เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าถึงห้ามภิกษุรับเงินทอง!!


เราอาจเคยทราบมาบ้างว่า ในศาสนาพุทธนั้น นักบวชหรือพระภิกษุสงฆ์ มีข้อห้ามที่ต้องถือปฏิบัติในเรื่องเงินทองอยู่ข้อหนึ่งนั้นคือ ห้ามรับเงิน หรือมีทรัพย์สินในครอบครอง เวลาใส่บาตร ญาติโยมก็ไม่สมควรที่จะถวาย เงิน หรือที่เรียกว่า "ปัจจัย" ให้แก่ท่าน เพราะหากท่านรับไป จะทำให้ท่านต้องอาบัติได้

แต่เราอาจไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด พระพุทธเจ้า จึงตรัสมิให้ภิกษุรับปัจจัย

เรื่องนี้มีปรากฎในพระไตรปิฎกอยู่ว่า...

พระพุทธเจ้าเปรียบเงินทอง เหมือนดั่งอสรพิษสำหรับภิกษุ ซึ่งปรากฏในคำภีร์ อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท พาลวรรคที่ 5 ความว่า.....

 

เช้าวันหนึ่งในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จออกบิณฑบาตรโปรดสัตว์ ไปพร้อมด้วยพระอานนท์ พระองค์เสด็จผ่านชาวนาทีกำลังไถนาอยู่ ชาวนาพักการไถนาแล้วถวายบังคม

พระพุทธองค์ทอดพระเนตรเห็นถุงเงิน ตกอยู่ไม่ไกลจากชาวนาจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์ นั่นอสรพิษ เธอเห็นไหม"

พระอานนท์ ตอบ "เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย"

ชาวนาได้ยินพระพุทธดำรัส ที่ตรัสกับพระอานนท์ คิดว่ามีงูอยู่แถวนี้ ต้องฆ่าให้ได้ ทิ้งไว้จะทำอันตรายตน ว่าแล้วเราก็ถือปฏักไป สอดส่ายตามองหางู แต่ไม่เห็นมีงู ดูไป เห็นแต่ถุงเงินมากมาย เขาดีใจ รีบโกยดินกลบไว้ แล้วไถนาต่อไป

ถุงเงินนั้น ที่แท้โจรปล้นมาแล้วทำตกไว้ เจ้าของเงินเสียดาย เกณฑ์บ่าวไพร่ออกติดตาม สะกดรอยตามรอยเท้าชาวนา พาไปจนพบถุงเงิน จึดคิดว่าชาวนานี่แหละคือเจ้าโจรตัวดี จึงรีบจับไปส่งเจ้าหน้าที่ ทำตามกฎหมายเคร่งครัด ชี้โทษชัดให้ประหารชีวิต

ก่อนจะนำไปประหาร ชาวนาพร่ำพรรณาอยู่หลายหนว่า

"อานนท์ เธอเห็นอสรพิษไหม...เห็นพระเจ้าข้า"

"อานนท์ เธอเห็นอสรพิษไหม...เห็นพระเจ้าข้า"

เจ้าหน้าที่มีความประหลาดใจไต่ถาม "ทำไมเจ้าออกนามพุทธอนุชา อสรพิษนั่นล่ะ อยู่ไหน"

ชาวนาเล่าแจ้งแถลงไข อ้างพระพุทธเจ้าให้เป็นพยาน เจ้าหน้าที่จึงงดการประหารไว้ พาชาวนาไปเฝ้าพระราชา

พระราชาจึงไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่าชาวนาอ้างพระพุทธองค์เป็นพยาน พระพุทธองค์จึงทรงเล่าเรื่องราวให้ฟัง ชาวนาจึงพ้นจากความตายโดยอาศัยพระกรุณา

 

อ้างอิงจาก :

๘. เรื่องชาวนา [๕๒]
ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภชาวนาคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "น ตํ กมฺมํ กตํ สาธุ" เป็นต้น.


โจรเข้าลักทรัพย์ในตระกูลมั่งคั่ง

ได้ยินว่า ชาวนานั้นไถนาแห่งหนึ่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี. พวกโจรเข้าไปสู่พระนครโดยท่อน้ำ ทำลายอุโมงค์ในตระกูลมั่งคั่งตระกูลหนึ่ง เข้าไปถือเอาเงินและทองเป็นอันมากแล้วก็ออกไปโดยทางท่อน้ำนั่นเอง. โจรคนหนึ่งลวงโจรเหล่านั้น กระทำถุงที่บรรจุทรัพย์พันหนึ่งถุงหนึ่งไว้ที่เกลียวผ้าแล้วไปถึงนานั้น แบ่งภัณฑะกับโจรทั้งหลายเหล่านั้นแล้ว ถือพาเดินไปอยู่ ไม่ได้กำหนดถึงถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งที่ตกลงจากเกลียวผ้า.


