เคล็ดวิชาการปฏิบัติดูจิต โดยคุณสันตินันท์

ที่มา Trader Hunter พบธรรม

จิตถูกห่อหุ้มด้วยอาสวะกิเลส

เวลาวิมุติอริยมรรคเกิดแต่ละขั้นๆ ก็มีความสุขเป็นลำดับๆ ไป ถึงจุดสุดท้ายก็มีความสุขล้วนๆ มีความสุขเพราะว่ามันไม่มีอะไรเข้ามาเคลือบจิตได้อีก หมอณัฐดูออกมั้ยจิตเราถูกห่อหุ้มไว้ มีเปลือกหุ้ม จิตเค้าถูกห่อหุ้มด้วยอาสวะ ยังปนเปื้อน เยิ้มๆ จิตยังปนเปื้อน ความปนเปื้อนนี้แหละ เป็นช่องทางให้กิเลสไหลเข้ามาสู่จิต (หมอณัฐถาม...ได้ยินไม่ชัด) .. อือ ดูอย่างนี้ก็ได้ แล้วจะเห็นเอง จิตใจนี้เป็นอิสระ รู้สึกมั้ยจิตใจไม่เป็นอิสระ ตอนนี้รู้สึกมั้ย อาจจะไม่เห็นตัวอาสวะตรงๆ แต่เห็นผลของจิตที่มีอาสวะ ไม่อิสระ จริงๆ จิตถูกอาสวะห่อหุ้มไว้ อาสวะนี่ เทียบแล้วคล้ายๆ กับ เรามี สมมติอยู่บ้านไม้ ใครเคยอยู่บ้านไม้ เวลาเราทำน้ำหกน้ำไหลไปเนี่ย เราจะเห็นเส้นทางที่เราเช็ดให้แห้ง เทน้ำลงไปที่เก่า มันไหลไปทางเดิมอย่างรวดเร็ว มันนำร่อง ความชื้นเดิมมันนำร่อง เพราะน้ำนี้ไหลไปตามความชื้นเดิม อาสวะกิเลสนี่มันนำร่องกิเลสเข้าไปย้อมจิต จิตของเราไม่มีอิสระ เหมือนลูกไก่ที่อยู่ในเปลือกไข่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านเป็นลูกไก่ที่เจาะเปลือกไข่ออกมาเป็นตัวแรก ท่านใช้คำเปรียบเทียบได้ดี เคยมีพราหมณ์คนนึงไปว่าพระพุทธเจ้า บอกอายุก็ยังน้อยพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่ามาก็ไม่ไหว้ไม่ต้อนรับ เฉยเมย ท่านบอกว่าท่านอาวุโสที่สุด ท่านเป็นลูกไก่ที่เจาะเปลือกออกมาได้ พวกที่เหลือยังอยู่ในไข่อยู่เลย ท่านจะไปไหว้ทำไม คำพูดของท่านนะ น่าฟัง จริงๆ แล้วเรามีเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่ จิตถูกอาสวะกิเลสห่อหุ้ม ทำยังไงก็ไม่ขาด ไม่ขาด ทำยังไง ยังไง้ ยังไงก็ไม่ขาด พระไตรปิฎกก็เลยใช้คำบอกว่า เวลาบรรลุพระอรหันต์นะ จิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะความไม่ถือมั่น เห็นมั้ย หลุดพ้นจากอาสวะ อาสวะมันห่อหุ้มไว้ จิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะความไม่ถือมั่น ไม่ถือมั่นในอะไร ในรูปนาม ในกายในใจ เนี่ยกุญแจของการปฏิบัติอยู่ที่กายกับใจนี่เอง เมื่อไรไม่ถือมั่นในกายในใจ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ไม่ถือมั่นในใจในจิต อาสวะจะขาดโดยอัตโนมัติ ถ้าเราเห็นอาสวะแล้วพยายามตัด ทำยังไงก็ไม่ขาด กำหนดจิตให้แหลมคมแค่ไหนก็ไม่ขาดนะ แทงก็ไม่ทะลุนะ พอมันขาดเราจะรู้สึกว่าเรามีอิสระ
23 ก.ค. 2549
สภาวะทุกอย่างเสมอภาคกัน
