ปัญหาแย่ๆ แก้ได้ด้วย “ทางสายกลาง”
คำว่า ทางสายกลาง เป็นคำที่เราคุ้นหูกันเป็นอย่างดี และมักจะเข้าใจว่า ทางสายกลางก็คือการประพฤติปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ไม่มากไปไม่น้อยไป ความหมายของทางสายกลางเป็นเช่นนั้นจริงหรือ
ทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงต่อปัญจวัคคีย์ในปฐมเทศนา ทรงหมายถึงว่า วิถีทางดำเนินชีวิตของคนเพื่อให้ถึงความพ้นทุกข์ ซึ่งคือมรรคผลนิพพานนั้น หากคนทั่วไปยังลุ่มหลงเสพสุขในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือ กามสุขัลลิกานุโยค (สุดโต่งไปทางขวา) ดังที่ปุถุชนปฏิบัติกันอยู่ ย่อมไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์
ส่วนนักบวชที่มุ่งบำเพ็ญเพียรทรมานกายของตนให้ได้รับความลำบากเดือดร้อนอย่างสาหัส หรือ อัตตกิลมถานุโยค(สุดโต่งไปทางซ้าย) เพราะคิดว่าวิธีนี้จะเอากิเลสออกให้หมดจากจิต ก็ไม่ใช่ทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์เช่นกัน มีทางอีกสายหนึ่งที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือทางสายกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทา อันประกอบด้วย มรรคมีองค์ 8 ทางสายนี้แหละเป็นทางสายเดียวที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ หรือสู่มรรคผลนิพพาน ได้
เพราะฉะนั้น ทางสายกลางในความหมายที่พระพุทธองค์ทรงแสดงต่อปัญจวัคคีย์ก็คือ มรรคมีองค์ 8 นั่นเองมรรคมีองค์ 8 ประกอบด้วยองค์ธรรมต่างๆ 8 องค์ ดังนี้
1. ความเห็นชอบ (สัมมาทิฐิ) ได้แก่ เห็นตามหลักอริยสัจ 4 ว่าการเกิดเป็นทุกข์ เห็นชอบตามกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นชอบว่ากรรมและผลของกรรมมีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง เห็นชอบว่าการทำทานจะได้อานิสงส์ของผลบุญ และเห็นชอบว่ามารดาบิดามีพระคุณต่อบุตร ซึ่งบุตรจะต้องตอบแทนพระคุณท่าน
2. ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) เมื่อมีความเห็นชอบว่าการเกิดเป็นทุกข์จึงไม่อยากเกิดอีก ดำริชอบจึงตามมา นั่นคือดำริออกจากกาม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่คิดพยาบาทผู้อื่น ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ความเห็นชอบและดำริชอบจัดเป็นหมวด ปัญญา เป็นหัวขบวนที่จะนำพามรรคองค์อื่นๆ ให้ตามไป
3. การเจรจาชอบ (สัมมาวาจา) ได้แก่ การไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ และไม่พูดเพ้อเจ้อ
4. การกระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม
5. การเลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ) ได้แก่ การประกอบอาชีพสุจริต ไม่ประกอบมิจฉาอาชีพ
มรรคองค์ที่ 3 - 5 จัดเป็นหมวด ศีล การจะรักษามรรคทั้งสามองค์นี้ได้ก็ต้องมีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม กลัวว่าถ้าผิดศีลจะมีวิบากกรรมตามสนอง
6. ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ) ได้แก่ ความเพียรพยายามที่จะป้องกันอกุศลหรือสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายอย่าให้เกิดขึ้นกับเรา เพียรแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีต่างๆ ของเราให้หมดไป เพียรเสาะหาสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ต่อชีวิตมาประพฤติปฏิบัติ เพียรรักษาความดีที่เรามีอยู่อย่าให้เสื่อมถอยและพัฒนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป
7. ความระลึกชอบ (สัมมาสติ) ได้แก่ การมีสติรู้เท่าทันในสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับกาย เวทนา จิต และธรรม ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนตกอยู่ใต้กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรที่จะไปยึดมั่นสำคัญผิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา จึงควรวางใจเป็นอุเบกขาต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สัมมาสติ หรือ สติปัฏฐาน 4 เป็นองค์ธรรมที่ใช้ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
8. มีใจที่ตั้งมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) ได้แก่ การเจริญสมาธิให้ใจตั้งมั่นอยู่ในความสงบตั้งแต่ฌาน 1 - 4
มรรคองค์ที่ 6 - 8 จัดเป็นหมวด สมาธิ การปฏิบัติตามมรรคทั้งแปดองค์จะช่วยขัดเกลากิเลส ตัณหา และอุปาทานในจิตของผู้ปฏิบัติให้เบาบางลงจนหมดไปได้ในที่สุด เมื่อนั้นก็จะถึงความพ้นทุกข์ คือบรรลุถึงมรรคผลนิพพาน
นี่คือความหมายที่แท้จริงของทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา
จะเห็นว่าทางสายกลางตามความหมายของมรรคมีองค์ 8 นั้น เป็น โลกุตตรธรรม คือธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง ในฐานะที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ จะนำทางสายกลางมาประยุกต์ใช้ได้หรือไม่ และอย่างไร
ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจจุดหมายของทางสายกลางหรือมรรคมีองค์ 8 เสียก่อนว่า เป็นวิถีทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ หาก ทุกข์ก็คือปัญหา หรือ ปัญหาก็คือทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นไม่ว่าจะในทางโลกหรือทางธรรม เราก็สามารถที่จะนำหลักการของทางสายกลางไปแก้ไขได้ปัญหาของบุคคล ครอบครัว องค์กร สังคม ประเทศชาติ ประชาคมโลก หรือแม้แต่ของโลก มีมากมายนับอเนกอนันต์ ลองหยิบยกปัญหาใกล้ตัวมาพิจารณาและหาทางแก้ไขโดยใช้ทางสายกลาง
หากเป็นปัญหาเรื่องการครองชีพของบุคคล เช่น มีรายได้น้อยต้องกู้หนี้ยืมสิน อันเป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของชีวิต การมีรายได้น้อยเท่ากับมีลักษณะสุดโต่งไปทางฝั่งซ้าย เพราะฉะนั้นต้องเพิ่มรายได้ของตนให้ขยับเข้ามาสู่ระดับที่เป็นกลางเสียก่อน ยังไม่ต้องเอาถึงระดับมั่งมีเป็นเศรษฐี เพราะมากเกินกำลังที่จะทำได้
เดี๋ยวจะไปเพิ่มทุกข์ให้เกิดขึ้น เมื่อเพิ่มรายได้ขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ก็ต้องลดรายจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต เช่น บุหรี่ เหล้า หวยเบอร์ ทีวี สิ่งบันเทิง จัดอยู่ในลักษณะสุดโต่งไปทางฝั่งขวา สำหรับคนที่มีรายได้น้อย เพราะฉะนั้นต้องปรับมาสู่ระดับที่เป็นกลาง จะเห็นว่าเมื่อเราปรับระดับรายได้ให้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันกับลดรายจ่ายให้น้อยลง ก็จะเข้าสู่ระดับความสมดุลหรือความเป็น “กลาง” ในการดำเนินชีวิต
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็สามารถแก้ปัญหาหรือแก้ทุกข์ในเรื่องนั้นๆ ได้เครดิตแหล่งข้อมูล : goodlifeupdate.com