภจะผลักดันให้เกิดความขยันขันแข็ง
บางคนพูดไปถึงขั้นว่า ถ้าอยากรวยก็ต้องเป็นหนี้เยอะ ๆ
เพราะเมื่อเป็นหนี้แล้ว จะอยู่นิ่งเฉย นั่งเล่นนอนเล่นไม่ได้
ต้องตั้งหน้าทำงานหาเงินเพื่อใช้หนี้ ในที่สุดก็จะรวยไปเอง
คำพูดข้างต้นถูกต้องเพียงครึ่งเดียว ตรงที่บอกว่าคนเราจะร่ำรวย
หรือประสบความสำเร็จได้ต้องขยันขันแข็ง
แต่ความขยันนั้นไม่จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยความโลภเสมอไป
มีคนเป็นอันมากที่เมื่อถูกกระตุ้นให้เกิดความโลภแล้ว ก็เข้าหาการพนัน
หรือหนักกว่านั้นคือลักขโมยและฉ้อโกง
เพราะคิดว่าวิธีเหล่านั้นเป็นทางลัดที่จะทำให้รวยเร็ว ๆ
ในสายตาของคนเหล่านั้น (ซึ่งมีอยู่มากมายในเมืองไทย)
การขยันทำงานเป็นวิธีที่ให้ผลช้า
แต่ก็อย่างที่เรารู้กัน คนที่หมกมุ่นกับการพนัน ลักขโมย หรือฉ้อโกงแล้ว
แทนที่ชีวิตจะเจริญก้าวหน้า กลับเสื่อมถอยและตกต่ำไม่ช้าก็เร็ว
ไม่ใช่ความโลภดอก แต่เป็นความพอเพียงต่างหากที่ทำให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า
ทุกวันนี้เราพูดถึงความพอเพียงกันมาก แต่เข้าใจกันน้อย
ความพอเพียงที่จะทำให้ชีวิตก้าวหน้าได้ หมายถึง
ความพอเพียงในการบริโภคเป็นเบื้องต้น
มีเงินมากเท่าไรก็ตามแต่หากจับจ่ายใช้สอยไม่หยุด
เอาแต่ “เที่ยว” และ “เล่น” (เช่น เที่ยวห้าง เที่ยวสถานบันเทิง
เล่นการพนัน เล่นหวย ฯลฯ) สักวันก็ต้องยากจนหรือมีหนี้สินท่วมตัว
ในทางตรงข้าม ความประหยัดมัธยัสถ์ จับจ่ายใช้สอยหรือบริโภคอย่างรู้จักประมาณ ไม่ฟุ่มเฟือย เป็นหนทางสู่ความเจริญก้าวหน้า
สิ่งหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยทราบกันก็คือ
ประเทศที่เจริญก้าวหน้าอย่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น
ล้วนเป็นผลมาจากความประหยัดมัธยัสถ์ของผู้คน
แรนดี้ เพาช์ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์
ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Last Lecture อันโด่งดัง
เล่าว่าเมื่อเขาเป็นเด็ก แม้พ่อแม่มีฐานะการเงินที่ดี
แต่ทั้งครอบครัวแทบไม่เคยไปกินอาหารนอกบ้านเลย
ปีหนึ่ง ๆ พ่อแม่พาลูกไปดูหนังในโรงเพียงหนึ่งถึงสองครั้งเท่านั้น
“ดูโทรทัศน์สิ” พ่อแม่มักจะบอกลูก ๆ อย่างนี้ “มันฟรีรู้ไหม
ดีกว่านั้นก็ไปห้องสมุด ขอยืมหนังสือมาสักเล่ม”
คราวหนึ่งผู้เขียนมีโอกาสเยี่ยมเพื่อนที่ทำงานใน บริษัท GM
ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา
เพื่อนผู้เขียนเป็นวิศวกรระดับปริญญาเอกซึ่งมีเงินเดือนสูงพอสมควร
แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือเธอและเพื่อน ๆ
ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับเดียวกัน นำอาหารกลางวันมากินที่สำนักงาน
ไม่มีใครออกไปซื้ออาหารกินกันเลย
เพื่อนอธิบายว่านี้เป็นวัฒนธรรมของคนที่นั่น
ซึ่งคงไม่ได้หมายถึงที่บริษัท GM เท่านั้น
นอกจากความประหยัดมัธยัสถ์หรือความพอเพียงในการบริโภคแล้ว
ความพอเพียงในการแสวงหาเงินก็สำคัญเช่นกัน
ความพอเพียงดังกล่าวตรงข้ามกับความโลภในการหาเงิน
ความโลภอย่างหลังดูเผิน ๆ ก็น่าจะดี
เพราะถ้าโลภและขยันกอบโกยก็น่าจะรวยเร็ว ไม่ใช่หรือ
แต่อย่าลืมว่าความโลภนั้นบ่อยครั้งก็บดบังปัญญา
ทำให้ถูกหลอกง่ายหรือพลั้งพลาดจนสายเกินแก้
เราคงได้ยินเรื่องของคนที่หมดเนื้อหมดตัวเพราะ