พระศาสดาทรงเล็งเห็นอุปนิสัยของชาวนา

ในวันนั้น เวลาใกล้รุ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลก ทรงเห็นชาวนานั้นผู้เข้าไปในภายในข่าย คือพระญาณของพระองค์ แล้วทรงใคร่ครวญอยู่ว่า "เหตุอะไรหนอแล? จักมี" ได้ทรงเห็นเหตุนี้ว่า "ชาวนาคนนี้จักไปเพื่อไถนาแต่เช้าตรู่, แม้พวกเจ้าของภัณฑะไปตามรอยเท้าของโจรทั้งหลายแล้ว เห็นถุงที่บรรจุทรัพย์พันหนึ่งในนาของชาวนานั้น แล้วก็จักจับชาวนานั่น, เว้นเราเสีย คนอื่นชื่อว่าผู้เป็นพยานของชาวนานั้นจักไม่มี, แม้อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของชาวนานั้นก็มีอยู่, เราไปในที่นั้น ย่อมควร."
ฝ่ายชาวนานั้นไปเพื่อไถนาแต่เช้าตรู่.
พระศาสดามีพระอานนทเถระเป็นปัจฉาสมณะ ได้เสด็จไปในที่นั้นแล้ว. ชาวนาเห็นพระศาสดาแล้ว ไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเริ่มไถนาอีก. พระศาสดา ไม่ตรัสอะไรๆ กับเขา เสด็จไปยังที่ๆ ถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งตก ทอดพระเนตรเห็นถุงนั้นแล้ว จึงตรัสกะพระอานนทเถระว่า "อานนท์ เธอเห็นไหม อสรพิษ."
พระอานนทเถระทูลว่า "เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย."
ชาวนาได้ยินถ้อยคำนั้นคิดว่า "ที่นี้เป็นที่เที่ยวไปในเวลาหรือมิใช่เวลาแห่งเรา, ได้ยินว่า อสรพิษมีอยู่ในที่นั่น" เมื่อพระศาสดาตรัสคำมีประมาณเท่านั้นหลีกไปแล้ว, จึงถือเอาด้ามปฏักเดินไปด้วยตั้งใจว่า "จักฆ่าอสรพิษนั้น" เห็นถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่ง แล้วคิดว่า "คำนั้น จักเป็นคำอันพระศาสดาตรัสหมายเอาถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งนี้" จึงถือถุงบรรจุทรัพย์พันหนึ่งนั้นกลับไป เพราะความที่ตนเป็นคนไม่ฉลาด จึงซ่อนมันไว้ในที่สมควรแห่งหนึ่ง กลบด้วยฝุ่นแล้ว เริ่มจะไถนาอีก.


ชาวนาถูกจับไปประหารชีวิต

แม้พวกมนุษย์ เมื่อราตรีสว่างแล้ว เห็นกรรมอันพวกโจรกระทำในเรือน จึงเดินตามรอยเท้าไป ถึงนานั้นแล้ว เห็นที่ๆ พวกโจรแบ่งภัณฑะกันในนานั้น ได้เห็นรอยเท้าของชาวนาแล้ว. มนุษย์เหล่านั้นไปตามแนวรอยเท้าของชาวนานั้น เห็นที่แห่งถุงทรัพย์ที่ชาวนาเก็บเอาไว้ คุ้ยฝุ่นออกแล้ว ถือเอาถุงทรัพย์ คุกคามว่า "แกปล้นเรือนแล้ว เทียวไปราวกับไถนาอยู่" โบยด้วยท่อนไม้ นำไปแสดงแก่พระราชาแล้ว.
พระราชาทรงสดับความเป็นไปนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตชาวนานั้น. พวกราชบุรุษมัดชาวนานั้นให้มีแขนไพล่หลัง เฆี่ยนด้วยหวาย นำไปสู่ตะแลงแกงแล้ว.
ชาวนานั้นถูกราชบุรุษเฆี่ยนด้วยหวาย ไม่กล่าวคำอะไรๆ อื่น กล่าวอยู่ว่า
เห็นไหม อานนท์ อสรพิษ,
เห็น พระเจ้าข้า อสรพิษร้าย.
เดินไปอยู่.
ครั้งนั้น พวกราชบุรุษถามเขาว่า "แกกล่าวถ้อยคำของพระศาสดาและพระอานนทเถระเท่านั้น, นี่ชื่ออะไร?" เมื่อชาวนาตอบว่า "เราเมื่อได้เฝ้าพระราชาจึงจักบอก" จึงนำไปสู่สำนักของพระราชา กราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระราชาแล้ว.


