ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์ประทับ ณ เชตวนาราม ภิกษุทั้งหลายที่เที่ยวเผยแพร่ศาสนาไปทั่วทิศานุทิศ เมื่อออกพรรษาต่างก็เดินทางมาเพื่อเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อมีเรื่องอันใดที่สงสัยก็นำมาทูลถามกันตามแต่เหตุการณ์ ได้ถือปฎิบัติเช่นนี้ตลอดมา
มีภิกษุพวกหนึ่ง เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้านรับนิมนต์ฉันในบ้านของคหบดีผู้หนึ่ง ขณะกำลังฉันข้าวยาคูเพื่อรอเวลาบิณฑบาต เผอิญเห็นบ้านหลังหนึ่งในที่ไม่ไกล ถูกไฟไหม้ สาเหตุเกิดจากหญิงรับใช้ของบ้านนั้น จุดไฟหุงข้าวแล้วนั่งหลับไฟลามลุกเชื้อเพลิงติดหลังคา แล้วไหม้อย่างรวดเร็ว ขณะไฟไหม้ในบ้านนั้นเปลวไฟโหมหนัก ส่งเสวียนหม้อซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลมไฟติดไหม้โดยรอบพุ่งขึ้นสู่อากาศ บังเอิญมีกาตัวหนึ่งบินมาชนเสวียนหม้อ เอาคอสวมเข้าไปในวงเสวียนพอดี ไฟจึงไหม้กาตัวนั้นตกลงมาตายไม่ไกลจากพระภิกษุกลุ่มนั้น
ภิกษุเห็นดังนั้นก็เกิดความสังเวชใจ จึงพูดเป็นเชิงปรารภกันว่า “ท่านทั้งหลายจงดูเถิด กาบินอยู่บนอากาศอันกว้างใหญ่ไพศาล บริเวณที่เสวียนพุ่งไปในอากาศนิดเดียวก็ยังเอาศรีษะลอดเข้าไปไหม้จนได้ นอกจากพระศาสดาคงไม่มีใครทราบปุพพกรรมอันนี้ เมื่อเข้าเฝ้าก็จะขอทูลถามปุพพกรรมของกาให้จงได้” แล้วเดินทางต่อไป
ครั้นได้เฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว จึงทูลเล่าพฤติการณ์ของกาเท่าที่เห็นมา แล้วทูลถามว่า “กานั้นได้ทำกรรมอันใดไว้จึงประสบเคราะห์กรรมเพียงนี้พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์จึงทรงตรัสพยากรณ์ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาตัวนี้ได้เสวยผลกรรมที่ตัวก่อมาแต่อดีตชาติ มีประวัติโดยย่อว่า ในอดีตกาล กาตัวนี้เกิดเป็นชาวนาผู้หนึ่งในกรุงพาราณสี เขาพยายามฝึกโคดื้อเพื่อไว้ใช้งานไถ แม้จะพยายามฝึกเพียงไรก็ไม่สำเร็จ โคไม่ยอมทำตาม พอเดินลากไถไปหน่อยก็นอนเสีย ถูกเจ้าของตีและแทงด้วยปฏักก็ลุกไปหน่อยหนึ่งแล้วก็นอนตามเดิมอีก พราหม์พยายามอยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ ด้วยความโกรธสุดขีด จึงมัดฟางให้เป็นวงกลมมัดใหญ่ สวมเข้าไปในคอโค ปากก็กล่าวว่า
ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ฟังดังนั้น ต่างปลงธรรมสังเวชโดยทั่วกัน
