เล่ากันว่าในนาทีสุดท้ายของชีวิตหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านเอ่ยกับหมอที่ดูแลท่านเพียงวลีเดียวว่า "ปล่อยนะ"แล้วก็ละสังขาร ปล่อยชีวิตดับไปตามธรรมชาติ เหมือนเปลวเทียนที่ลมเย็นพัดวูบหายไปกายดับ แต่ใจดับมานานก่อนหน้านั้น จากโลกไปสบายๆ ราวกับขนนกเบา แต่หนักแน่นดั่งขุนเขา
คนที่สามารถเอ่ยคำว่า "ปล่อยนะ" ก่อนตายย่อมจะเข้าใจความหมายของชีวิตอย่างดียิ่งจนไม่คิดจะยึดอะไรไว้
เพราะว่าชีวิตไม่มีอะไร
‘ปล่อยนะ' หรือ ‘ปล่อยแล้วนะ' ก็คือการละวาง ปลดปล่อยชีวิตห้วงสุดท้ายไปสู่ความว่างเปล่า
มาจากความว่าง จากไปกับความว่าง
เมื่อว่างเปล่า ก็ไม่เหลือเชื้อไฟให้มายา
เกิดมาไม่มีอะไร แต่ตายไปโดยเข้าใจทุกอย่าง
หลักธรรมสำคัญที่สุดในทางพุทธสำหรับคนเดินดินเราๆ อาจจะสรุปเป็นวลีเดียวว่า ‘ไม่ยึดมั่นถือมั่น'
วลีนี้กินความทุกอย่าง เป็นเรื่องทั้งหมดของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากไหน รวยหรือจน
เป็นวลีที่ใช้ได้ชั่วชีวิต ไม่ต้องรอตอนกำลังจะสิ้นลมหายใจ
มนุษย์ทุกคนเป็นส่วนประกอบของเซลล์ประมาณ 37,200,000,000,000 เซลล์ ก่อนหน้าที่เราแต่ละคนเกิดนั้นไม่มีอะไร เมื่อมันมาชุมนุมกัน เราจึงยึดมั่นถือมั่นเป็นครั้งแรกว่ามันคือ ‘เรา'
ครั้นถึงเวลาอันสมควรบนโลก เซลล์ก็เลิกชุมนุม กลับคืนสู่สภาพไม่มีอะไรตามเดิม
ดังนั้นจะบอกว่า ‘มีอะไร' และ ‘ไม่มีอะไร' ก็ไม่ได้ทั้งคู่ มันคือความว่างเปล่าแต่แรก ชีวิตเราเป็นเพียงมายาฉากหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างนอกเหนือจากนี้ก็คือสิ่งที่เราปรุงแต่งและยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวกูและของกู
คนที่เข้าใจโลกดีย่อมสามารถ "ปล่อยนะ" เร็วกว่าคนอื่น
เรียกว่ามีชีวิตในโลกแต่อยู่เหนือโลก
‘ตาย' ก่อนตาย
ตายจากการครอบครองของกิเลส ตายจากสภาวะตัวกู-ของกู
ตายในที่นี้ไม่ใช่การดับลมหายใจ แต่คือการอยู่เหนือสภาวะความเป็นมนุษย์และตัวตนใดๆ เป็นอิสระโดยสมบูรณ์
คนที่มีเงินมากๆ จมชีวิตในกองสมบัติของตน ก็เท่ากับมีชีวิตแห่งพันธนาการ ยามละสังขารก็ยังไม่สามารถละวางเรื่องทางโลกซึ่งเป็นมายาได้
แต่หากสามารถปลดปล่อยพันธนาการของสมบัติ อยู่เหนือสมบัติ ก็เท่ากับได้ละพ้นโลกตั้งแต่ยังมีลมหายใจปกติ
คนประเภทนี้ถือว่ามีวาสนาอย่างแท้จริง
เข้าใจแล้วนะ
ปล่อยนะ
......................