เล่นแชร์ลูกโซ่ (เช่น แชร์แม่ชม้อย) หรือคนที่สูญเงินนับล้าน ๆ
เพราะถูกหลอกว่าจะได้ผลตอบแทนหลายเท่าตัว คนเหล่านี้ไม่ใช่คนโง่
แต่สาเหตุที่ถูกหลอกได้ก็เพราะความโลภอยากรวยเร็ว ๆ นั่นเอง
วิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ จนทำให้สถาบันการเงินกว่า ๕๐ แห่งต้องปิดตัว
และธุรกิจมากมายต้องล้มละลาย ส่วนหนึ่งก็เพราะหวังกำไรงาม
จากการกู้เงินดอลลาร์ดอกเบี้ยต่ำแล้วมาปล่อยกู้ในเมืองไทยด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง
แต่พอค่าเงินบาทตก ดอลลาร์ที่เคยราคา ๒๐ บาทก็เพิ่มเป็น ๕๐ บาท
ผลก็คือหนี้เพิ่มเท่าตัวชั่วข้ามคืน จนบริษัทเหล่านี้ไม่อาจใช้หนี้ได้
ส่วนคนที่กู้เงินมาซื้อหุ้นหรือบ้านเพื่อเก็งกำไร
ก็เดือดร้อนด้วยเช่นกัน เพราะไม่มีเงินจ่ายหนี้
วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ก็มีสาเหตุ คล้าย ๆ กัน
คือสถาบันการเงินพากันปล่อยกู้ให้คนซื้อบ้าน
โดยไม่สนใจว่าคนกู้จะมีปัญญาจ่ายหรือไม่
ทั้งนี้ก็เพื่อสถาบันเหล่านี้จะมีรายได้งาม ๆ จากการปล่อยกู้
ขณะเดียวกันก็แปลงหนี้คุณภาพต่ำเป็นตราสารห
รือพันธบัตรออกขายราคาถูก ๆ คนที่อยากรวยเร็ว ๆ ก็รีบซื้อ
แต่พอหนี้เหล่านั้นกลายเป็นหนี้เน่า จึงเดือดร้อนกันไปหมด
เศรษฐีที่หวังรวยฉับพลันพากันสิ้นเนื้อประดาตัว
ขณะที่สถาบันการเงินหลายแห่งถึงกับล้มละลาย
ส่งผลกระเทือนไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจถดถอยไปทุกหนแห่ง
คนที่รู้จักพอในการแสวงหาเงินหรือกำไร ย่อมมีสติ จึงยากที่จะถูกหลอก
ไม่กลายเป็นแมงเม่าที่บินเข้ากองไฟ จึงเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน
“พอใจในสิ่งที่มี ยินดีในสิ่งที่ได้” คือกุญแจสู่ความสุขและความก้าวหน้าของชีวิต
พอใจในสิ่งที่มีแปลว่าได้เท่าไรก็พอใจ แม้คนอื่นจะได้มากกว่าก็ไม่เป็นทุกข์
อย่างไรก็ตามเมื่อพอใจสิ่งที่ได้มาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่านั่งเฉย ๆ
งอมืองอเท้า ตรงกันข้ามเราควรขยันหมั่นเพียรต่อไป
เพราะความสุขที่แท้จริงมิได้อยู่ที่การมีมาก ๆ หรือบริโภคเยอะ ๆ
แต่อยู่ที่การทำงานและการสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่โลก
มนุษย์เราไม่สามารถสร้างความก้าวหน้าให้แก่ตนเอง และแก่โลกได้
หากไม่รู้จักพอกับการเที่ยวเล่นหรือปรนเปรอตนเอง
ขณะเดียวกันหากมัวแต่หาเงินหาทองไม่รู้จักพอ
ก็จะไม่มีเวลาและพลังงานเหลือสำหรับการทำสิ่งดีงามให้แก่ตนเองและแก่โลก
ท่านอาจารย์พุทธทาสสอนว่า จงทำงานให้มาก แต่บริโภคให้น้อย
เพื่อเอาส่วนเกินมาเจือจานผู้อื่น เศรษฐีที่เป็นพุทธสาวกในสมัยพุทธกาล
ล้วนใช้สอยพอประมาณ ทั้งนี้เพื่อนำเงินที่เหลือไปเอื้อเฟื้อคนยากจน
ขณะเดียวกันก็ขยันขันแข็งในการทำงาน
ไม่ใช่เพื่อหาเงินมามาก ๆ แต่เพื่อทำประโยชน์แก่ส่วนรวม
นอกจากการช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว เรายังควรมีเวลาสำหรับการฝึกฝนพัฒนาตน
เพิ่มพูนความรู้ และทำจิตให้สงบด้วย หากเรามัวแต่เที่ยวเล่น
หรือหาเงินหาทองไม่หยุดหย่อน เราจะมีเวลาเหลือสักเท่าไร
ในการทำสิ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิต
พอเพียงในการบริโภค ไม่โลภในการแสวงหาทรัพย์
แต่ขยันทำงานและสร้างสรรค์ความดีแก่ส่วนรวม
คือเคล็ดลับสู่ความก้าวหน้าของตนเองและของโลก