ธรรมดาของแต่ละระดับชั้น แต่ละระดับกำลังใจนั้น ปล่อยวางได้ไม่เท่ากัน
ธรรมดาของพระโสดาบัน ปล่อยวางได้มากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ธรรมดาของพระสกิทาคามีก็ปล่อยวางได้มากยิ่งกว่าพระโสดาบัน ธรรมดาของพระอนาคามี รัก โลภ โกรธ ไม่เอากับใครแล้ว ธรรมดาของพระอรหันต์ ปล่อยได้อย่างแท้จริง ไม่เหลืออะไรให้ยึดถือมั่นหมายแล้ว
ดังนั้น..ถ้าเราคว้าคำว่าธรรมดาติด ค้นพบ จิตใจยอมรับว่าเราเกิดมามีร่างกาย ธรรมดาจะต้องเป็นเช่นนี้ ธรรมดาต้องพบกับเรื่องกระทบใจอย่างนี้ ธรรมดาต้องพบกับความทุกข์ยากอย่างนี้ ธรรมดาจะต้องเจอคนที่เราไม่ชอบใจอย่างนี้ ธรรมดาที่ต้องพลัดพรากจากของที่รักคนที่รักแบบนี้ ถ้าหากว่าสภาพสติ สมาธิ และปัญญาของเราทรงตัวเพียงพอ การปล่อยวางว่าเป็นธรรมดาก็จะบังเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าหากว่ามีสติกับสมาธิ โดยปัญญายังไม่ยอมรับ ก็จะปล่อยวางธรรมดาได้ในลักษณะเดียวกับผู้ทรงฌานเท่านั้น
หลายท่านเมื่อสมาธิทรงตัวดีมาก เริ่มปล่อยวางได้ทั้ง ๆ ที่เป็นการปล่อยวางในลักษณะของผู้ทรงฌาน ก็เผลอไปคิดว่าตนเองเป็นพระอริยเจ้าเสียแล้ว เพราะว่ารัก โลภ โกรธ หลง ไม่มีเลย เนื่องจากว่าโดนอำนาจแห่งฌานสมาบัติกดดับสนิทไปชั่วคราว ตรงจุดนี้ทุกท่านต้องระวังให้จงหนัก การปฏิบัติอย่าเชื่อง่าย ๆ ว่าเราดีแล้ว ต้องทบทวนแล้วทบทวนอีก
แม้ว่าทบทวนแล้ว ถ้าเป็นบุคคลที่ปัญญาถึงจริง ๆ ก็จะปฏิบัติตามกฎกติกาที่ตนเองยึดถือต่อไป โดยไม่ได้ไปหมายมั่นปั้นมือว่าเราเป็นพระโสดาบันแล้ว เราเป็นพระสกิทาคามีแล้ว เราเป็นพระอนาคามีแล้ว เราเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะว่าถ้าหากว่าเราไปมั่นใจตนเองลักษณะนั้น ก็คือตกอยู่ในความประมาทนั่นเอง
ฉะนั้น..เราจะเห็นได้ว่า คำว่า "ธรรมดา" ก็ดี หรือ "ความไม่ประมาท" ก็ดี จะว่าไปแล้วก็เป็นข้อธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบ และนำมาสั่งสอนพวกเรา เป็นข้อธรรมที่ครอบคลุมกว้างขวางมาก สามารถใช้เป็นหลักปฏิบัติได้ตั้งแต่ต้นยันปลายเลยทีเดียว
ถ้าหากว่าเรายังไม่สามารถที่จะเห็นธรรมดาได้ ก็แปลว่าสติ สมาธิ ปัญญาของเรายังไม่เพียงพอ ต้องมีการสั่งสมเพิ่มเติมขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง เราก็ต้องเพียรพยายามอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญาของเราให้เข้มข้นมากกว่านี้
ต้องทบทวนอยู่ทุกวันว่าศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือสิกขาบทของเราสมบูรณ์บริบูรณ์ดีหรือไม่ ? เราล่วงละเมิดศีลด้วยตนเองหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ละเมิดศีลแล้ว เรายุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นละเมิดศีลหรือไม่ ? ถ้าเราไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมผู้อื่นให้ละเมิดศีล ถ้าเราเห็นผู้อื่นละเมิดศีลแล้ว เราพลอยยินดีด้วยหรือไม่ ?
