รู้จักท่านั่งกระโหย่ง ไหว้พระแบบสมัยโบราณค่อยๆ หายไปจากสังคมไทย
หลังมีภาพของ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่า กทม. คนใหม่ กลับกลายเป็นประเด็นดราม่าในคนบางกลุ่มกลับมองว่าไม่เหมาะสม ไม่สมควรบ้าง
ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก โบราณนานมา ได้ให้ข้อมูลว่าเป็น 'ท่านั่งกระโหย่ง' ไหว้พระแบบสมัยโบราณ
จริง ๆ แล้วท่านั่งนี้ มีมาตั้งแต่สมัยโบราณย้อนไปไกลถึงสมัยพุทธกาลเลย ในภาษาไทยเรียกการนั่งแบบนี้ว่า "นั่งกระโหย่ง" ในประเทศไทยสมัยก่อนใช้ "นั่งกระโหย่ง" มานานแล้วเป็นเรื่องปกติและสุภาพ แต่เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น "ท่าเทพบุตร" และ "ท่าเทพธิดา" ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึง ๕ นี่เอง
ท่านั่งสำหรับทำวินัยกรรมของพระภิกษุสงฆ์ในกรณีที่ใช้กราบเรียนและแสดงความเคารพอย่างสูงเรียกขานในภาษาบาลีว่า "อุกฺกุฏิก" (ukkuṭika) และนิยมแปลไทยว่า "นั่งกระโหย่ง" เป็นรูปแบบมาตรฐานในการขอพระอุปัชฌาย์ การขอบรรพชา อุปสมบท และปลงอาบัติ ปรากฏสำนวนในพระวินัยปิฎกหลายแห่งว่า "ปาเท วนฺทิตฺวา อุกฺกุฏิกํ นิสีทิตฺวา อญฺชลิ ปคฺคเหตฺวา ...." = กราบแทบเท้าแล้วนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี
ในอุษาคเนย์ ทางพม่าและกัมพูชา เป็นที่เข้าใจกันว่า อุกฺกุฏิก = ท่านั่งยอง (squatting) โดยฝ่าเท้าราบเต็มบนพื้น สนเท้าชิดก้น เข่าค้ำหน้าอก หลังโก่งงอ แต่ในประเทศไทยปัจจุบันไม่นิยมใช้ท่านี้ หากใช้เป็นท่านั่งคุกเข่าทับสนเท้า หลักฐานชั้นเก่าแก่ในประเทศไทยเช่นภาพจิตรกรรมและประติมากรรมอายุหลายศตวรรษก่อนปรากฏว่าท่านั่งยองในวินัยกรรม และบางพื้นที่ก็ยังมีการใช้ท่านี้อยู่ เรียกได้ว่าเป็นท่าที่ใช้แพร่หลายในประเทศพุทธศาสนาสายเถรวาทแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน
การนั่งยองๆ เป็นท่านั่งที่อยู่คู่มนุษยชาติมาอย่างยาวนาน ต่อมาโลกตะวันตกได้เปลี่ยนจากนั่งยอง เป็นนั่งราบ จนไม่สามารถนั่งยองเต็มเท้าได้อีก ส่วนโลกตะวันออกยังคงมีการนั่งยองๆ กันอยู่เป็นปกติ
เมืองไทยแต่ก่อนก็นั่งยอง ๆ ไหว้พระ เพิ่งมาเปลี่ยนเป็น "ท่าเทพบุตร" และ "ท่าเทพธิดา" ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึง ๕ นี่เอง
ป.ล. ไม่ได้บอกว่า คุณชัชชาติ นั่ง "นั่งกระโหย่ง" ตามแบบโบราณแต่อย่างใด แต่ที่จะสื่อคือ การ "นั่งกระโหย่ง" หรือยอง ๆ แบบนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องผิดแปลกอะไร เป็นเรื่องปกติในสังคมโบราณ และปัจจุบันยังปรากฏในพม่าและศรีลังกาด้วย