ชาวนาพ้นโทษเพราะอ้างพระศาสดาเป็นพยาน

ลำดับนั้น พระราชาตรัสถามชาวนานั้นว่า "เพราะเหตุไร เจ้าจึงกล่าวดังนั้น?" แม้ชาวนานั้นกราบทูลว่า "ข้าแต่สมมติเทพ ข้าพระองค์ไม่ใช่โจร" แล้วก็กราบทูลเรื่องนั้นทั้งหมดแด่พระราชา จำเดิมแต่กาลที่ตนออกไปเพื่อต้องการจะไถนา.
พระราชาทรงสดับถ้อยคำของชาวนานั้นแล้ว ตรัสว่า "พนาย ชาวนานี้อ้างเอาพระศาสดาผู้เป็นบุคคลเลิศในโลกเป็นพยาน, เราจะยกโทษแก่ชาวนานี่ยังไม่สมควร, เราจักรู้สิ่งที่ควรกระทำในเรื่องนี้" ดังนี้แล้ว ทรงพาชาวนานั้นไปยังสำนักของพระศาสดาในเวลาเย็น
ทูลถามพระศาสดาว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้เสด็จไปสู่ที่ไถนาของชาวนานั้น กับพระอานนทเถระแลหรือ?"
พระศาสดา. ขอถวายพระพร มหาบพิตร.
พระราชา. พระองค์ทอดพระเนตรเห็นอะไรในนานั้น?
พระศาสดา. ถุงทรัพย์พันหนึ่ง มหาบพิตร.
พระราชา. ทอดพระเนตรเห็นแล้วได้ตรัสคำอะไร?
พระศาสดา. คำชื่อนี้ มหาบพิตร.
พระราชา. พระเจ้าข้า ถ้าบุรุษนี้จักไม่ได้กระทำการอ้างบุคคลผู้เช่นกับด้วยพระองค์แล้วไซร้ เขาจักไม่ได้ชีวิต แต่เขากล่าวคำที่พระองค์ตรัสแล้ว จึงได้ชีวิต.

 


เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าถึงห้ามภิกษุรับเงินทอง!!

และยังมีเรื่องปรากฎในพระวินัยปิฎก ที่พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุรับเงินทองไว้ โดยความย่อดังนี้่

พระอุปนันทศากยบุตรซึ่งเป็นภิกษุ ท่านเข้าไปฉันที่บ้านแห่งหนึ่งที่เขาถวายอาหารท่านอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งเนื้อที่ตั้งใจจะถวายมีเด็กมาขอ ก็เลยให้เด็กกินไป ไม่มีถวายแก่พระอุปนันทะ เจ้าของบ้านก็เลยเสนอให้เงินมูลค่า ๑ กหาปณะ แทนมูลค่าเนื้อ พระอุปนันทะรับเงิน ความรู้ถึงพระพุทธองค์ ทรงติเตียนพระอุปนันทะอย่างรุนแรง มีใจความดังนี้

"ดูก่อนโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั้น ไม่เหมาะไม่สมควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้รับเงินและทอง การกระทำของเธอนั้น ไม่เป็นเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว"

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามไว้ว่า

"อนึ่งภิกษุใด รับเองก็ดี ให้คนอื่นรับไว้ให้ก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือ ยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์"

 

อ้างอิงจาก :

๒. โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตร

[๑๐๕] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่

พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์. ครั้งนั้น ท่านพระอุปนันทศากยบุตร เป็น

กุลุปกะของสกุลหนึ่ง รับภัตตาหารอยู่เป็นประจำ ของเคี้ยวของฉันอันใดที่เกิดขึ้นในสกุลนั้น.

เขาย่อมแบ่งส่วนไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร. เย็นวันหนึ่งในสกุลนั้นมีเนื้อเกิดขึ้น เขาจึง

แบ่งส่วนเนื้อนั้นไว้ถวายท่านพระอุปนันทศากยบุตร. เด็กของสกุลนั้นตื่นขึ้นในเวลาเช้ามืด ร้อง

อ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า. บุรุษสามีจึงสั่งภรรยาว่า จงให้ส่วนของพระแก่เด็ก เราจัก

ซื้อของอื่นถวายท่าน. ครั้นแล้วเวลาเช้าท่านอุปนันทศากยบุตร นุ่งอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวร

เข้าไปสู่สกุลนั้น แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย.

