เมื่อลูกเกลียดพ่อแม่ บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ


เมื่อลูกเกลียดพ่อแม่ บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

เมื่อลูกเกลียดพ่อแม่ บทความจาก พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
บทความเรื่อง "เมื่อลูกเกลียดพ่อแม่" เขียนโดย พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ

สังคมไทยได้รับการหล่อหลอมจากพุทธศาสนาให้ถือว่ามารดาบิดาเป็นผู้มีพระคุณสูงยิ่ง ไม่เพียงแต่ท่านจะเป็นผู้ให้กำเนิดเท่านั้น ยังทุ่มเทความรักและเสียสละความสุขส่วนตัวประคบประหงมเลี้ยงดูลูกให้เติบโต ส่งเรียนโดยไม่เสียดายทรัพย์สินเงินทอง

แม้บางครอบครัวยากจนขัดสนก็อุตส่าห์กู้หนี้ยืมสินส่งเสียให้ลูกเรียน ครั้นลูกเติบใหญ่เลี้ยงตัวเองได้ ความรักความผูกพันของพ่อแม่ที่มีต่อลูกก็มิได้เสื่อมคลาย ยังเฝ้าติดตามด้วยความรักความห่วงใย สายใยของความผูกพันดังกล่าวเชื่อมโยงไปถึงหลานด้วย ความสุขของพ่อแม่ส่วนหนึ่งมาจากความดีและความสำเร็จของลูก ในทางตรงข้าม ความทุกข์ของพ่อแม่ที่หนักหนาก็มาจากความประพฤติไม่ดี รวมถึงความล้มเหลวของลูก

พ่อแม่บางคนอาจจะไม่ได้อยู่ใกล้ชิด ไม่มีโอกาสเลี้ยงดูลูกหรืออาจจะหย่าร้างกัน ทำให้ลูกมีปมด้อย ขาดความอบอุ่น หรืออาจจะให้ท่าทีในการเลี้ยงลูกที่เข้มงวดกวดขัน ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงทำให้ลูกบางคนมีความรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักตน พ่อแม่ลำเอียงไม่ยุติธรรม หรือพ่อแม่ทอดทิ้งตน ความรู้สึกในมุมมองของลูกจะมีต่อพ่อแม่อย่างไรก็ตามแต่ พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกได้ดี มีความสุข และมีความสำเร็จในชีวิตเสมอ

ข่าวดีของลูกจึงชื่นชูจิตใจพ่อแม่ให้ยินดีมีความสุข ข่าวร้ายของลูกทำให้พ่อแม่หม่นหมองมีความทุกข์ พระพุทธองค์ทรงเปรียบพ่อแม่เป็นพระในบ้าน มีสถานะเสมือนพระอรหันต์ของลูก การเลี้ยงดูตอบแทนคุณท่านนั้นมีอานิสงส์เท่ากับการทำบุญกับพระอรหันต์ ตรงข้ามกับการทำร้ายทำลายท่าน จะได้รับวิบากกรรมเท่ากับการทำร้ายพระอรหันต์

เมื่อยี่สิบกว่าปีเศษที่ผ่านมา มีนักธุรกิจใหญ่มีชื่อเสียงในสังคมท่านหนึ่ง ประสบความสำเร็จในธุรกิจด้วยความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางอย่าง เป็นที่ยกย่องกันในสังคมยุคนั้น แม้จะประสบความสำเร็จ ทำให้มีชื่อเสียงและทรัพย์สินเงินทองมากมาย แต่นักธุรกิจผู้นี้กลับมีเงื่อนปมในใจเกี่ยวกับบิดาของตน

เมื่อเยาว์วัยบิดาเดินทางไปเยี่ยมญาติที่ประเทศจีน ช่วงเวลานั้นจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้บิดาเดินทางกลับประเทศไทยไม่ได้ มารดาซึ่งมีฐานะยากจนต้องเลี้ยงดูลูกๆ ด้วยความทุกข์ยากลำบาก ความทุกข์ของมารดาด้านหนึ่งสร้างความรักความเทิดทูนให้นักธุรกิจผู้นั้น แต่อีกด้านหนึ่งก็สร้างความเคียดแค้นชิงชังต่อบิดา ซึ่งตนเห็นว่าขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัว ทิ้งให้แม่และตนต้องได้รับความลำบาก

ความทุกข์ยากให้การต่อสู้กับชีวิต ได้หล่อหลอมบุคคลผู้นี้ให้มีความแข็งแกร่ง อดทน พยายามก่อร่างสร้างตัวจนประสบความสำเร็จดังกล่าว ช่วงเวลาที่เขาประสบความสำเร็จ เป็นเวลาที่ประเทศจีนเปลี่ยนผู้นำ มีการผ่อนปรนให้คนในประเทศเดินทางออกนอกประเทศได้ บิดาของนักธุรกิจผู้นี้เดินทางกลับประเทศไทยพร้อมกับนำภรรยาคนใหม่ซึ่งเป็นชาวจีนและลูกกลับมาด้วย บิดาซึ่งจากเมืองไทยไปนานทราบข่าวความสำเร็จของลูก จึงไปเยี่ยมลูกพร้อมกับพาลูกชายชาวจีนไปด้วย

ทันทีที่พ่อลูกพบหน้ากัน ความแค้นเคืองที่เก็บกดอยู่ในใจมาช้านานก็ระเบิดออกมา นักธุรกิจผู้นั้นชี้หน้าด่าบิดาของตนด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นคนไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ที่นี่ไม่ต้องการต้อนรับคนเช่นนี้ มาทางไหนกลับไปทางนั้น ผู้เป็นพ่อไม่คิดว่าจะได้ยินและเห็นท่าทีเช่นนี้จากลูก จึงกลับไปด้วยน้ำตาตกใน

ไม่นานต่อมา ธุรกิจที่รุ่งเรืองกลับตกต่ำอย่างรวดเร็ว เมื่อลูกน้องเก่าออกไปเป็นคู่แข่ง นำเทคโนโลยีและรายชื่อลูกค้าสำคัญไปด้วย ทำการผลิตและประมูลตัดหน้าได้งานใหญ่ไปหลายครั้ง ประจวบกับเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา จนรัฐบาลสมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ต้องลดค่าเงินบาท เป็นผลให้บริษัทของเขาแทบจะล้มละลาย วิบากกรรมที่ชี้หน้าบิดาทำให้เขาเป็นโรคพาร์กินสัน มือสั่นอยู่ตลอดเวลา ปากที่เคยกล่าววาจาขับไล่บิดาก็เบี้ยวเสียรูปทรง จะพูดออกมาแต่ละคำเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ผู้เขียนได้ทำงานจัดอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ได้รับรู้เรื่องทำนองนี้ในห้องกรรมฐานมากมาย มีรายหนึ่งมีปัญหากับพ่อ เธอเกลียดพ่อมาก เพราะพ่อทิ้งแม่ไปมีภรรยาใหม่ นานๆ พ่อจะกลับมาเยี่ยมบ้านสักครั้ง ทุกครั้งที่มาแม่ก็ใจอ่อนทำดีกับพ่อ ทำให้เธอพลอยเกลียดแม่ไปด้วย หาว่าแม่เป็นคนใจง่าย เจ็บแล้วไม่จำ เธอว่าแม่ด้วยถ้อยคำรุนแรงจนแม่ร้องไห้บ่อยๆ กับพ่อนั้นเธอไม่ยกมือไหว้ ไม่พูดด้วย มองหน้าด้วยสายตาดูหมิ่นดูแคลน พ่อรู้สึกอึดอัดกับพฤติกรรมของเธอ ทำให้ไม่อยากมา ส่วนแม่ก็รู้สึกไม่สบายใจทั้งๆ ที่อยากให้พ่อมาบ่อยๆ

