จิตมนุษย์เหมือนคนบ้าหาบหิน


จิตมนุษย์เหมือนคนบ้าหาบหิน
โดย หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


การฝึกสมาธิ รวมจิตรวมใจให้เข้ามาภายใน ธรรมดาจิตนี้ ดวงจิตดวงใจจริงๆ ก็คือดวงจิตดวงใจดวงเดียวเท่านั้น คนๆ หนึ่ง สัตว์ตัวหนึ่ง ไม่ว่าใคร มีจิตดวงเดียว จิตดวงเดียวนี่แหละ แต่ว่าความอยาก ความดิ้นรน กิเลสมันเยอะ เรียกว่ามีมาก โบราณท่านตัดออกไปจากอายตนะทั้งหลาย ว่ากิเลสนี้มีตั้งพันหน้า ตัณหาร้อยแปด ก็คือว่ามันเยอะแยะ คิดมากไปเท่าไหร่ กิเลสมันก็มากไปตามความคิด

พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า จงรวมจิตใจเข้ามา ถ้ารวมจิตใจเข้ามา จิตมันก็มีดวงเดียว จิตดวงเดียวเป็นผู้ลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในกามภพ ในรูปภพ ในอรูปภพ ในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก เปรตโลก ยมโลก ไม่ว่าโลกใดก็ตาม จิตดวงเดียวเป็นผู้หลง เป็นผู้ไป เมื่อเกิดในภพใดๆ ตั้งอยู่ภพใดๆ ก็ไปยึดถือว่า ตัวเองอยู่ในภพนั้นๆ จิตดวงเดียว เมื่อเรารวมเข้ามาแล้ว รักษาได้ง่าย เพราะมันเป็นของอันเดียว

ที่นี้ถ้าเราคิดมากไป ปรุงแต่งมากไป ตามอำนาจของกิเลสตัณหาในจิตใจนั้น ก็เลยมากเรื่องมากราวไป พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า จิตนี้เป็นใหญ่ เป็นประธาน สำเร็จแล้วด้วยดวงจิต เมื่อจิตจะเอาอะไร จะทำอะไร จะพูดอะไร จะทำบุญทำบาป ก็สำเร็จด้วยดวงจิตดวงใจทั้งนั้น แม้พระพุทธเจ้าบำเพ็ญโพธิญาณมาสำเร็จได้ ก็เพราะดวงจิตดวงใจทั้งนั้น พากาย พาวาจา ให้ประพฤติดีทำดี ก็คือจิตดวงนี้แหละ

ดวงจิตดวงนี้นั้น ไม่ใช่เราไม่รู้ไม่เข้าใจ มันมีอยู่ เราทุกคนย่อมรู้ว่า ในตัวเรานี้แหละ ในใจเรามีความคิดนึกปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา ความอยากทั้งหลาย ท่านให้ชื่อว่า ตัณหา กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ก็คือความดิ้นรน วุ่นวาย กระสับกระส่ายในจิตไปเท่าไรก็ติดเข้าไปเท่านั้น เมื่อจิตไม่สงบ ไม่ตั้งมั่นอยู่ในดวงจิตดวงใจแล้ว จิตนั้นเองเป็นผู้แส่ส่ายไปรับเอาเรื่องต่างๆ มาคิด มานึก มาปรุง มาแต่ง ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ไม่ต้องไปเก็บเอาอะไรมาอีก เท่าที่มันมีอยู่นี้มันก็หนักพอแรงแล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนัก แล้วยังจะไปเก็บเอาเรื่องราวอารมณ์ภายนอกเข้ามา ให้มันยุ่งเหยิง มันก็ยิ่งหนักยิ่งหน่วงเข้าไป เหมือนกับว่าเราหาบ เราแบกเต็มแรงแล้ว แต่ยังไม่พอ เก็บเข้ามาใส่อีก จิตใจที่ไม่สงบ ไม่ตั้งมั่นอยู่ภายในนี้ ท่านว่าเหมือนคนบ้าหาบหิน

นิทานคนบ้าหาบหินนั้นมีอยู่ว่า บ้านั้นท่านว่าบ้า ๑๐๘ บ้า ๓๒ บ้า นับไม่ได้ มีบ้าชนิดหนึ่ง ไม่โหดร้ายประการใด ได้บุง ได้ตาด ได้อะไรมาก็หาบไป เมื่อเห็นไม้ เห็นก้อนหิน เม็ดกรวดอะไรก็ตาม เก็บใส่ข้างหน้าข้างหลัง แล้วก็หาบเรื่อยไป ไม่ว่าเห็นอะไรอยู่ข้างถนนหนทางก็เก็บมาใส่ทั้งนั้น เรียกว่าเก็บก้อนหิน ของหนักมาใส่ หาบไป จนกระทั่งหาบไปไม่ได้ ก็เก็บออก เก็บออกพอเบาไปได้ก็หาบไปอย่างนั้นแหละ

เขาให้ชื่อว่าคนบ้า คนบ้าชนิดนั้นไม่มีเรื่องราวกับใคร แต่มีเรื่องราวกับหิน เห็นของหนักแล้วก็เอามาใส่ เจ้าของก็หาบไป เมื่อหาบไป มันก็เบา ก็เก็บมาใส่ใหม่ เห็นของใหม่ก็เก็บใส่ใหม่ เป็นอยู่อย่างนี้ ตลอดวันตลอดคืน แก่ทำมาอย่างนั้น นี้เรียกว่าเป็นนิทานอันหนึ่ง

นิทานคนบ้าหาบหินนี้ เปรียบอุปมาเหมือนจิตใจของคนเรา ไม่ภาวนา ไม่สงบ ก็ไม่สละออกไปจากอารมณ์ต่างๆ ที่เก็บเข้ามา ตาเห็นรูป ก็เก็บเอามาไว้ มาคิด มานึก มาปรุงแต่งในทางที่จะยึดเอาถือเอาเหมือนคนบ้าหาบหิน รูปดีก็อยากได้ ดิ้นรนวุ่นวาย รูปสวย รูปงาม ไม่ว่ารูปวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยก็ตาม รูปคน... เมื่อเห็นว่ารูปดี ก็อยากได้ ปรารถนา ดิ้นรนไปตามกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา มันเก็บเข้ามา ยึดเข้ามา

ที่นี้ ในขณะที่รูปไม่ดี รูปน่าเกลียดน่ากลัว รูปน่าชัง ก็เก็บเข้ามาอีก ไปเกลียด ไปกลัว ไปชัง พาให้จิตใจไม่เป็นสมาธิภาวนา คือเป็นธรรมดาของจิตไม่สงบ ไม่มีภาวนาพุทโธอยู่ในดวงใจ เมื่อตาเห็นรูปในส่วนที่ดีก็หลงไปอีกอย่างหนึ่ง ในส่วนที่ไม่ดี ก็หลงไปอีกอย่างหนึ่ง วุ่นวายอย่างนั้นแหละ เหมือนกับว่าคนบ้าหาบหิน

นอกจากตาเห็นรูป หูได้ฟังเสียง ก็คอยเก็บเข้ามา นอกจากเก็บเข้ามาแล้ว ตัวเองก็ชอบพูดชอบกล่าวแต่ในสิ่งที่ไม่นั้นแหละ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ธรรมะคำสั่งสอนมีตั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ก็ไม่ท่องบ่นสาธยาย เอามาจดมาจำ แต่คำดุคำด่า ว่าร้ายป้ายสีให้แก่กัน วันนี้ชอบเอามาคิด เอามานึก แม้สิ่งนั้นจะล่วงเลยมานานแล้วก็ตาม จำไว้ ไม่ให้ลืม เขียนไว้ไม่ให้ลืม เป็นอย่างนี้มาตลอดกัป ตลอดกัลป์ ตลอดภพ ตลอดชาติ ไม่ว่ามนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย มันเป็นอยู่อย่างนี้ ไม่รู้จักปล่อยวาง

ทางสมาธิภาวนา ธรรมะธัมโม คำสอนในทางพุทธศาสนานั้น ท่านให้ตั้งอกตั้งใจบริกรรมภาวนา คนอื่นผู้อื่นไม่สำคัญเท่าใจของเราเอง ใจของเรานี้แหละ ควรภาวนานึกน้อมอยู่ในตัว ในใจ อย่าได้ประมาท ไม่ต้องไปหาบไปหิ้วเอาเรื่องของคนอื่น ผู้อื่น

สัตว์โลกทั้งหลายนั้นมีอยู่มากมาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อะนันตังอัปปะริมาณัง” อนันตัง แปลว่า จะนับก็ไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แม้มนุษย์โลก สัตว์โลกทั้งหลายยังนับอ่านไม่ได้ ลองคิดดูว่า สัตว์เดรัจฉานในน้ำ บนบก ในอากาศนั้นมีมากมาย เต็มไปด้วยสัตว์ทั้งหลาย นับได้เมื่อไร ไม่มีใครนับได้ ในพื้นแผ่นดิน ก็เต็มอยู่ในแผ่นดิน พวกมด พวกปลวก พวกแมลงเล็กๆ น้อยๆ จนสมมติให้ชื่อมันไม่ได้ มันมากมาย ที่มันเกิดมาได้แล้วก็มี ส่วนที่มันยังเกิดไม่ได้ เหลือแต่ดวงจิตดวงวิญญาณอยู่ ก็เรียกว่าแน่นโลกอยู่ก็ว่าได้

ดวงจิตดวงวิญญาณของสัตว์ทั้งหลายนี้ เรียกว่าเต็มโลก หรือภาษาโบราณท่านว่า ดวงจิตดวงใจของสัตว์โลกนั้นมันเต็มโลก เหมือนเอาข้าวสารยัดใส่ไห ข้าวสารในไห ในหม้อ ในตุ่ม เต็มไปอย่างนั้นแหละ แน่นอยู่ในไห ในถุงอย่างไร ดวงจิตดวงใจของสัตว์โลกก็เต็มอยู่อย่างนั้น ไม่หมด ไม่สิ้น

บางคนก็มาเห็นว่า มนุษย์โลกในยุคนี้สมัยนี้มันมากมาย จนรัฐบาลแต่ละประเทศเลี้ยงไม่ไหว ต้องมีการคุมกำเนิดไม่ให้มันเกิด ถ้ามันเกิดมาแล้วก็จะมากมายหลายอย่าง แต่ละบุคคลๆ เลยมีการคุมกำเนิดไม่ให้มันเกิด มันจะเกิดหรือไม่เกิดก็ตามที แต่ว่าดวงจิตดวงใจของสัตว์โลกทั้งหลายนั้น มันเกิดอยู่อย่างนั้นแหละ มันมีอยู่แล้ว ที่คุมกำเนิดก็คุมได้แต่ในรูปขันธ์ คือไม่ให้มันมีรูปขึ้นมา แต่ว่าในจิตในใจนั้นมันคุมไม่ได้ มันเกิดก่อนผู้ควบคุมด้วย มันเกิดมาตั้งแต่อเนกชาติ นับภพ นับชาติ นับกัป นับกัลป์ นับตั้งฟ้าตั้งแผ่นดินไม่ได้แล้ว ดวงจิตดวงใจอันนี้ มันจึงเป็นดวงจิตที่เรียกว่า หลงใหลอยู่ในโลกมานมนาน เป็นคนบ้าหาบหินมานานแล้ว จนนับไม่ถ้วน

แม้แต่พระศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ได้มาตรัสรู้ ในโลก พระพุทธเจ้าทั้งหลายก็รู้ว่าสัตว์โลกทั้งหลายมันมากมายเหลือที่จะพรรณนา พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งๆ มาโปรด มาเทศน์ มาสั่งสอนเอาก็ได้ แต่มันก็ไม่หมดไม่สิ้นไปได้ นับเป็นอสงไขยๆ ที่สัตว์มาพ้นทุกข์ไปสู่นิพพานตามพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ แต่ถึงกระนั้น สัตว์โลกก็ไม่มีทางจะหมด จะสิ้นได้ เพราะอะไร เพราะจิตใจของสัตว์โลกยังมีความหลงอยู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ท่านจึงให้มีความสังวรระวัง ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติบูชาภาวนา อย่าให้ใจไปเก็บเอาอารมณ์เรื่องราวภายนอกที่ไม่มีที่จบที่สิ้น ให้รู้จักปล่อยวาง ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่นเหม็นหอมอะไร ก็อย่าไปยึดไปถือเอา ถ้าจิตหลงไปยึดไปถือแล้ว เป็นทุกข์ในใจ เป็นทุกข์ในโลก ไม่มีที่จบที่สิ้น

ในเมื่อเวลากลิ่นสัมผัสในจมูก รสสัมผัสในลิ้น เรื่องรสอาหารการกินนี้เป็นตัวสำคัญอันหนึ่ง เพราะว่าชีวิตของสัตว์ทั้งหลายนั้นตั้งอยู่ได้เพราะมีอาหาร ที่มันเกิดขึ้นมามีชีวิตอยู่ได้ เพราะมีการบริโภคอาหาร ถ้าสัตว์ทั้งหลายไม่มีอาหารกิน รูปขันธ์ก็ตั้งอยู่ไม่ได้

รสอาหารนี้แหละ เป็นเหตุการณ์อันใหญ่ยิ่ง เพราะว่าจิตนั้นไม่อยู่ในสมาธิภาวนา ไม่มีอารมณ์ใจสงบระงับ ก็ย่อมดิ้นรนวุ่นวายไปตามอาหารการกิน สิ่งที่ล่วงมาแล้ว เคยกินเคยบริโภคอย่างใด จิตอันนี้ก็ไปยึดไปถือเอา เรียกว่าเหมือนกับคนบ้าหาบหิน มันก็หาบเอาสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ไม่ยอมให้ผ่านไป มันเก็บเอามาคิดนึกอีก และก็คิดไปข้างหน้า หลงอยู่ในรสอาหารการกิน หารู้ไม่ว่ารสอาหารการกินนั้น มันเป็นเพียงการมาประทังรักษารูปขันธ์ให้เป็นอยู่เท่านั้น เมื่อรูปขันธ์เป็นอยู่แล้ว เราก็จะได้เจริญสมถะกรรมฐานทำให้ใจสงบระงับ ไม่ปล่อยปละละเลยให้จิตใจไปวุ่นวายแต่เรื่องภายนอก ยังดวงจิตดวงใจให้สงบตั้งมั่นอยู่ภายในดวงใจนี้ จะได้รวมจิตรวมใจเข้ามาภายในไม่ให้วุ่นวายไปตามเรื่องภายนอก

ส่วนร่างกาย ก็มีสิ่งที่มาสัมผัสถูกต้อง เย็นร้อนอ่อนแข็ง เจ็บไข้ได้ป่วย สบาย ไม่สบาย ให้ชื่อว่า โผฏฐัพพะ สิ่งที่มากระทบกระเทือนรูปกายนี้ ก็เป็นอารมณ์พาให้จิตใจคนเราอยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ภาวนาพุทโธอยู่ในดวงใจไม่ได้ เพราะมีความลุ่มหลงอยู่ในผิวหนังผิวกาย หรือในเครื่องสัมผัส ไม่ว่าจะมีอะไรอยากได้อะไร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ปกปิดร่างกายนั้น นอกจากจะกันความร้อนหนาว เหลือบยุงแล้ว ยังนุ่งห่มประดับประดาตกแต่งร่างกาย เอาดีเอางาม วิเศษวิโส ไม่มีที่จบสิ้น นั่นแหละท่านว่า มันไปหาบเอา ยึดเอา ถือเอา เป็นทุกข์ในใจเป็นทุกข์ในโลก เป็นทุกข์ในกายเป็นทุกข์ในจิต ดวงจิตมันก็เป็นทุกข์

เมื่ออารมณ์ทั้งหลาย มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่มาถูกต้องกายไปเป็นอารมณ์อยู่ในจิต แต่มันไม่ใช่อารมณ์ภาวนาพุทโธ ไม่ใช่อารมณ์มรณกรรมฐาน แต่เป็นอารมณ์หลงใหลไปตามตา ตามรูป ตามหู ตามเสียง ตามจมูก ตามกลิ่น ตามลิ้น ตามรส ตามกาย ตามโผฏฐัพพะ มันหลงอยู่อย่างนี้

จิตเมื่อมันได้ผ่านอายตนะทั้งหลาย มันก็ไปเป็นอารมณ์อยู่ในจิต ดับไม่ลง สงบไม่ได้ จิตอันนั้นก็เลยเห็นว่า ความคิด ความนึก ความฟุ้งซ่านรำคาญ ดิ้นรนวุ่นวายกระสับกระส่ายได้มากเท่าไร ก็ถือว่าเป็นความสุข แต่ความสุขอันเป็นทุกข์ มันเก็บเข้ามา ยึดเข้ามา ถือเข้ามา ไม่รู้จักปล่อยจักวาง