ทันใด บุรุษนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตร กราบแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง,

ได้กราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อเย็นวานนี้มีเนื้อเกิดขึ้น, ผมได้เก็บไว้ถวายพระคุณเจ้าส่วนหนึ่ง,

จากนั้นเด็กคนนี้ตื่นขึ้นแต่เช้ามืดร้องอ้อนวอนว่า จงให้เนื้อแก่ข้าพเจ้า ผมจึงได้ให้เนื้อส่วนของ

พระคุณเจ้าแก่เด็ก, พระคุณเจ้าจะให้ผมจัดหาอะไรมาถวายด้วยทรัพย์กหาปณะหนึ่ง ขอรับ.

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรถามว่า เธอบริจาคทรัพย์กหาปณะหนึ่งแก่เรา แล้วหรือ?

บุ. ขอรับ ผมบริจาคแล้ว.

อุ. เธอจงให้กหาปณะนั้นแหละแก่เรา.

บุรุษนั้นได้ถวายกหาปณะแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตร ในทันใดนั้นเอง แล้วเพ่งโทษ

ติเตียน โพนทะนาว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ รับรูปิยะเหมือนพวกเรา.

ภิกษุทั้งหลายได้ยินบุรุษนั้นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย

สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า

ไฉน ท่านพระอุปนันทศากยบุตรจึงได้รับรูปิยะเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น

ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระอุปนันทศากยบุตรว่า ดูกรอุปนันทะ ข่าวว่า

เธอรับรูปิยะจริงหรือ?

ท่านพระอุปนันทศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียน

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ การกระทำของเธอนั่น ไม่เหมาะ

ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ, ไฉนเธอจึงได้รับรูปิยะเล่า? การกระ

ทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของ

ชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว. โดยที่แท้ การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่

ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.

ทรงบัญญัติสิกขาบท

พระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนท่านพระอุปนันทศากยบุตร โดยอเนกปริยายดั่งนี้แล้วตรัส

โทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ

ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย

ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม

การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้น ที่เหมาะสมแก่

เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำ

นาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑ เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑

เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑ เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุมีศีลเป็นที่รัก ๑ เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบัง-

*เกิดในปัจจุบัน ๑ เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑ เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยัง

ไม่เลื่อมใส ๑ เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑ เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม

๑ เพื่อถือตามพระวินัย ๑.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ

๓๗. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงิน

อันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.

เรื่องพระอุปนันทศากยบุตรจบ.

สิกขาบทวิภังค์

[๑๐๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ

อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด

เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม, นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด.

บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นผู้ขอ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถ

ว่าประพฤติภิกขาจริยวัตร. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว. ชื่อว่า ภิกษุ

โดยสมญา. ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่าเป็นเอหิภิกษุ. ชื่อว่า ภิกษุ

เพราะว่าอรรถว่าเป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ.

ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่ามีสารธรรม. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ, ชื่อว่า

ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ. ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียง

กันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ. บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุที่สงฆ์

พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ, นี้ชื่อว่า ภิกษุ

ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้.

ที่ชื่อว่า ทอง ตรัสหมายทองคำ.

ที่ชื่อว่า เงิน ได้แก่กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้ มาสกที่ทำด้วย-

*ครั่ง ซึ่งใช้เป็นมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้.

บทว่า รับ คือรับเอง เป็นนิสสัคคีย์.

บทว่า ให้รับ คือให้คนอื่นรับแทน เป็นนิสสัคคีย์.

บทว่า หรือยินดีทองเงินอันเขาเก็บไว้ให้ ความว่า หรือยินดี ทอง เงินที่เขาเก็บ

ไว้ให้ด้วยบอกว่า ของนี้จงเป็นของพระคุณเจ้า ดังนี้เป็นต้น, เป็นนิสสัคคีย์ ทองเงินที่เป็นนิสสัคคีย์

ต้องเสียสละในท่ามกลางสงฆ์.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลภิกษุพึงเสียสละรูปิยะนั้น อย่างนี้:-

วิธีเสียสละรูปิยะ

ภิกษุรูปนั้นพึงเข้าไปหาสงฆ์ ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า กราบเท้าภิกษุผู้แก่พรรษากว่า

นั่งกระหย่ง ประนมมือ กล่าวอย่างนี้ว่า

ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ารับรูปิยะไว้แล้ว. ของนี้ของข้าพเจ้า เป็นของจำจะสละ, ข้าพเจ้า

สละรูปิยะนี้แก่สงฆ์.

