ในวิกฤต มีโอกาส
พระไพศาล วิสาโล
เมื่อพูดถึงความตาย เรามักนึกถึงความเจ็บปวด ความทุรนทุราย
และความพลัดพรากสูญเสียจากสิ่งที่รัก
บางคนอาจนึกเลยไปถึงสิ่งลี้ลับดำมืด
หรือความทุกข์ทรมานที่รออยู่เบื้องหน้า หลังสิ้นลม
ความตายจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัวในความรู้สึกของผู้คน
จนแม้แต่จะเอ่ยถึงก็ยังไม่กล้า
กล่าวได้ว่าความตายเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่สามารถจะเกิดได้กับคน ๆ หนึ่ง
เพราะไม่มีอะไรที่จะเป็นสุดยอดของความพลัดพรากนอกจากความตาย
แต่ในทุกวิกฤตย่อมมี “โอกาส”อยู่เสมอ
มองในแง่กายภาพ ความตายเป็นวิกฤตที่นำความแตกดับมาสู่ชีวิตก็จริง
แต่ในเวลาเดียวกันก็เปิดโอกาสให้หลายชีวิตมีลมหายใจยืนยาวต่อไป
โดยอาศัยอวัยวะจากผู้ตายมาปลูกถ่ายทดแทน
หรืออาศัยความรู้จากร่างของผู้ตาย
มาพัฒนาวิธีการเยียวยารักษาโรคร้ายเพื่อยืดชีวิตของผู้คน
ใช่แต่เท่านั้น ความตายยังเป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณด้วย
กล่าวคือเป็นประตูเปิดสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น
ดังคนโบราณเชื่อว่าหากตั้งจิตให้เป็นกุศลก่อนตายก็จะได้ไปเกิดในสวรรค์หรือ
ได้พบพระศรีอาริย์ในชาติต่อไป
ถ้าเป็นคนอีสานก็เชื่อว่า
จะได้ไปสักการะพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์
แต่ถึงแม้จะไม่เชื่อในภพหน้า
ความตายก็ยังสามารถหนุนเนื่องให้เกิดการยกระดับทางจิตใจ
ได้ตั้งแต่ขั้นสามัญไปจนถึงขั้นสูงสุด คือ การบรรลุอรหัตผล
ในพระไตรปิฎกมีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับบุคคลที่บรรลุธรรมขั้นสูง
ในขณะที่ความตายมาประชิดตัว อาทิ พระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดา
ในวาระสุดท้ายของพระองค์ทรงประชวรหนัก มีทุกขเวทนาแรงกล้า
พระพุทธองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมถึง ๗ วัน ๗ คืน
ในคืนสุดท้าย ทรงแสดงธรรมเรื่องความไม่เที่ยง
พระเจ้าสุทโธทนะทรงพิจารณาตาม
และเห็นแจ้งด้วยพระองค์เองว่า สังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ในที่สุดก็ทรงบรรลุอรหัตผลก่อนจะเสด็จดับขันธ์ในคืนนั้นเอง
พระติสสะก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ได้รับทุกขเวทนามากในยามใกล้ตาย
มิหน้ำซ้ำท่านยังถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งเนื่องจากเป็นโรคที่น่ารังเกียจ
ท่านถูกปล่อยให้นอนจมปฏิกูลและมีหนองเปรอะเปื้อนเต็มตัว
เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบจึงเสด็จมาดูแลท่าน
อาบน้ำชำระร่างกายและเปลี่ยนจีวรใหม่
จากนั้นพระองค์ได้แสดงธรรมสั้น ๆ ว่า
“อีกไม่นาน ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ ถูกทอดทิ้ง
ทับถมแผ่นดิน เหมือนท่อนไม้ อันหาประโยชน์มิได้”
พระติสสะได้พิจารณาตามและประจักษ์ด้วยตนเองร่างกายนี้ไม่น่ายึดถือเลย
ส่งผลให้ท่านบรรลุอรหัตผลในขณะเดียวกับที่สิ้นชีวิต
ส่วนพระสัปปทาสมีประวัติที่แตกต่างออกไป
กล่าวคือ ท่านมีความทุกข์มากที่ไม่เคยพบกับความสงบใจเลยตลอด ๒๕ ปีที่บวช
จึงตัดสินใจปลิดชีวิตตนเอง ช่วงที่ท่านปาดคอตนเอง
ท่านได้สติหันมาพิจารณาความเจ็บปวดอันแรงกล้าที่เกิดขึ้น
และเห็นว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
จิตจึงละวางจากความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน
ชั่วขณะนั้นเองก็บรรลุอรหัตผลก่อนจะสิ้นลม
ความตายนั้นตัดรอนชีวิตและบีบคั้นกายใจก็จริง
แต่ในเวลาเดียวกันก็ประกาศสัจธรรมอย่างชัดเจนว่า สังขารนั้นไม่เที่ยง
ไม่มีอะไรที่ยึดติดถือมั่นว่าเป็นของเราได้เลย เพราะเอาไปไม่ได้สักอย่าง
ส่วนทุกขเวทนาอันแรงกล้านั้นก็ตอกย้ำว่าสังขารนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ไม่น่ายึดไม่น่าเอา เป็นเสมือนครูที่เฆี่ยนตีไม่หยุดหย่อนจนกว่าเราจะเข็ดหลาบ
และยอมปล่อยวางสังขารนั้นไปในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ในยามที่ความตายมาคุกคาม
จึงมีโอกาสอย่างมากที่บุคคลจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม
จนละวางความยึดติดถือมั่นในสังขาร เข้าถึงมรรคผลนิพพาน
หรือลุถึงอิสรภาพทางจิตวิญญาณได้
ท่านพุทธทาสภิกขุจึงเรียกช่วงเวลาที่ใกล้ตายว่าเป็น “นาทีทอง”ของชีวิต
สำหรับคนทั่วไปที่ไกลวัด หรือไม่หวังนิพพานในชาตินี้
ความตายก็ยังเป็นโอกาสให้ได้พบสิ่งดี ๆ เท่าที่ปุถุชนจะหวังได้
เช่น ได้เห็นลูกหลานหรือพี่น้องกลับมาคืนดีกัน
เพราะเห็นแก่คนป่วยที่กำลังจะตาย
ในทำนองเดียวกัน บางคนที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้ภรรยาจนฝ่ายหลังตีจาก
เมื่อเจ้าตัวป่วยหนักจนภรรยาอยู่เฉยไม่ได้ ต้องกลับมาดูแลอย่างใกล้ชิด
สามีจึงมีโอกาสเอ่ยปากขอโทษภรรยา และนำไปสู่การคืนดีกันได้ในที่สุด
เมื่อถึงคราวจะสิ้นลมสามีก็จากไปอย่างสงบ
ทั้ง ๆ ที่ร่างกายใกล้จะแตกดับ
แต่ก็มีหลายคนที่ได้พบกับความสงบในยามใกล้ตาย
เพราะได้ปล่อยวางภาระต่าง ๆ ในชีวิต
ด้วยรู้ว่าไม่มีประโยชน์ที่จะแบกเอาไว้ต่อไป
บ้างก็หันมาให้เวลากับลูกหลานและพ่อแม่ ได้รับความอบอุ่นใจ
และดีใจที่ได้ทำสิ่งสำคัญในชีวิตก่อนตาย
บางคนเมื่อรู้ว่ามีเวลาเหลือน้อย ได้หันเข้าหาธรรมะ
เจริญสมาธิภาวนา สร้างบุญสร้างกุศลเต็มที่
จึงพบกับความสุขใจอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน
หากไม่มีมรณภัยมาประชิดตัว ผู้คนเหล่านี้ก็คงยังหมกมุ่นกับการงาน
แสวงหาเงินทอง วุ่นวายกับภาระต่าง ๆ หาไม่ก็เพลิดเพลินกับความสนุกสนาน
จนลืมไปว่ายังมีสิ่งที่ดีกว่าหรือสิ่งสำคัญอย่างอื่นในชีวิตที่ต้องใส่ใจ
ใช่หรือไม่ว่าความตายมาเตือนให้เขาหันมาทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจอย่างแท้จริง
รางวัลที่ได้ก็คือความสงบเย็นและความสุขใจที่อาจไม่เคยรู้จักมาก่อน
กระทั่งนาทีสุดท้ายของชีวิตก็ยังพบกับความสงบได้
ไม่ทุรนทุรายแม้ทุกขเวทนาทางกายจะบีบคั้นก็ตาม
ความตายจึงไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยความทุกข์ทรมานเสมอไป
มีผู้คนเป็นอันมากที่จากไปท่ามกลางความอาลัย
และความปลื้มปีติของญาติที่เห็นคนรักของตนจากไปอย่างสงบและงดงาม
มารี คูรี นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องเคยกล่าวว่า
...ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่น่ากลัว มีแต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ...
ความข้อนี้ใช้กับความตายได้ด้วย
ความตายนั้นไม่น่ากลัวเลยหากเราเข้าใจความตายอย่างรอบด้านและทุกแง่มุม
จนเห็นว่าความตายไม่ใช่วิกฤต หากเป็นโอกาสอันทรงคุณค่าด้วย
ที่มา...นิตยสารซีเครท : Vol.2 No.26 25 July 2009