ขอขอบคุณภาพและเนื้อหาจากเพจ Trader Hunter พบธรรม
การที่จะอธิบายเรื่อง “ วิชชา “ และ “ อวิชชา “ นั้น จะต้องมีคำบาลีเข้ามาสอดแทรกอยู่บ้าง แต่ก็จะพยายามอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายและมากที่สุดก็แล้วกัน
คำว่า “ วิชา “ มาจากภาษาบาลีที่เขียนว่า วิชฺชุ หมายถึง ความรู้ที่ได้จากการเล่าเรียน หรือฝึกฝน หรืออาจจะเป็นความรู้ที่ได้มาจากการที่บุคคลหนึ่งถ่ายทอดให้ผู้อื่นก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการเรียนการสอนในห้องเรียนเสมอไป
ส่วนคำว่า “ วิชชา “ ในพระพุทธศาสนา หมายถึง การรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงที่มีอยู่ เป็นความรู้พิเศษ ได้มาจากการฝึกฝนในการทำสมาธิวิปัสสนา ซึ่งวิชชาในบาลีนี้มีทั้งวิชชา ๓ และ วิชชา ๘
วิชชา ๓ ได้แก่
๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ - ญาณเป็นเหตุระลึกขันธ์ที่อาศัยอยู่ในปางก่อน คือ การระลึกชาติได้
๒. จุตูปาตญาณ - ญาณกำหนดรู้จุติ (ตาย) และอุบัติ (เกิด) แห่งสัตว์ทั้งหลาย เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทิพพจักขุญาณ หรือตาทิพย์
๓. อาสวักขยญาณ - ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะ (กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน) ทั้งหลาย คือการตรัสรู้
คำว่า “ ญาณ “ ในที่นี้ หมายถึง ความปรีชาหยั่งรู้ หรือกำหนดรู้ที่เกิดจากอำนาจสมาธิวิปัสสนา
เรื่องของวิชชา ๓ นี้ มักปรากฏในตอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าลำดับการตรัสรู้ของพระองค์ ตั้งแต่การออกบวช การทรมานตน...จนถึงวันที่ตรัสรู้
ตรัสเล่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ว่า “ ...เรานั้น เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ ถึงความไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่อญาณเป็นเครื่องตามระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่แล้วในภพก่อน...คือ ตามระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง เราตามระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่แล้วในภพก่อนได้หลายประการ...ในปฐมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่หนึ่ง...”
ตรัสเล่าจุตูปาตญาณ ว่า “ ...เรานั้น ครั้นเมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส...ได้น้อมไปเพื่อญาณในจุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย เรานั้นมีจักษุทิพย์ หมดจดวิเศษล่วงจักษุของมนุษย์ ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้จุติอยู่ อุบัติอยู่ ผู้เลวทราม ผู้ประณีต...เรารู้ชัดสัตว์ทั้งหลายผู้เข้าถึงตามกรรมว่า สัตว์ทั้งหลายที่ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต กล่าวติเตียนพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นมิจฉาทิฏฐิ...เบื้องหน้าแต่กายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก...นี้เป็นวิชชาที่ ๒ ในมัชฌิมยามแห่งราตรี เราได้บรรลุวิชชาที่ ๒ เสียได้...”
อาสวักขยญาณ ทรงตรัสเล่า ว่า “...เราได้รู้ชัดค?วามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาดำเนินถึงความดับทุกข์ ได้รู้ความจริงว่า นี้อาสวะทั้งหลาย นี้เหตุให้อาสวะทั้งหลายเกิดขึ้น นี้ความดับอาสวะทั้งหลาย นี้ปฏิปทาดำเนินถึงความดับอาสวะทั้งหลาย...รู้ชัดว่า ชาติสิ้นสุดแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นเช่นนี้ ไม่มีอีก...วิชชาที่ ๓ เราได้บรรลุในยามสุดท้ายแห่งราตรี กำจัดอวิชชาเสียได้...”