ครั้นสละแล้วพึงแสดงอาบัติ ภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงรับอาบัติ, ถ้าคนผู้ทำการวัด

หรืออุบาสก เดินมาในสถานที่เสียสละนั้น พึงบอกเขาว่า ท่านจงรู้ของสิ่งนี้, ถ้าเขาถามว่า

จะให้ผมนำของสิ่งนี้ไปหาอะไรมา อย่าบอกว่า จงนำของสิ่งนี้หรือของสิ่งนี้มา. ควรบอกแต่ของ

ที่เป็นกัปปิยะ เช่น เนยใส น้ำมัน น้ำผึ้ง หรือน้ำอ้อย, ถ้าเขานำรูปิยะนั้นไปแลกของที่เป็นกัปปิยะ

มาถวาย เว้นภิกษุผู้รับรูปิยะ, ภิกษุนอกนั้นฉันได้ทุกรูป, ถ้าได้อย่างนี้ นั่นเป็นการดี; ถ้าไม่ได้,

พึงบอกเขาว่า โปรดช่วยทิ้งของนี้, ถ้าเขาทิ้งให้ นั่นเป็นการดี; ถ้าเขาไม่ทิ้งให้, พึงสมมติภิกษุ

ผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ.

องค์ ๕ ของภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ

องค์ ๕ นั้น คือ ๑ ไม่ถึงความลำเอียงเพราะความชอบพอ, ๒ ไม่ถึงความลำเอียงเพราะ

เกลียดชัง, ๓ ไม่ถึงความลำเอียงเพราะงมงาย ๔ ไม่ถึงความลำเอียงเพราะกลัว; และ ๕ รู้จักว่าทำ

อย่างไรเป็นอันทิ้งหรือไม่เป็นอันทิ้ง.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลสงฆ์พึงสมมติภิกษุนั้น อย่างนี้:-

วิธีสมมติภิกษุผู้ทิ้งรูปิยะ

พึงขอภิกษุให้รับตกลงก่อน, ครั้นแล้วภิกษุผู้ฉลาด ผู้สามารถ พึงประกาศ ให้สงฆ์ทราบ

ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ว่าดังนี้:-

คำสมมติ

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. ถ้าความพร้อมพรั่งของสงฆ์ถึงที่แล้ว, สงฆ์พึงสมมติ

ภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ นี่เป็นญัตติ.

ท่านเจ้าข้า ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า. สงฆ์สมมติภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ, การสมมติ

ภิกษุมีชื่อนี้ให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะ, ชอบแก่ท่านผู้ใด; ท่านผู้นั้นพึงเป็นผู้นิ่ง. ไม่ชอบแก่ท่านผู้ใด

ท่านผู้นั้นพึงพูด.

ภิกษุมีชื่อนี้ สงฆ์สมมติให้เป็นผู้ทิ้งรูปิยะแล้ว ชอบแก่สงฆ์. เหตุนั้นจึงนิ่ง, ข้าพเจ้า

ทรงความนี้ไว้ด้วยอย่างนี้.

ภิกษุผู้รับสมมติแล้วนั้น พึงทิ้งอย่าหมายที่ตก, ถ้าทิ้งหมายที่ตก, ต้องอาบัติทุกกฏ.

บทภาชนีย์

ติกะนิสสัคคิยปาจิตตีย์

[๑๐๗] รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ รับรูปิยะ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

รูปิยะ ภิกษุสงสัย รับรูปิยะ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่ามิใช่รูปิยะ รับรูปิยะ, เป็นนิสสัคคีย์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์.

ทุกกฏ

ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าเป็นรูปิยะ. ต้องอาบัติทุกกฏ.

ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุสงสัย ... ต้องอาบัติทุกกฏ.

ไม่ต้องอาบัติ

ไม่ใช่รูปิยะ ภิกษุสำคัญว่าไม่ใช่รูปิยะ ... ไม่ต้องอาบัติ.

อนาปัตติวาร

[๑๐๘] ทองเงินตกอยู่ภายในวัดก็ดี ภายในที่อยู่ก็ดี, ภิกษุหยิบยกเองก็ดี ใช้ให้หยิบ-

*ยกก็ดี, แล้วเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่า เป็นของผู้ใด, ผู้นั้นจักนำไปดังนี้ ๑, ภิกษุวิกลจริต ๑, ภิกษุ

อาทิกัมมิกะ ๑, ไม่ต้องอาบัติแล.

โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ จบ.



Cr.tnews


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์