การปฏิบัติมี ๒ ขั้น คือ รู้ด้วยสติ กับ รู้ด้วยสติปัญญา
การปฏิบัตินั้นมันจะมี ๒ ขั้นนะ เมื่อเรารู้ตัวได้แล้วนะ มันมีขั้นแรก มันรู้ด้วยสติ ขั้นที่สอง รู้ด้วยสติปัญญา
ตัวปัญญาเนี่ยคือตัวความเข้าใจ สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้น ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา งั้นตรงที่วิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นเนี่ย ต้องเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานะ เห็นกายเห็นใจนี้
งั้นอย่างสมมติว่า ความสุขเกิดขึ้นในใจ เรารู้ว่ามีความสุขเกิดขึ้น ถ้ารู้อยู่แค่นี้แล้วก็ลืมไปนะ ไปดูอันอื่น อย่างนี้เรียกว่ามีสติเฉยๆ ตรงที่รู้ทันว่ามีความโกรธเกิดขึ้น หรือมีความสุขเกิดขึ้น แต่ถ้าจะทำวิปัสสนานะ พออย่างความสุขเกิดขึ้น เราก็รู้ รู้แล้วอย่าหลงลืมไปที่อื่นซะ รู้ก็รู้สบายๆ จิตใจเรารู้เนื้อรู้ตัวอยู่ ความสุขเกิดขึ้นเราจะเห็น ว่าความสุขกับจิตใจเป็นคนละอันกัน พอเห็นความสุขกับจิตใจเป็นคนละอันกัน เราจะเห็นเลย ความสุขค่อยๆ fade ไป ค่อยๆสลายตัวไป กลายเป็นอุเบกขา ความสุขหายไปแล้ว เออนี่ ความสุขเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วหายไปนะ ความสุขไม่เที่ยง นี่แหล่ะเรียกว่าปัญญา
แต่ไม่ใช่คิดเอานะ ถ้าดูซ้ำๆไปเรื่อย แล้วถึงวันนึงจิตมันจะปิ๊งขึ้นมาเอง ว่าโอ้ ทุกอย่างนี้มันไม่เที่ยง ความโกรธนี้มันไม่เที่ยง ความโลภมันไม่เที่ยง ความฟุ้งซ่านไม่เที่ยง ความหดหู่ไม่เที่ยง ความสุขไม่เที่ยง ความทุกข์ไม่เที่ยง
หรือดูไปเรื่อยไปเห็นเลย ว่าความสุขความทุกข์เราก็สั่งไม่ได้ สั่งให้จิตสุขก็สั่งไม่ได้นะ ห้ามจิตทุกข์ก็ห้ามไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเดินปัญญา คือเห็นความจริงเห็นว่าเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ บังคับไม่ได้
เนี่ยในขั้นเดินปัญญานี้ ต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของกายของใจ ของรูปของนาม ถ้าลำพังเห็นรูปเห็นนามอยู่เฉยๆ เช่น เห็นความโกรธเกิดขึ้น แล้วก็ไม่ได้ดูหรอก ว่ามันเกิดได้ดับได้ มันมีเหตุมันเกิด หมดเหตุมันดับ บังคับไม่ได้ ไม่ได้เห็นอย่างนี้นะ
เห็นแค่ว่าความโกรธเกิดขึ้น แล้วก็เลิกเลย ไม่สนใจมัน อย่างใครเคยมั้ย เวลาโกรธใครซักคนนะ เห็นความโกรธเกิดแว้บนึง แล้วก็เลิกดูนะ ไปดูคนที่ทำให้โกรธต่อแล้ว เห็นมั้ย อย่างนี้ไม่เป็นวิปัสสนานะ มีสติในขณะที่เห็นความโกรธเกิด แล้วก็ขาดสติต่อเลย อย่างนี้ใช้ไม่ได้
ถ้ามีสติแล้วมีใจเป็นคนดู มันจะเห็น ว่าความโกรธมันอยู่ต่างหาก จิตเป็นคนดูอยู่ต่างหาก นี่ แยกกัน แล้วก็ความโกรธเนี่ย มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ หรือเห็นว่าความโกรธเกิดได้ ก็ดับได้ เป็นไปเอง ไม่ต้องไปดับมัน มันดับของมันเอง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าวิปัสสนานะ คือเข้าใจความเป็นไตรลักษณ์ ของรูปธรรมนามธรรม
งั้นสติเป็นตัวรู้ทัน ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ สติเป็นตัวรู้ทัน ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ปัญญาเป็นตัวเข้าใจ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นน่ะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาจากเพจ Trader Hunter พบธรรม