ผู้เขียนแนะนำว่า การกระทำของเธอเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เธอต้องเข้าใจว่าปัญหาของพ่อกับแม่เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน เป็นวิบากกรรม (กรรมเก่า) ที่ท่านทำกันไว้ ชาตินี้จึงเป็นอย่างนี้ พฤติกรรมส่วนตัวของท่านจะเป็นเช่นไร เป็นสิ่งที่ท่านจะต้องได้รับผลจากการกระทำของท่านเอง เราเป็นลูก มีหน้าที่ที่จะต้องให้ความเคารพนับถือท่าน ไม่ควรแสดงท่าทีก้าวร้าวต่อพ่อ และไม่ควรจะไปตำหนิแม่ให้ท่านช้ำใจ ถึงอย่างไรท่านก็ยังรักพ่อ ตัดพ่อไม่ขาด หากเธอเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่จากการแสดงท่าทีต่อต้านเมื่อพ่อมาทำตัวเคารพอ่อนโยนต่อพ่อ ต้อนรับพ่อด้วยดี ทำตัวเป็นสายใยเชื่อมโยงความรักของพ่อกับแม่ พ่อก็อยากจะมาหาแม่บ่อยๆ แม่จะได้มีความสุขมากขึ้น

ผู้เขียนแนะนำอีกว่า เมื่อกลับไปบ้านให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปกราบขอขมาแม่ สัญญากับท่านว่าต่อไปจะไม่ทำอย่างนั้นอีก กับพ่อก็เช่นกัน เมื่อท่านมาก็กราบท่าน สารภาพผิดที่ได้ทำไม่ดีต่อท่าน ขอให้ท่านยกโทษให้ หลายเดือนต่อมา ผู้เขียนเดินทางไปอบรมกรรมฐานในจังหวัดที่เธอทำงานอยู่ เธอพาแม่มาพบและบอกว่า สิ่งที่ผู้เขียนแนะนำไปนั้นเธอได้ปฏิบัติตาม ทุกวันนี้เธอกับแม่มีความสัมพันธ์กันดีมาก แม่เห็นเธอเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการเข้าอบรมปฏิบัติธรรม ทำให้แม่มีความสนใจธรรมะ เมื่อเธอรู้ว่าผู้เขียนมาจึงพาแม่มาฟังธรรม ความสัมพันธ์กับพ่อก็ดีขึ้น รู้สึกใกล้ชิดกันมากกว่าแต่ก่อน พ่อกลับมาหาแม่บ่อยๆ ช่วยให้ครอบครัวของเธอมีความสุขมากขึ้น

ครอบครัวเป็นรากแก้วของสังคม ความรักความอบอุ่นของครอบครัวจะช่วยเสริมสร้างขวัญและกำลังใจให้สมาชิกในครอบครัว พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก เป็นต้นแบบที่จะหล่อหลอมความคิด จิตใจ และพฤติกรรมให้ลูก หากพ่อแม่ประพฤติตนอยู่ในคุณงามความดี ลูกก็จะได้แบบอย่างที่ดีเป็นต้นทุนให้แก่ชีวิตของเขา หากพ่อแม่ทำตนไม่ดี ก็จะสร้างเงื่อนปมผูกไว้ในจิตใจของลูก อันมีผลเสียต่อการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของลูกมากมาย

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ก็ยังเป็นปุถุชนคนหนึ่ง มีทั้งด้านดีและด้านเสีย จะดีร้ายอย่างไรท่านก็มีพระคุณต่อลูกมากมาย การตอบแทนพระคุณท่านจึงเป็นหน้าที่ของลูกทุกคน และเป็นมาตรวัดคุณธรรมของความเป็นมนุษย์อีกด้วย


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
ดูดวง เลขบัตรประชาชน คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์