ยังมีภิกษุอีกพวกหนึ่ง เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยทางเรือ ในขณะที่เรือแล่นมาในระหว่างทาง เรือเกิดหยุดเสียกลางทะเลเฉยๆ แม้นายเรือและลูกเรือต่างพยายามแก้ไขอย่างไรก็ไม่ยอมขยับเขยื้อน มนุษย์ผู้เชื่อโชคลางต่างวิจารณ์กันว่า “การที่เรือไม่แล่นนี้เป็นเพราะมีคนกาลกิณีอยู่ในเรือ หากกำจัดคนนี้ออกเล้ว เรือก็จะแล่นไปได้” จึงปรึกษากันว่า “จะหาทางรู้ผู้เป็นกาลกิณีได้โดยวิธีใด” จึงตกลงให้มีการจับฉลากกันขึ้น หากฉลากตกกับผู้ใด ก็แสดงว่าผู้นั้นเป็นกาลกิณี ให้โยนถ่วงทะเลเสีย จึงตกลงจับสลากกันทุกคน ผลปรากฎว่าสลากกาลกิณี ได้แก่เมียสาวของกัปตันเรือเอง จึงปรึกษากันว่า “การจับสลากเพียงครั้งเดียวอาจไม่ยุติธรรม ควรจับถึง 3 ครั้ง" จึงให้จับฉลากใหม่ ฉลากก็ตกไปกับเมียสาวนายเรืออีกทั้ง 3 ครั้ง ชาวเรือและผู้โดยสารจึงปรึกษากัปตันว่า “ท่านกัปตันท่านจะให้พวกเราทำอย่างไร”
กัปตันจึงกล่าวว่า “ถ้าจะรักษาชีวิตเมียข้าพเจ้าไว้ พวกท่านทั้งหลายก็จะพากันตายหมด พร้อมทั้งเมียและข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าไม่เห็นแก่ตัวพอจะทำเช่นนั้นได้ จงจัดการจับนางโยนลงทะเลตามที่ตกลงกัน”
ชาวเรือจึงพากันจับนางเพื่อโยนทะเล นางจึงร้องขอชีวิตด้วยความกลัว นายเรือได้ยินเสียงร้องจึงให้หยุด แล้วกล่าวว่า ถ้าจะโยนนางทั้งเครื่องอาภรณ์เหล่านี้ ของมีค่าก็จะสูญเสียเปล่า จงเปลื้องเครื่องประดับเสียให้หมด ให้นุ่งผ้าเก้าแล้วโยนลงไป แต่เราไม่อยากเห็นนางตกทะเล แล้วร้องขอความช่วยเหลือ พวกท่านจงเอาหม้อบรรจุทรายให้เต็ม แล้วผุกคอนางไว้ จะได้ถ่วงให้เร็วขึ้น สั่งแล้วเดินหลบไปเสีย
ฝ่ายชาวเรือจึงจับนางถ่วงติดกับหมอทรายโยนลงทะเล นางจมหายไปในน้ำทันที
ภิกษุที่อาศัยเรือมาเห็นดังนั้น จึงคิดว่า “เราจะต้องเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลถามถึงปุพพกรรมของนางให้จงได้” เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ จึงทูลถามถึงปุพพกรรม พระพุทธองค์ตรัสเล่าว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภรรยานายเรือในอดีตชาติเกิดเป็นภรรยาคหบดีผู้หนึ่งในกรุงพาราณสี ได้ทำงานบ้านด้วยตัวเองจนหมดทุกอย่าง ตั้งแต่ตักน้ำ ตำข้าว ตลอดจนตัดฟืนในป่า นางมีสุนัขเลี้ยงตัวหนึ่ง สุนัขนี้ติดตามนางไปในที่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเข้าป่าตัดฟืน ไปท่าตักน้ำหรือออกไปนอกบ้าน เพื่อนำข้าวไปให้สามีที่ปลายนาก็ตาม พวกหนุ่ม ๆ ทั้งหลาย เมื่อเห็นนางไปกับสุนัขจึงพากันล้อเลียนว่า “เฮ้ยพวกเรา ดู พรานสุนัขซิ ออกมาอีกแล้ว วันนี้เราคงได้กินเนื้อบ้างเป็นแน่”