ส่วนในเรื่องของสมาธินั้น อย่างน้อยที่สุดท่านทั้งหลายต้องทรงฌานได้ในระดับปฐมฌานละเอียดขึ้นไป เนื่องจากว่าปฐมฌานหยาบนั้นกำลังไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้ เพราะสภาพจิตที่หยาบทำให้ขาดสติได้ง่าย ไม่อาจจะอาศัยเป็นกำลังที่ใช้ในการตัดกิเลสได้อย่างแท้จริง จะต้องทรงอย่างน้อยปฐมฌานละเอียดขึ้นไป
ท่านทั้งหลายที่ยังไม่เห็นธรรมดานั้น แสดงว่ากำลังสมาธิยังขาดความคล่องตัว ยังขาดความหนักแน่นแห่งจิต จึงต้องมาเร่งรัดในเรื่องของสมาธิ คือการตามดูลมหายใจเข้าออกของเราให้ทรงตัวมากยิ่งขึ้น
ส่วนในเรื่องของปัญญานั้น แม้ว่าแรก ๆ กำลังสมาธิไม่เพียงพอ แต่ถ้าเราซักซ้อมและคิดพิจารณาไว้บ่อย ๆ ว่าการเกิดมาจะต้องพบ จะต้องเจอเรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความปรารถนาไม่สมหวัง ความกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น
ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราต้องพบเจอ ไม่สามารถที่จะเลี่ยงได้ ก็ต้องพยายามเห็นให้ได้ว่า ปกติธรรมดาของมันเป็นเช่นนั้น ในเมื่อการเกิดมามีสภาพร่างกายเช่นนี้ มีความปกติธรรมดาเช่นนี้ ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นกรรมเก่าที่เราได้กระทำมา ในเมื่อเราทำ ธรรมดาของการกระทำก็ย่อมมีผลตอบแทน ความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับเราในชาตินี้ก็ถือว่าเป็นธรรมดา เราทำเราก็ต้องรับ แต่ขึ้นชื่อว่าการเกิดมามีความทุกข์เช่นนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ถ้าหากว่าตายไปชาตินี้เมื่อไร เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว
ถ้าทุกท่านตามดู ตามรู้ ตามคิดจดจ่ออยู่เฉพาะหน้าอย่างนี้ จนกระทั่งสรุปลงได้ว่า ร่างกายนี้หาความดีไม่ได้ เราไม่ยินดี ไม่พึงปรารถนาในร่างกายนี้ ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ถ้าท่านทำอย่างนี้ได้ก็แปลว่า ศีลก็คือการสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ล่วงละเมิดศีลทั้ง ๕ ข้อหรือ ๘ ข้อ ทรงตัวเป็นของเรา
สมาธิก็คือกำลังความตั้งมั่นของใจ ถ้าหากว่าเราตามดู ตามรู้ลมหายใจเข้าออกอย่างจดจ่อต่อเนื่อง เราก็จะสามารถทรงสมาธิได้ไม่ยาก ในเรื่องของปัญญา ถ้าหากว่าเรารู้เห็นว่าสภาพร่างกายมีแต่ความทุกข์เช่นนี้เราไม่ต้องการอีก ตายเมื่อไรเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ก็แปลว่าท่านมีปัญญาเป็นสัมมาทิฏฐิ คิดนึกตรึกหาหนทางที่จะพ้นจากความทุกข์ได้อย่างถูกต้องแล้ว
ก็แปลว่าท่านทั้งหลายทรงในศีล สมาธิ ปัญญา อย่างครบถ้วน ก็ให้ซักซ้อมการเข้าออกสมาธิให้มีความคล่องตัว สามารถเข้าสมาธิได้ทุกอิริยาบถ สามารถที่จะทรงฌานได้ทุกเวลาที่ปรารถนาได้ ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายทำอย่างนี้ได้ การจะเห็นธรรมดาก็ดี การจะปฏิบัติธรรมโดยไม่ประมาทก็ดี ก็เป็นเรื่องที่ไม่เกินวิสัยที่ท่านทั้งหลายจะทำได้ รักษากำลังใจของตนให้อยู่สุข อยู่เย็น แม้ว่าจะไม่ตลอดกาลสมัย ก็ขอให้ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่นี้ มีความสุข เบากาย เบาใจอยู่บ้าง
ลำดับถัดจากนี้ไป ขอให้ท่านทั้งหลายตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกของตนเอง พร้อมกับคำภาวนา ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ มีคำภาวนาอยู่ ก็กำหนดรู้ลมหายใจพร้อมกับคำภาวนาไปด้วย ถ้าหากว่าไม่มีลมหายใจ ไม่มีคำภาวนา เราก็กำหนดรู้ว่าสภาพของร่างกายเราตอนนี้เป็นเช่นนี้ ไม่ต้องดิ้นรนหายใจใหม่ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องอยากให้พ้นไปจากสภาพนั้น
ขอให้ทุกท่านรักษาอารมณ์ใจทรงตัวให้อยู่เฉพาะหน้า กับการภาวนาหรือพิจารณาของตน จนกว่าจะได้รับสัญญาณบอกว่าหมดเวลา
พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านวิริยบารมี
วันศุกร์ที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔
ที่มา วัดท่าขนุน