พระพุทธเจ้าท่านปล่อยวางจนหมด ไม่มีอะไรยึดไว้ถือไว้ในจิตในใจ ดวงจิตดวงใจของพระองค์ก็เรียกว่า ละกิเลสพร้อมทั้งวาสนาได้หมดสิ้น คือท่านไม่เป็นบ้าเป็นบอมายึดมาถือตามโลกอีกต่อไป พระพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พระโสดา พระสกิทาคามี พระอนาคามี ท่านรู้จักปล่อยรู้จักวาง รู้จักตัวเองว่า ลุ่มหลงมาแล้วในโลกนี้จนนับไม่ถ้วน

เมื่อมาถึงปัจจุบันชาตินี้ ท่านก็ปล่อยวาง ท่านไม่หาบต่อไปอีก ปลงไว้ วางไว้ ตามหน้าที่ของเขา แล้วก็กำหนดพิจารณาให้เห็นแจ้งอยู่ภายในจิตใจของท่าน ไม่ใช่ท่านขาดสติ ขาดสมาธิ ขาดปัญญาไม่ได้ ท่านมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีวิชาความรู้ ท่านเห็นว่าจิตใจของท่านได้หาบ ได้แบก ได้หาม วุ่นวายมานานแล้ว ปลงเสียที วางเสียที เรียกว่าปลงตก

ปลงตก คือพิจารณาเห็นแจ้งว่าไม่ดี ไม่วิเศษวิโสอะไร ท่านก็ปลง ละออก ปล่อยออก วางออก ให้หมดสิ้น ไปจากจิต สิ่งใดที่ท่านเคยอิจฉาพยาบาทโกรธแค้นให้แก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ท่านก็ปล่อยวางออกไป ไม่อิจฉา พยาบาทใครอีกต่อไป

มีความเพ่งเล็งให้แก่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มีความสุขกาย สบายใจ อย่าได้เดือดร้อนวุ่นวาย ใครมีความสุขอย่างไร ก็ให้มีความสุขอย่างนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป พระพุทธเจ้า พระอริยะเจ้าทั้งหลาย เรียกว่าท่านมีเมตตากรุณาแก่สัตว์โลกไม่ซ้ำเติม ไม่เก็บเอามายุ่งในจิตใจด้วย

คนเราที่ใจไม่สงบ ก็เพราะว่าไปคอยยึด ไปคอยถืออยู่ หาบอยู่ เหมือนคนบ้าหาบหิน ไม่รู้จักปล่อยวาง ความจริงแล้ว เราจะไปปล่อยวางให้คนอื่น ไปว่าดีให้คนอื่นก็เท่านั้น ไปว่าชั่วเสียหายให้คนอื่น ก็เท่านั้น

หน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรมภาวนาในทางพุทธศาสนานั้น ท่านทำจิตทำใจของท่านให้มีความสงบตั้งมั่น มั่นคงอยู่ในบริกรรมภาวนา ในดวงจิตดวงใจของท่านทุกๆ ท่าน ทุกองค์ เมื่อยังไม่พ้น ก็เพียรพยายามเพื่อให้หลุดให้พ้น

เมื่อพ้นไปแล้ว หลุดไปแล้ว ท่านก็มีความเมตตาแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ท่านก็มีความเมตตาแก่สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่มีการซ้ำเติมบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่มีความทุกข์กายทุกข์ใจ แล้วก็ไปซ้ำเติมให้มันมีความทุกข์หนักขึ้นไปอีกไม่เอา ท่านมีวิธีสั่งสอน แนะนำให้พุทธบริษัทมีภิกษุ สามเณร สามเณรี ผ้าขาว นางชี ฤาษี ตั้งอกตั้งใจ ภาวนาทำความเพียรละกิเลส

