พอหัวหน้าเทวดาพูดจบลง หลวงปู่มั่นก็พูดเป็นเชิงปรึกษาว่า
"เทวดาเป็นผู้มีตาทิพย์ หูทิพย์ แลเห็นได้ไกล ฟังเสียงได้ไกล รู้เรื่องดีชั่วของชาวมนุษย์ได้ดีกว่ามนุษย์จะรู้เรื่องของตัวและรู้เรื่องของพวกมนุษย์ด้วยกัน จะไม่พอมีทางเตือนมนุษย์ให้รู้สึกสำนึกในความผิดถูกที่ตนทำได้บ้างหรือ? อาตมาเข้าใจว่าจะได้ผลดีกว่ามนุษย์ด้วยกันตักเตือนกัน สั่งสอนกัน ... จะพอมีทางได้บ้างไหม?"
หัวหน้าเทวดาตอบว่า
"เทวดายังไม่เคยเห็นมนุษย์ว่ามีกี่รายพอจะมีใจเป็นมนุษย์สมภูมิเหมือนอย่างพระคุณเจ้าซึ่งให้ความเมตตาแก่ชาวเทพและชาวมนุษย์ตลอดมาเลย พอที่เขาจะรับทราบว่าในโลกนี้มีสัตว์ชนิดต่างๆ หลายต่อหลายจำพวกอยู่ด้วยกัน ทั้งที่เป็นภพหยาบ ทั้งที่เป็นภพละเอียด ซึ่งมนุษย์จะยอมรับว่า เทวดาประเภทต่างๆ มีอยู่ในโลก และสัตว์อะไรๆ ที่มีอยู่ในโลกกี่หมื่นกี่แสนประเภท ว่ามีจริงตามที่สัตว์เหล่านั้นมีอยู่ เพราะนับแต่เกิดมา มนุษย์ไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาแต่พ่อแต่แม่ แต่ปู่ย่าตายาย แล้วมนุษย์จะมาสนใจอะไรกับเทวดาเล่าท่าน นอกจากเห็นอะไรผิดสังเกตบ้าง จริงหรือไม่จริงไม่คำนึง
พวกมนุษย์มีแต่พากันกล่าวตู่ว่าผีกันเท่านั้น จะมาหวังคำตักเตือนดีชอบอะไรจากเทวดา แม้เทวดาจะรู้เห็นพวกมนุษย์อยู่ตลอดเวลา แต่มนุษย์ก็มิได้สนใจจะรู้เทวดาเลย แล้วจะให้เทวดาตักเตือนสั่งสอนมนุษย์ด้วยวิธีใด... เป็นเรื่องจนใจทีเดียว ปล่อยตามกรรมของใครของเราไว้อย่างนั้นเอง แม้แต่พวกเทวดาเองก็ยังมีกรรมเสวยอยู่ทุกขณะ ถ้าปราศจากกรรมแล้ว เทวดาก็ไปนิพพานได้เท่านั้นเอง ... จะพากันอยู่ให้ลำบากไปนานอะไรกัน"
หลวงปู่มั่นถามว่า
"พวกเทวดาก็รู้นิพพานกันด้วยหรือ?...ถึงว่าหมดกรรมแล้วก็ไปนิพพานกันได้ และพวกเทวดาก็มีความทุกข์เช่นสัตว์ทั้งหลายเหมือนกันหรือ?"
หัวหน้าเทวดาตอบว่า
"ทำไมจะไม่รู้ท่าน! ก็เพราะพระพุทธเจ้าองค์ใดมาสั่งสอนโลกก็ล้วนแต่สอนให้พ้นทุกข์ไปนิพพานกันทั้งนั้น มิได้สอนให้จมอยู่ในกองทุกข์ แต่สัตว์โลกไม่สนใจพระนิพพานเท่าเครื่องเล่นที่เขาชอบเลย จึงไม่มีใครคิดอยากไปนิพพานกัน
คำว่า 'นิพพาน' พวกเทวดาจำได้อย่างติดใจจากพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ที่มาสั่งสอนสัตว์โลก แต่เทวดาก็มีกรรมหนาจึงยังไม่พ้นจากภพของเทวดาให้ได้ไปนิพพานกัน จะได้หมดปัญหา ไม่ต้องวกเวียนถ่วงตนดังที่เป็นอยู่นี้ ส่วนความทุกข์นั้น ถ้ามีกรรมอยู่แล้ว ไม่ว่าสัตว์จำพวกใดต้องมีทุกข์ไปตามส่วนของกรรมดีชั่วที่มีมากน้อยในตัวสัตว์"
หลวงปู่มั่นถามว่า
"พระที่พูดกับเทวดารู้เรื่องกันมีอยู่แยะไหม?"
หัวหน้าเทวดาตอบว่า
"มีอยู่เหมือนกันท่าน แต่ไม่มากนัก ... โดยมากก็เป็นพระซึ่งชอบปฏิบัติบำเพ็ญอยู่ในป่าในเขาเหมือนพระคุณเจ้านี่แล"
หลวงปู่มั่นถามว่า
"ส่วนฆราวาสเล่า...มีบ้างไหม?"
หัวหน้าเทวดาตอบว่า
"มีเหมือนกัน แต่มีน้อยมาก และต้องเป็นผู้ใคร่ทางธรรมปฏิบัติ ใจผ่องใส ถึงรู้ได้ เพราะกายของพวกเทวดานั้นหยาบสำหรับพวกเทวดาด้วยกัน แต่ก็ละเอียดสำหรับมนุษย์จะรู้เห็นได้ทั่วไป นอกจากผู้มีใจผ่องใสจึงจะรู้จะเห็นได้ไม่ยากนัก"
หลวงปู่มั่นถามว่า
"ที่ท่านว่าพวกเทวดาไม่อยากมาอยู่ใกล้พวกมนุษย์เพราะเหม็นสาบคาวมนุษย์นั้น...เหม็นสาบคาวอย่างไรบ้าง? ขณะที่ท่านทั้งหลายมาเยี่ยมอาตมาไม่เหม็นคาวบ้างหรือ? ... ทำไมถึงพากันมาหาอาตมาบ่อยนัก?"
หัวหน้าเทวดาตอบว่า
"มนุษย์ที่มีศีลธรรมมิใช่มนุษย์ที่ควรรังเกียจ ยิ่งเป็นที่หอมหวนชวนให้เคารพบูชาอย่างยิ่ง และอยากมาเยี่ยมเพื่อฟังเทศน์อยู่เสมอ ไม่เบื่อเลย มนุษย์ที่เหม็นคาวน่ารังเกียจคือมนุษย์ที่เหม็นคาวศีลธรรม รังเกียจศีลธรรม ไม่สนใจในศีลธรรม มนุษย์ประเภทเบื่อศีลธรรมซึ่งเป็นของดีเลิศในโลกทั้งสาม แต่ชอบในสิ่งที่น่ารังเกียจของท่านผู้ดีมีศีลธรรมทั้งหลาย มนุษย์ประเภทนี้น่ารังเกียจจึงไม่อยากเข้าใกล้และเหม็นคาวฟุ้งไปไกลด้วย
แต่เทวดามิได้ตั้งข้อรังเกียจชาวมนุษย์แต่อย่างใด ... หากเป็นนิสัยของพวกเทวดามีความรู้สึกอย่างนั้นมาดั้งเดิมดังนี้"
ที่มา : "ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ" โดย "ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน" ใน http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-12-04.htm