การเห็นสภาวะที่หยาบหรือละเอียด ธรรมะภายใน ธรรมะภายนอก ธรรมะที่เป็นกุศล อกุศล ธรรมะที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ก็เสมอภาคกัน คือทั้งหมดเกิดและดับ ไม่ใช่ว่าต้องทำให้ละเอียดขึ้นๆ จึงจะบรรลุธรรม บางวันมันก็หยาบ บางวันมันก็ละเอียด เพราะว่าทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของอนัตตา ทั้งหมดเลย สติก็เป็นอนัตตา บางวันก็หยาบ บางวันก็ละเอียด บางวันก็ไม่มีเลย เขาเกิดขึ้นมาจะเป็นยังไงก็ได้ เราเรียนไม่ใช่เพื่อว่าจะเอาดี ไม่ใช่ว่าเราอยากได้สติเยอะๆ เราไม่ได้เรียนเอาตรงนั้นหรอก แต่เราเรียนจนกระทั่งจิตมันเกิดความเข้าใจ ว่าทุกอย่างบังคับไม่ได้ สติจะเกิดหรือไม่เกิด จะหยาบหรือละเอียด เราก็เลือกไม่ได้ ไม่ได้เรียนเอาดีนะ แต่เรียนเพื่อที่จะเห็นว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น ธรรมะที่หยาบเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ธรรมะที่ละเอียดเกิดแล้วก็ดับ เสมอภาคกัน เรียนเพื่อให้เข้าใจตรงนี้เอง ในที่สุดก็เข้าใจว่า ทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น พระโสดาบันรู้แค่นี้เอง
22 ต.ค. 2548
การจำสภาวะธรรมได้เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ
สติเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุให้สติเกิด มันเกิดขึ้นเอง เราไปสั่งให้มันเกิดมันไม่เกิดหรอก สติมีการจำสภาวะได้ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะเรารู้จักโกรธเป็นอย่างไร พอโกรธสติก็เกิด พอรู้จักเผลอเป็นยังไง พอเผลอสติก็เกิด
พอหัดรู้กาย รู้ใจเนืองๆ สติปัญญาเริ่มแก่กล้าเพียงพอ จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเอง พอรวมแล้วก็จะเห็นสภาวธรรมเกิดดับ 2 หรือ 3 ขณะ จะเห็นตัวสภาวะเกิดดับ ถัดจากนั้นโคตรภูญาณจะเกิดขึ้น มันจะเกิดการปล่อยวางตัวสภาวะ พอเห็นสภาวะเกิดดับ ปัญญาแก่รอบแล้ว มันวาง มันทิ้งโดยไม่ได้เจตนา ตรงนี้ไม่มีความจงใจเหลืออยู่เลยตั้งแต่จิตรวมแล้วเห็นสภาวะเกิดดับ 2 หรือ 3 ขณะนั้น จิต จะวางการรู้สภาวะแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ตรงเนี้ยตรงที่มันปล่อยสภาวะก็ไม่ใช่ปุถุชน ตรงที่ทวนเข้าหาธาตุรู้ยังไม่เข้าถึงธรรมธาตุตัวนี้ก็ไม่ใช่พระอริยะ เพราะงั้นเป็นรอยต่อ เกิดขึ้นแว๊บเดียวทวนเข้าถึงธาตุรู้แท้ๆ ตัวรู้จะมีปัญญาสุดขีดเกิดขึ้น ธาตุรู้นี้ก็เกิดแล้วก็ดับได้อีก จะเห็นเลยว่าความเป็นราไม่มีสักนิดเดียว ถัดจากนั้นจิตจะไปเห็นนิพพาน 2 หรือ 3 ขณะแล้วแต่คน จะเห็นสภาวธรรมเกิดดับ 2 หรือ 3 ขณะจากนั้นจิตจะถอยออกมาจากอัปปนาสมาธิ พอออกมาข้างนอกมันจะทวนกระแสเข้าไปพิจาณาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกี๊แล้วมันจะเข้าใจ กิเลสยังเหลือ หรือไม่เหลือสักเท่าไร รู้ พอเราปฏิบัติได้อย่างนี้ พอเราต้องการเช็คตัวเอง เราสังเกตที่ใจของเรากิเลสของเราเหลือสักเท่าไร จะไปแล้วเท่าไร หลวงปู่ดูลย์ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่มั่นเสร็จแล้วไปเดินนะ เดินมาเดือนกว่าๆ กลับมารายงาน กิเลส 4 ส่วน ผมละเด็ดขาดไปแล้ว 1 ส่วน ส่วนที่ 2 ละได้ครึ่งเดียวยังไม่สมุจเฉจ (การตัดขาด) หลวงปู่มั่นบอกไปทำต่อถูกแล้ว จากนี้ดู สัพเพ สังขารา สัพพสัญญา อนัตตา
4 พ.ค. 2548
ทางลัด
จิตที่พ้นความปรุงแต่ง จะรู้ธรรมชาติที่พ้นความปรุงแต่ง (นิพพาน) ทางลัดที่สุดสำหรับการปฏิบัติธรรม จึงไม่ใช่การกระทำ (ปรุงแต่ง) ใดๆ แต่เป็นการหยุดกระทำ โดยไม่กระทำ (ปรุงแต่ง) ความหยุดให้เกิดขึ้น มีเพียง การรู้อย่างเงียบสนิทจริงๆ เท่านั้น (โดยไม่มีมายาของการคิดนึกปรุงแต่ง และมายาของการหยุดคิดนึกปรุงแต่ง) ที่เป็นสิ่งสุดท้ายซึ่งผู้ปฏิบัติจะทำได้ ก่อนที่จิตเขาจะ "ก้าวกระโดด" ไปเอง
หากพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงธรรมอย่างถึงที่สุด ย่อมต้องปิดพระโอษฐ์เงียบ แต่นั่นเป็นสิ่งยากเกินกว่าเวไนยชนจะเข้าใจได้ และหากจะทรงกล่าวธรรมอย่างย่นย่อที่สุดว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็ยังยากที่จะมีผู้รู้ตามได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายถ้าไม่ยึดรูปธรรม ก็ต้องยึดนามธรรมไว้ก่อน พระองค์จึงทรงบอก ทาง ของการปฏิบัติขึ้นมามากมาย โดยอิงกับรูปธรรมและนามธรรม เช่น ทาน ศีล ภาวนา กุศลกรรมบถ ตลอดจนการทำสมถะและวิปัสสนา ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พวกเราเดินเข้าใกล้ การหยุดพฤติกรรมทางจิต จนเหลือเพียงรู้อย่างเงียบสนิทจริงๆ นั่นเอง
เช่นทรงสอนให้ทำทาน เพื่อลดความกระวนกระวายเพราะความโลภ ทรงสอนให้รักษาศีล เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับความสงบระงับ ทรงสอนสัมมาสมาธิ เพื่อให้จิตตั้งมั่นและรู้ตัว และทรงสอนวิปัสสนา เพื่อทำลายแรงดึงดูดของอารมณ์ ที่จะพาจิตให้ทะยานไปก่อภพก่อชาติตลอดนิรันดร ผู้ปฏิบัติที่ยังขาดความเข้าใจ ย่อมปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะปฏิบัติต่อไป ส่วนผู้ที่เข้าใจแล้ว ก็จะ หยุด การปฏิบัติ ได้ด้วยปัญญาญาณอันแหลมคม
หากต้องการทางลัด ก็จำเป็นต้อง รู้ และเลิกคิดเรื่อง ทาง ไปเลย แต่ถ้ายังไม่รู้จัก รู้ ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยทางเหล่านั้นต่อไปก่อน
4 ธ.ค. 2544
ของฝากจากสวนโพธิ์
1. เผลอก็ให้รู้ว่าเผลอ เมื่อรู้ว่าเผลอแล้วก็พอแล้ว อย่าเผลอต่อไปอีก ด้วยการคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง
2. เพ่งก็ให้รู้ว่าเพ่ง เมื่อรู้ว่าเพ่งแล้วก็พอแล้ว อย่าเผลอหรือเพ่งต่อไปอีก เพื่อจะทำลายการเพ่งนั้น
3. หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด กลัวก็รู้ว่ากลัว มีราคะก็รู้ว่ามีราคะ มีความฟุ้งซ่านก็รู้ว่ามีความฟุ้งซ่าน ให้รู้ด้วยจิตที่เป็นกลางๆ คือไม่คล้อยตาม และไม่ต่อต้าน เพราะถ้าคล้อยตามก็จะถูกกิเลสครอบงำ ถ้าต่อต้านก็จะเกิดความอึดอัดใจ
4. สรุปแล้ว ให้รู้ทุกอย่างที่จิตไปรู้เข้า โดยไม่เติมความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ ลงไปอีก เพราะ "รู้" นั่นแหละคือประตูของมรรคผลนิพพาน
29 พ.ย. 2544
แก่นสารของการปฏิบัติธรรม
การเจริญสติจริงๆ จะไปยากอะไร เพียงแต่ให้มีจิตที่รู้ตัวสบายๆ เป็นธรรมชาติธรรมดานี้เอง แล้วไปรู้อารมณ์ (ที่เป็นปรมัตถ์)ที่กำลังปรากฏ โดยไม่เผลอ ไม่เพ่ง ด้วยความเป็นกลางจริงๆ คลองแห่งความคิดจะขาดไป และจิตจะรู้ โดยปราศจากความปรุงแต่ง ไม่นานผู้ปฏิบัติก็จะสามารถเข้าในวิสังขารธรรม หรือธรรมที่พ้นความปรุงแต่งได้
จุดแรกที่พวกเราควรทำความรู้จักก็คือ จิตที่มีสติ ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ถูกครอบงำด้วยความปรุงแต่งมันเป็นอย่างไร เมื่อรู้ตัวเป็นแล้ว ก็รู้ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏไปตามธรรมดาๆ นี่เอง เช่นรู้ลงในความไหวของกาย ด้วยจิตที่ไม่หลง ก็จะเห็นปรมัตถ์ของ "กาย" อย่างชัดเจน คลองแห่งความคิดจะขาดไป เหลือแต่รู้สักว่ารู้ รู้ตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง แล้วจะเห็นธรรมฝ่ายสังขารคือ "กาย" หากจิตมีความพร้อม ก็จะเห็นธรรมฝ่ายวิสังขาร คือฝ่ายเหนือความปรุงแต่งได้ในวับเดียว
29 พ.ค. 2544
รู้อย่างไรจึงจะบั่นทอนทุกข์ลงได้
"รู้ตัว" เป็น ก็คือมีจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง เป็นธรรมเอก ถัดจากนั้นก็ต้องหัด "รู้" ทุกสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยความ "รู้ตัว" ก็จะเห็นว่าทุกอย่างที่ถูกรู้ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป และถ้าเมื่อใดจิตขาดความรู้ตัว หลงเข้ายึดถือสิ่งที่ถูกรู้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ถ้ารู้ โดยรู้ตัวอยู่ ก็เป็น รู้สักว่ารู้ จิตจะเป็นเพียง "ผู้สังเกตการณ์" ปรากฏการณ์ทั้งปวง โดยไม่โดดเข้าไปร่วมแสดงเอง
ที่คุณสุรวัฒน์เล่าถึงการปฏิบัติว่า "ผมก็เลยต้องคอยทำตัวให้ รู้ เข้าไว้ อาบน้ำก็ฝึกรู้ ดูโทรทัศน์ก็ฝึกรู้ กินข้าวก็ฝึกรู้ ...นึกขึ้นได้ตอนไหนก็ฝึกรู้ วันๆก็ฝึกรู้ไปเรื่อยๆ"
หัดต่อไปอย่างที่หัดนี่แหละครับ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ขับถ่าย ทำ พูด คิด ฯลฯ รู้อยู่ให้ตลอด ให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยมีผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งถึงจุดนี้ จะเห็นมันแยกกันเองได้แล้วครับ ไม่ต้องไปพยายามทำอะไรเพื่อให้มันแยกกันมากกว่านี้จนผิดธรรมชาติ จะกลายเป็นปฏิบัติด้วยความจงใจและความอยากมากไปครับ
30 มิ.ย. 2543
ปัจจัยแห่งความเจริญงอกงามในธรรม
(1) ให้พยายามมีสติสัมปชัญญะ รู้ อยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้ จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ฯลฯ ก็ให้มีสติรู้กายรู้ใจอยู่เสมอ
(2) ให้ปฏิบัติธรรมไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ อย่าเอาแต่วุ่นวายกับการคิด การหาอุบายทางลัด และนิมิตต่างๆ เพราะนั่นล้วนเป็นทางแห่งความเนิ่นช้า
(3) อย่าเอาแต่รวมกลุ่มสัญจรไปตามสำนักโน้นสำนักนี้ เที่ยวสนุกกับการไปฟังธรรมที่โน้นที่นี้ ละเลยการฟังธรรมในจิตใจตนเอง
(4) มีผลการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างทาง ก็อย่าเอาแต่ไปเขียนเล่าในกระทู้ให้กิเลสกระเพื่อม จนปฏิบัติต่อไปไม่ได้อีก
(5) ขอให้ตั้งใจจริงจังเพื่อเอาตัวให้รอด ลองเอาจริงสัก ปี สองปีก็ยังดี โดยยอมเสียสละเรื่องรกรุงรังในจิตใจเสียสักช่วงหนึ่ง แล้วตั้งใจปฏิบัติให้สม่ำเสมอ
9 พ.ย. 2543
วันวานที่ผ่านมา
วิปัสสนาที่แท้จริงนั้น มีแต่รู้ ไม่ต้องจงใจเติมสิ่งใดลงไปในรู้ ไม่ว่าจะเป็นศีล สมาธิ หรือปัญญา ไม่ต้องเอาสมมุติบัญญัติ หรือความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ มาช่วยทำวิปัสสนา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาโดยสิ้นเชิง เพราะความจงใจเคลื่อนไหวใดๆ จะทำให้จิตก่อภพก่อชาติ ก่อวัฏฏะหมุนวนขึ้นมาอีก
ผมไม่แนะนำให้พยายามทรงความรู้ตัวให้นานๆ เพราะความพยายามนั้นเอง จะทำให้เกิดการ จงใจ เสแสร้ง ดัดจริต รู้ นักปฏิบัตินั้น อย่าไปนึกถึงเรื่องที่จะให้จิตรู้ตัวต่อเนื่อง ได้เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เลยครับ เพราะการปฏิบัติ เราจะดูกันเป็นขณะๆ ไปเท่านั้นเอง ว่าขณะนี้รู้ตัวหรือเผลอ ขณะนี้มีสติ หรือขาดสติ ขณะใดมีสติ ขณะนั้นกำลังปฏิบัติอยู่ ขณะใดขาดสติ ขณะนั้นไม่ได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติผิด ไม่ใช่พูดว่า ชั่วโมงนี้รู้ตัว หรือวันนี้รู้ตัว ชั่วโมงต่อมา หรือวันต่อมา ไม่รู้ตัว
ดังนั้นเมื่อเผลอไป แล้วเกิดรู้ตัวว่าเผลอ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อเพ่ง แล้วเกิดรู้ตัวว่าเพ่ง ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อมีราคะ แล้วเกิดรู้ตัวว่ามีราคะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อโทสะ แล้วเกิดรู้ตัวว่ามีโทสะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อมีโมหะ แล้วเกิดรู้ตัวว่าโมหะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว
18 ธ.ค. 2543

เคล็ดวิชาการปฏิบัติดูจิต โดยคุณสันตินันท์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์