การละกิเลสจะหมดจะสิ้นไปได้นั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าสงบอยู่เท่านั้น ยังไม่พอ จะต้องกำหนดพิจารณาให้เห็นแจ้งด้วยญาณ ด้วยปัญญาตาใจว่า รูปนาม กาย ใจ ตัวตนคนเรานี้แหละ ไม่มีอะไรจะเที่ยงแท้แน่นอน ยั่งยืน จะให้เป็นไปตามความรักความปรารถนาทุกอย่าง ทุกประการนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ารูปขันธ์ อันเป็นตัวเป็นก้อนอันนี้ก็ตาม นามขันธ์ ได้แก่ดวงจิตดวงใจคิดนึกปรุงแต่ง อะไรต่อมิอะไร มีความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ท่านมาฝึกฝนอบรม สั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้จักทำความสงบ ระงับ ให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ให้ยึดถือ แม้จะมีอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นในเวลาเรานั่งอยู่ เมื่อลุกจากที่นั่งไป ท่านก็สอนว่า อย่าเก็บเอาอารมณ์เรื่องราวที่มันเกิดขึ้นในเวลานั่งนั้นติดตามไปด้วย

ถ้าทำได้อย่างนี้ อารมณ์ภาวนาก็สบาย ไม่ไปเก็บเอาสิ่งที่เขาด่า เขาว่าดีชั่วให้ เมื่อลุกจากที่นั่งไปแล้ว ก็ไม่เก็บไปด้วย ในใจก็สบาย กายก็สบาย หูก็สบาย เพราะไม่ไปเก็บเอาอะไรต่อไปอีก หรือเขาติเตียนนินทา ว่าร้ายป้ายสีในเวลาที่เราอยู่ในน้ำ ถ้าเราขึ้นจากน้ำแล้วก็อย่าเก็บมา ทิ้งไว้ในน้ำนั้น

นี่คือนโยบายสอนผู้ปฏิบัติธรรมะ อย่าไปเก็บเอามา อย่าไปเอามาหาบ มายึด มาถือ ถ้าเอามายึดมาถือไว้แล้ว ไม่มีที่จบที่สิ้น ขึ้นชื่อว่าโลกแล้วไม่มีที่จบ ไม่มีที่สิ้น ถ้าใครต่อเติมส่งเสริมมากเท่าไหร่ ก็ไปมากเท่านั้น เลยไม่จบไม่สิ้น ทำไมมันจึงไม่จบไม่สิ้น ก็เพราะว่ามันวนๆ อยู่ในอาการอันเก่า

ทั้งโลกนี้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ในอายตนะภายใน อายตนะภายนอก มันกระทบกระเทือนอยู่อย่างนี้มันจะจบสิ้นที่ไหน มันวนอยู่ในอาการอันเก่า ท่านว่าเหมือนมดมันไต่ขอบด้ง ขอบหม้อ ขอบไห มันไต่เท่าไรๆ มันจะมีที่สิ้นสุดที่ไหนเพราะของมันกลม เรียกว่ามันไต่ไปตามความไม่รู้นั่นแหละ มันวนอยู่ในอาการอันเก่า แม้ความคิดนึกของคนเราว่าไปไกลที่สุดแล้วนั้น มันก็ไกลโดยความวนอยู่ในอาการอันเก่า

พระพุทธเจ้าจึงสอน ไม่ให้วนเวียนมาในโลกนี้อีก ต่อไปสงบจิตสงบใจ ตั้งใจให้มั่นในดวงจิตดวงใจ ให้จิตใจดวงนั้นมีปัญญาพิจารณา ที่มีความเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เป็นธรรมดาของสังขารทั้งหลาย เขาต้องเป็นไปอย่างนี้ แม้จิตใจของผู้มาอาศัยอยู่ในรูปขันธ์ คือขันธ์อันนี้ ดัวอันนี้ มิใช่ว่าจะได้ดังความปรารถนาทุกอย่างทุกประการ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ารูปขันธ์นี้ มีความแก่ความชรา มีความเจ็บไข้ได้ป่วย มีความแตกดับเป็นธรรมดา

จิตใจดวงที่ภาวนาพุทโธต่างหาก อยู่ที่ใดตั้งอกตั้งใจ ไม่ให้ใจของตนออกไปรับเอาเรื่องราวภายนอก สิ่งใดอยู่ภายนอกก็ให้ทิ้งไว้ นอกนั้นเรื่องราวอะไรที่มันเข้ามายุ่งในจิตในใจ ก็เพียรละในใจ ตั้งอกตั้งใจบริกรรม ภาวนาพุทโธรวมจิตใจเข้าไปภายในใจของตนเอง เพียรพยายามอยู่ในหัวใจของตนให้ได้ตลอดเวลา นั่งที่ไหนก็ภาวนาในที่นั้น ยืนอยู่ที่ไหนก็ภาวนาที่นั้น จะเดินไปมาที่ไหนก็ภาวนารวมจิตรวมใจให้สงบตั้งมั่น จนเกิดความรู้ ความฉลาด ความสามารถอาจหาญ ตัดบ่วงห่วงอาลัย กิเลสในหัวใจของตัวให้หมดไป สิ้นไป ไม่ใช่เพียงแต่ว่า ความอยากได้ อยากดี อยากเป็น อยากมีไปตามอำนาจกิเลส อันนี้ไม่มีที่จบที่สิ้น ดิ้นรนไปตามความหลง

ความรู้แจ้งเห็นจริง ก็ต้องมารู้ที่กายที่จิต ที่ตัวเรานี้เอง ว่าร่างกายสังขารของแต่ละบุคคล มีขาสอง แขนสอง ศรีษะหนึ่ง มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดโดยรอบ มีใจครองอยู่ในร่างกาย ตัวตนนี้ คนละดวงใจ ก็ให้เพียรพยายามรักษา เอาดวงใจดวงเดียวนี้ให้ได้ อย่าได้ขาดสติ อย่าได้ขาดสมาธิ อย่าได้ขาดปัญญา จงเก็บเข้ามาไว้ในหัวใจ อย่าส่งใจออกไปยุ่งวุ่นวายกับเรื่องภายนอก

จงมีความสงบจิตสงบใจ มีความตั้งมั่นอยู่ในหัวใจของตนอย่างเดียว สิ่งอื่นใดนอกจากจิตใจดวงที่รู้อยู่ภายในนี้ ออกไปทั้งหมด อนิจจัง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ขึ้นชื่อว่าเป็นสังขารทั้งหลาย จะเป็นสังขารอันเป็นรูป สังขารอันเป็นนามธรรมก็ตาม ย่อมมีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ปั่นป่วนอยู่เป็นธรรมดาอย่างนี้

ผู้ปฏิบัติธรรมะในทางพุทธศาสนา จงพากันรวมจิตรวมใจสงบตั้งมั่นอยู่ในดวงใจ จนเห็นว่า สิ่งอื่นใดนอกจากจิตใจที่มีความสงบตั้งมั่นนี้ออกไปทั้งหมด อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในความสุขทุกข์ ความเป็น ความมี อันมีอยู่ในกายและจิตนี้

จงทำความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรมะปฏิบัติ อันเป็นปัจจุบันธรรมในที่นั้นๆ สิ่งใดที่เป็นอารมณ์เรื่องราวอดีต มันก็ล่วงมาแล้ว เรื่องอนาคตมันก็ยังไม่มาถึง มันเป็นเรื่องภายนอกจากกายจากจิตออกไป จิตอย่าหวั่นไหวสั่นสะเทือน

จงเป็นผู้มีสติอยู่ทุกเวลา มีสมาธิอยู่ทุกเวลา มีสติปัญญา อยู่ทุกเวลา ทุกขณะ ทุกเวลา อย่าได้ประมาท มัวเมา รั่วไหลไปที่อื่น จิตใจมีอยู่ภายใน ภายในตัวของบุคคลเราทุกๆ คน ใจคนอื่น ผู้อื่น เขารักษาภาวนา ใจของเรามีอยู่ภายใน

เราต้องรักษาภาวนา อย่าได้ประมาท ผู้ไม่ประมาท ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ผู้ประมาทเรียกว่าเป็นไปเพื่อความเสื่อม ความเสีย ไม่กำหนดภาวนา ขาดสติขาดสมาธิขาดปัญญา ขาดความรู้ความฉลาด ขาดความสามารถอาจหาญ จิตใจเลื่อนลอยฟุ้งซ่าน ไม่ตั้งมั่นอยู่ในดวงใจ

จงเป็นผู้โอปนยิโก น้อมเข้าสู่หลักปัจจุบัน เวลานี้ เดี๋ยวนี้ให้ได้ เมื่อเรามาภาวนาอยู่ในตัวในใจนี้ ได้ทุกขณะทุกเวลา อยู่ในหัวใจนี้แหละ จะเป็นไปเพื่อความเจริญงอกงามในทางพุทธศาสนา ดังแสดงมาก็สมควรด้วยกาลเวลา เอวัง ก็มีด้วยประการ ฉะนี้


จิตมนุษย์เหมือนคนบ้าหาบหิน

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์