วิชชา ๘ ได้แก่
๑. วิปัสสนาญาณ (ญาณทัสสนะ) - ญาณในวิปัสสนา หรือญาณที่เป็นวิปัสสนา คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นสังขาร นามรูปโดยไตรลักษณ์ (นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แปลง่าย ๆ ว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา) มีต่างกันออกไปเป็นชั้น ๆ ต่อเนื่องกัน
๒. มโนมยิทธิ - ฤทธิ์สำเร็จด้วยใจ, ฤทธิ์ทางใจ คือ นิรมิตกายอื่นออกจากกายนี้ได้
๓. อิทธิวิธา หรือ อิทธิวิธิ – ความรู้ที่ทำให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๔. ทิพพโสต – ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
๕. เจโตปริยญาณ - ความรู้ที่กำหนดใจผู้อื่นได้
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติ - ระลึกชาติได้
๗. ทิพพจักขุ – ตาทิพย์
๘. อาสวักขยญาณ – ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ
สำหรับวิชชา ๘ นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเจ้าอชาตศัตรู โดยแสดงต่อจากคำบรรยายเรื่องการบรรลุฌานที่ ๔ แล้วมีจิตน้อมไปเพื่อการเกิดวิชชา ๘ นี้
วิปัสสนาญาณ ตรัสอธิบายว่า “ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ...ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายของเรานี้แล มีรูปประกอบด้วยมหาภูต ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เกิดจากมารดาบิดา เติบโตขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ไม่เที่ยงมีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา และวิญญาณของเรานี้ ก็อาศัยอยู่ในกายนี้ เนื่องอยู่ในกายนี้ “
มโนมยิทธิ ตรัสอธิบายว่า “ ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ...ย่อมน้อมไปเพื่อนิรมิตรูป อันเกิดแต่ใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปเกิดแต่ใจ มีอวัยวะน้อยใหญ่ครบถ้วน มีอินทรีย์ไม่บกพร่อง “
อิทธิวิธิ ตรัสอธิบายว่า “ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคน หลายคนเป็นคนเดียว ทำให้ปรากฏก็ได้ หายไปก็ได้ ทะลุกำแพงภูเขาไปดุจไปในที่ว่าง เดินบนน้ำไม่แตกดุจเดินบนแผ่นดิน เหาะไปในอากาศ...."
ทิพพโสต ตรัสว่า “ เธอย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือ เสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งใกล้และไกล “
เจโตปริยญาณ ตรัสว่า “ เธอย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น บุคคลอื่นด้วยใจ รู้ว่าจิตนั้นมีราคะหรือไม่มี จิตนั้นหลุดพ้นหรือยังไม่หลุดพ้น...”
วิชชาข้อที่ ๖ – ๘ คือ วิชชา ๓ ที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้น
ส่วนข้อที่ ๓ – ๘ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อภิญญา ๖
ในตำราวิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า ผุ้ที่จะมีวิชชา ๘ ได้ จะต้องผ่านการเข้าฌานขั้นต่าง ๆ และต้องมีความชำนาญในกสิน ๘ ซึ่งมีรายละเอียดอีกมาก จึงไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้
และเมื่อพูดถึงวิชชาแล้ว ก็ควรจะรู้ไปถึง อวิชชา ด้วย
อวิชชา ภาษาบาลีเขียนว่า อวิชฺชา หมายถึง ความไม่รู้แจ้ง คือไม่รู้ในความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง ไม่ได้หมายถึงความไม่รู้ในศิลปะวิชาการต่าง ๆ หรือความไม่รู้ร้อนรู้หนาว เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ ๘ ประการ แต่จะไม่พูดถึงในเชิงบาลี เพราะจะทำให้เข้าใจยาก พูดตามภาษาธรรมดา ๆ อวิชชา ๘ ได้แก่
๑. ไม่รู้จักทุกข์ คือไม่รู้ว่านี้เป็นทุกข์
๒. ไม่รู้จักเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ คือเมื่อรู้ว่ากำลังทุกข์ แต่ไม่รู้ว่าอะไรทำให้เป็นทุกข์
๓. ไม่รู้จักการดับทุกข์
๔. ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
๕. ไม่รู้จักอดีต
๖. ไม่รู้จักอนาคต
๗. ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต
๘. ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือไม่รู้ธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันจึงเกิดมีขึ้นตามหลักอิทัปปัจจยตา หรือความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เช่น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น เป็นต้น
(๔ ข้อแรก คือการไม่รู้อริยสัจ ๔ นั่นเอง)
จะว่าไปแล้ว อวิชชา เป็นสภาวะธรรมของมนุษย์ที่มีมาพร้อมกับการเกิดขึ้นในโลก หรือเป็นธรรมชาติของคนที่ย่อมต้องเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะยังไม่ได้มีการศึกษา สะสมการปฏิบัติ?ภาวนา
การที่จะดับอวิชชาลงได้นั้น จึงต้องมีวิชชา หรือความรู้แจ้งในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงมีเมตตาอบรมสั่งสอนไว้ อันมีสติ และสมาธิเป็นรากฐาน เป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดปัญญา และต้องลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเท่านั้น ไม่มีใครสามารถทำให้เราเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงที่มีอยู่ได้ นอกจากตัวของเราเอง
ตโต มลามลตรํ อวิชฺชา ปรมํ มลํ
เอตํ มลํ ปหนฺตวาน นิมฺมลา โหถ ภิกฺขโว
บรรดามลทินใหญ่น้อยทั้งหลายย่อมมาจากอวิชชา ซึ่งเป็นมลทินอย่างยิ่ง
ภิกษุทั้งหลายจงละมลทินนี้เสีย และเป็นผู้ไม่มีมลทินเถิด

Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว