คำว่าโง่ ไม่ใช่ของดี


คำว่าโง่ ไม่ใช่ของดี

'หลวงปู่มั่น'เทศน์ปลุกใจพระเณร 'อย่าฟังเพื่อความโง่ อยู่ด้วยความโง่ กินดื่ม ทำพูดด้วยความโง่'

      ท่านพระอาจารย์มั่น (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) ท่านฝึกอบรมพระเณรเพื่อเห็นผลประจักษ์ในการบำเพ็ญ ท่านมีอุบายปลุกปลอบด้วยวิธีต่าง ๆ ดังกล่าวมา ผู้ตั้งใจปฏิบัติตามท่านด้วยความเคารพเทิดทูนจริง ๆ ย่อมได้รับคุณธรรมเป็นการถ่ายทอดข้อวัตรวิธีดำเนินจากท่านมาอย่างพอใจ
ตลอดความรู้ความฉลาดภายในใจเป็นที่น่าเลื่อมใส และนำมาสั่งสอนลูกศิษย์สืบทอดกันมาพอเห็นเป็นสักขีพยานว่า ศาสนายังทรงมรรคทรงผลประจักษ์ใจของผู้ปฏิบัติตลอดมาไม่ขาดสูญ ถ้าพูดตามความเป็นมาและการอบรมสั่งสอนของท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ควรเรียกได้อย่างถนัดใจว่า "ปฏิปทาอดอยาก" คือที่อยู่ก็อดอยาก ที่อาศัยก็ฝืดเคือง ปัจจัยเครื่องอาศัย โดยมากดำเนินไปแบบขาด ๆ เขิน ๆ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ ความเป็นอยู่หลับนอนที่ล้วนอยู่ในสภาพอนิจจังนั้น

ถ้าผู้เคยอยู่ด้วยความสนุกรื่นเริงและสมบูรณ์ไปเจอเข้า อาจเกิดความสลดสังเวชใจในความเป็นอยู่ของท่านเหล่านั้นอย่างยากจะปลงตกได้ เพราะไม่มีอะไรจะเป็นที่เจริญตาเจริญใจสำหรับโลกผู้ไม่เคยต่อสภาพเช่นนั้น จึงเป็นที่น่าทุเรศเอานักหนา แต่ท่านเองแม้จะเป็นอยู่ในลักษณะของนักโทษในเรือนจำ แต่ก็เป็นความสมัครใจและอยู่ได้ด้วยธรรม เป็นอยู่หลับนอนด้วยธรรม ลำบากลำบนทนทุกข์ด้วยธรรม ทรมานตนเพื่อธรรม อะไร ๆ ในสายตาที่เห็นว่าเป็นการทรมานของผู้ไม่เคยพบเคยเห็น จึงเป็นเรื่องความสะดวกกายสบายใจสำหรับท่านผู้มีปฏิปทาในทางนั้น ดังนั้น จึงควรให้นามว่า "ปฏิปทาอดอยาก" เพราะอยู่ด้วยความตั้งใจทรมานอดอยาก ฝืนกายฝืนใจจริง ๆ คือ อยู่ก็ฝืน ไปก็ฝืน นั่งก็ฝืน ยืนก็ฝืน นอนก็ฝืน เดินจงกรมก็ฝืน นั่งสมาธิก็ฝืน ในอิริยาบถทั้งสี่เป็นท่าฝืนกายฝืนใจทั้งนั้น ไม่ยอมให้อยู่ตามอัธยาศัยใจชอบเลย

บางครั้งยังต้องทนอดทนหิว ไม่ฉันจังหันไปหลายวัน เพื่อเร่งความเพียรทางใจ ขณะที่ไม่ฉันนั้นเป็นเวลาทำความเพียรตลอดสาย ไม่มีการลดหย่อนผ่อนตัวว่าหิวโหย แม้จะทุกข์ก็ทราบว่าทุกข์ในเวลานั้น แต่ก็ทราบว่าตนทนอดทนหิวเพื่อความเพียร เพราะผู้ปฏิบัติบางรายจริตนิสัยชอบทางอดอาหาร ถ้าฉันไปทุกวันร่างกายสมบูรณ์ความเพียรทางใจไม่ก้าวหน้า ใจอับเฉา ไม่สว่างไสว ไม่องอาจกล้าหาญ ก็จำต้องหาทางแก้ไข โดยมีการผ่อนและอดอาหารบ้าง อดระยะสั้นบ้าง ระยะยาวบ้าง พร้อมกับความสังเกตตัวเองว่า อย่างไหนมีผลมากน้อยต่างกันอย่างไรบ้าง เมื่อทราบนิสัยของตนว่าถูกกับวิธีใดก็เร่งรีบในวิธีนั้น รายที่ถูกจริตกับการอดหลายวันก็จำต้องยอมรับตามนิสัยของตน และพยายามทำตามแบบนั้นเรื่อยไป แม้จะลำบากบ้างก็ยอมทนเอา เพราะอยากดี อยากรู้ อยากฉลาด อยากหลุดพ้นจากทุกข์

ผู้ที่จริตนิสัยถูกกับการอดในระยะยาวย่อมทราบได้ในขณะที่กำลังทำการอดอยู่คืออดไปหลายวันเท่าไร ใจยิ่งเด่นดวงและอาจหาญต่ออารมณ์ที่เคยเป็นข้าศึก ใจมีความคล่องแคล่วแกล้วกล้าต่อหน้าที่ของตนมากขึ้น นั่งสมาธิภาวนาลืมมืดลืมสว่าง เพราะความเพลินกับธรรม ขณะใจสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมย่อมไม่สนใจต่อความหิวโหยและกาลเวลา มีแต่ความรื่นเริงในธรรมทั้งหลายอันเป็นสมบัติที่ควรได้ควรถึงในเวลานั้น จึงรีบตักตวงให้ทันกับเวลาที่กิเลสความเกียจคร้านอ่อนแอ ความไม่อดทน เป็นต้น กำลังนอนหลับอยู่ พอจะสามารถแอบปีนขึ้นบนหลังหรือบนคอมันบ้างก็ให้ได้ขึ้นในเวลานั้น ๆ หากรั้ง ๆ รอ ๆ หาฤกษ์งามยามดีพรุ่งนี้มะรืนอยู่ เวลามันตื่นขึ้นมาแล้วจะลำบาก ดีไม่ดีอาจสู้มันไม่ได้และกลายเป็นช้างให้มันโดดขึ้นบนคอ แล้วเอาขอสับลงบนศีรษะคือหัวใจ แล้วต้องยอมแพ้มันอย่างราบ

เพราะใจเราเคยเป็นช้างให้กิเลสเป็นนายควาญบังคับมานานแสนนานแล้ว ความรู้สึกกลัวที่เคยฝังใจมานานนั้นแลพาให้ขยาด ๆ ไม่กล้าต่อสู้กับมันอย่างเต็มฝีมือได้ ทางด้านธรรมท่านว่ากิเลสกับธรรมเป็นคู่อริกัน แต่ทางโลกเห็นว่ากิเลสกับใจเป็นคู่มิตรในลักษณะบ๋อยกลางเรือนอย่างแยกกันไม่ออก ฉะนั้น ผู้มีความเห็นไปตามธรรมจึงต้องพยายามต่อสู้กับสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นข้าศึก เพื่อเอาตัวรอดและครองตัวอย่างอิสระ ไม่ต้องขึ้นกับกิเลสเป็นผู้คอยกระซิบสั่งการ แต่ผู้เห็นตามกิเลสก็ต้องคอยพะเน้าพะนอเอาอกเอาใจ ที่มันแนะนำหรือสั่งการออกมาอย่างไรต้องยอมปฏิบัติตามทุกอย่างไม่ขัดขืนมันได้

ส่วนผลที่ได้รับจากมันนั้น เจ้าตัวก็ทราบว่ามีความกระเทือนต่อจิตใจเพียงใด แม้ผู้อื่นก็ย่อมทราบได้จากการระบายออกของผู้เป็นเจ้าทุกข์ เพราะความกระทบกระเทือนทางจิตใจที่ถูกกิเลสกลั่นแกล้งและทรมานโดยวิธีต่าง ๆ ไม่มีประมาณ โทษทั้งนี้แลทำให้ผู้มีความรักตัวสงวนใจต้องมีมานะต่อสู้ด้วยความเพียรทุกด้านอย่างไม่อาลัยเสียดายชีวิต ถึงจะอดก็ยอมอด ทุกข์ก็ยอมทุกข์ แม้ตายก็ยอมพลีชีพเพื่อยอมบูชาพระศาสนาไปเลย ไม่มีการแบ่งรับแบ่งสู้ไว้เพื่อกิเลสได้หวังมีส่วนด้วย จะได้ใจ

ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเทศน์ปลุกใจพระเณร ให้มีความอาจหาญร่าเริงต่อความเพียรเพื่อยกตนให้พ้นทุกข์เครื่องกดถ่วงจิตใจ ก็เพราะท่านได้พิจารณาทดสอบเรื่องของกิเลสกับธรรมมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจนเห็นผลประจักษ์ใจแล้ว จึงได้กลับมาภาคอีสานและทำการสั่งสอนอย่างเต็มภูมิแห่งธรรมที่ท่านรู้เห็นมาเป็นคราว ๆ ในสมัยนั้น


  ธรรมที่ท่านสั่งสอนอย่างอาจหาญและออกหน้าออกตาแก่บรรดาศิษย์อยู่เสมอ ได้แก่ พลธรรม ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา โดยให้เหตุผลว่า ผู้ไม่เหินห่างจากธรรมเหล่านี้ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่ขาดทุนและล่มจม เป็นผู้มีหวังความเจริญก้าวหน้าไปโดยลำดับ ธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ ท่านแยกความหมายมาใช้สำหรับท่านเองเป็นข้อ ๆ ซึ่งโดยมากเป็นไปในทางปลุกใจให้อาจหาญ มีใจความว่า ศรัทธา เชื่อศาสนธรรมที่พระองค์ประทานไว้เพื่อโลก เราผู้หนึ่งในจำนวนของคนในโลก ซึ่งอยู่ในข่ายที่ควรได้รับแสงสว่างแห่งธรรมจากข้อปฏิบัติที่ทำจริงแน่นอนไม่เป็นอื่น และเชื่อว่าเกิดแล้วต้องตาย แต่จะช้าหรือเร็วไม่สำคัญ ที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่าเราจะตายแบบผู้แพ้กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ หรือจะเป็นผู้ชนะวัฏวนสามนี้ก่อนจะตาย คำว่าแพ้ไม่เป็นสิ่งพึงปรารถนา แม้แต่เด็กเล่นกีฬากันต่างฝ่ายเขายังหวังชนะกัน เราจึงควรสะดุดใจ และไม่ควรทำตัวให้เป็นผู้แพ้ ถ้าเป็นผู้แพ้ก็ต้องทนอยู่อย่างผู้แพ้

      ทุก ๆ อาการของผู้แพ้ต้องเป็นการกระเทือนใจอย่างมาก และระทมทุกข์จนหาทางออกไม่ได้ ขณะที่จิตจะคิดหาทางออกของผู้แพ้มีอยู่ทางเดียวคือ "ตายเสียดีกว่า" ซึ่งตายไปแบบที่ว่าดีกว่านี้ ก็ต้องเป็นการตายของผู้แพ้ต่อข้าศึกอยู่นั่นเอง อันเป็นทางกอบโกยโรยทุกข์ใส่ตัวเองจนไม่มีที่ปลงวาง จึงไม่มีอะไรดีเลยสำหรับผู้แพ้ทุกประตูแล้ว ถ้าจะตายแบบผู้ชนะดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกท่าน ก็ต้องเชื่อแบบท่าน ทำแบบท่าน เพียรและอดทนแบบท่าน มีสติรักษาใจ รักษาตัว รักษากิริยาที่แสดงออกทุกอาการแบบท่าน ทำใจให้มั่นคงต่อหน้าที่ของตน อย่าโยกเยกคลอนแคลนแบบคนจวนตัวไม่มีสติเป็นหลักยึด แต่จงทำใจให้มั่นคงต่อเหตุที่ทำเพื่อผลอันพึงพอใจจะได้มีทางเกิดขึ้นได้ อันเป็นแบบที่ท่านพาดำเนิน

ศาสนาคือคำสั่งสอนของท่านผู้ฉลาด ท่านสอนคนเพื่อให้เกิดความฉลาดทุกแง่ทุกมุม ซึ่งพอจะพิจารณาตามท่านได้ แต่เราอย่าฟังเพื่อความโง่ อยู่ด้วยความโง่ กินดื่มทำพูดด้วยความโง่ คำว่าโง่ไม่ใช่ของดี คนโง่ก็ไม่ดี สัตว์โง่ก็ไม่ดี เด็กโง่ ผู้ใหญ่โง่ มิใช่ของดีทั้งนั้น เราโง่จะให้ใครเขาชมว่าดี จึงไม่ควรทำความสนิทติดจมอยู่กับความโง่โดยไม่ใช้ความพิจารณาไตร่ตรอง

     ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง จึงไม่ควรแก่สมณะซึ่งเป็นเพศที่ใคร่ครวญไตร่ตรอง นี่คือความหมายในธรรม ๕ ข้อที่ท่านคิดค้นขึ้นมาพร่ำสอนท่านเองและหมู่คณะที่ไปอบรมศึกษากับท่าน รู้สึกว่าเป็นคติได้ดีมาก เพราะเป็นอุบายปลุกใจให้เกิดสติปัญญาและอาจหาญ ทั้งเหมาะสมกับสภาพการณ์และสถานที่ของพระธุดงค์ ผู้เตรียมพร้อมแล้วในการรบพุ่งชิงชัยระหว่างกิเลสกับธรรมเพื่อความชนะเลิศ คือวิมุตติพระนิพพาน อันเป็นหลักเขตแดนมหาชัยที่ปรารถนามานาน

     พระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านเล่าให้ฟังว่า เวลาอยู่กับท่าน แม้จะมีพระเณรจำนวนมากด้วยกัน แต่มองดูอากัปกิริยาของแต่ละองค์ เหมือนพระเณรที่สิ้นกิเลสกันแล้วทั้งนั้น ไม่มีอาการแสดงความคึกคะนองใด ๆ แม้แต่น้อยให้ปรากฏบ้างเลย ต่างองค์ต่างสงบเสงี่ยมเจียมตัว ทั้งที่อยู่โดยลำพังตนเอง ทั้งเวลามารวมกันด้วยกิจธุระบางอย่าง และเวลารวมประชุมฟังการอบรม ต่างมีมรรยาทสวยงามมาก ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเกี่ยวกับภูมิจิต เวลาท่านสนทนากันกับท่านอาจารย์บ้างก็อาจให้เกิดความสงสัยหรือเชื่อแน่ว่าแต่ละองค์คงสำเร็จพระอรหัตกันแน่ ๆ แต่พอเดาได้จากการแก้ปัญหาธรรมขณะที่ท่านสนทนากัน ว่าองค์ไหนควรอยู่ในภูมิธรรมขั้นใด นับแต่สมาธิและปัญญาขั้นต้นขึ้นไปถึงสมาธิและวิปัสสนาขั้นสูง

การแก้ปัญหาในเวลามีผู้ไปศึกษาก็ดี การแสดงธรรมอบรมพระเณรในเวลาประชุมก็ดี ท่านแสดงด้วยความแน่ใจและอาจหาญ พอให้ผู้ฟังทราบได้ว่าธรรมที่แสดงออกเป็นธรรมที่ท่านรู้เห็นทางจิตใจจริง ๆ ไม่แสดงด้วยความลูบคลำหรือสุ่มเดา ว่าเห็นจะเป็นอย่างนั้น เห็นจะเป็นอย่างนี้ จึงเป็นที่แน่ใจได้ว่า เป็นธรรมที่ส่อแสดงอยู่กับใจของทุกคนแม้ยังไม่รู้ไม่เห็น และคงมีวันหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถรู้ได้จำเพาะตนหากไม่ลดละความเพียรไปเสีย

.....................................คัดลอกจากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ตอนที่ ๑ โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน แห่งวัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี ต่อจากตอน "แผ่เมตตาใหญ่วันละ ๓ ครั้ง" ใน http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-12-03.htm

คำว่าโง่ ไม่ใช่ของดี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
เช็คเบอร์มือถือ คลิ๊กเลย ++
กระทู้เด็ดน่าแชร์